บาลีวันละคำ

มโนทัศน์ (บาลีวันละคำ 1,906)

มโนทัศน์

อย่าตัดเหลือแค่ มโน..

อ่านว่า มะ-โน-ทัด

แยกศัพท์เป็น มโน + ทัศน์

(๑) “มโน

รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มน” (มะ-นะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) มน (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย

: มน + = มน แปลตามศัพท์ว่า “ตัวรู้

(2) มา (ธาตุ =นับ, กะ, ประมาณ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, ลบสระที่สุดธาตุ

: มา > + ยุ > อน : + อน = มน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่กำหนดนับอารมณ์

มโน” (< มน) หมายถึง ใจ, ความคิด (mind, thought)

มน” แจกรูปด้วยวิภัตติที่หนึ่ง เอกพจน์ เป็น “มโน” และตามกฎบาลีไวยากรณ์กำหนดว่า เมื่อเป็นส่วนหน้าของคำสมาส ให้คงรูปเป็น มโน– เช่น มน + รม แทนที่จะเป็น มนรม ก็เป็น มโนรม

(๒) “ทัศน์

บาลีเป็น “ทสฺสน” (ทัด-สะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ทิสฺ เป็น ทสฺส, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ทิสฺ > ทสฺส + ยุ > อน = ทสฺสน แปลตามศัพท์ว่า “การเห็น” หมายถึง –

(1) การเห็น, การมองดู, การสังเกต, สิ่งที่ปรากฏ, รูปร่าง (seeing, looking; noticing; sight of, appearance, look)

(2) การเล็งเห็น, เครื่องรู้เห็น, การเห็นแจ้ง, ความเห็น, ทฤษฎี (perception, faculty of apperception, insight, view, theory)

ทสฺสน” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ทัศน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า

ทัศน-, ทัศน์, ทัศนะ, ทัศนา : (คำนาม) ความเห็น, การเห็น, เครื่องรู้เห็น, สิ่งที่เห็น, การแสดง, ทรรศนะ ก็ใช้. (ป. ทสฺสน; ส. ทรฺศน).”

มน + ทสฺสน = มนทสฺสน > มโนทสฺสน > มโนทัศน์ แปลตามศัพท์ว่า “การเห็นด้วยใจ” หรือ “การเห็นในใจ

ขยายความ :

ข้อมูลจาก คลังความรู้ ของราชบัณฑิตยสภา อธิบายความหมายของ “มโนทัศน์” ไว้ สรุปได้ดังนี้ –

มโนทัศน์” เป็นศัพท์บัญญัติจากคำว่า concept

พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ-ไทย อธิบายว่า หมายถึงภาพที่เกิดในใจซึ่งเป็นตัวแทนของสิ่งหลายสิ่งต่างกัน แต่มีลักษณะบางอย่างคล้ายกัน เช่น แมว เป็นมโนทัศน์ทั่วไปสำหรับแมวทั้งหมด ถึงแม้แมวแต่ละตัวอาจจะไม่เหมือนกัน หรือ ดำ เป็นมโนทัศน์ของสีดำหรือความดำทั่วไป ไม่ว่าจะปรากฏเป็นคุณลักษณะของสิ่งใดในโอกาสใด

พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา อังกฤษ-ไทย อธิบายว่า ในทางสังคมวิทยา มโนทัศน์เป็นคำที่นักสังคมวิทยาใช้วิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคม เพื่อจำแนกประเภทของสิ่งที่สังเกตได้และใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์เหล่านั้น

พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ อธิบายว่า มโนทัศน์ คือความคิดรวบยอด หมายถึง ภาพหรือความคิดในสมองที่เป็นตัวแทนของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ประกอบด้วยคุณสมบัติร่วมที่สำคัญของสิ่งนั้น ซึ่งขาดไม่ได้ หากขาดไปจะทำให้ไม่ใช่สิ่งนั้น เช่น ดอกไม้ทุกชนิดมีลักษณะร่วม คือ มีกลีบดอก เกสร และก้านดอก บุคคลอาจมีมโนทัศน์ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งแตกต่างกันก็ได้ เช่น บางคนมีมโนทัศน์ว่า นกเป็นสัตว์ปีกบินได้ บางคนมีมโนทัศน์ว่า นกมีอิสรเสรีที่จะบินไปได้ไกล บางคนมีมโนทัศน์ว่า นกเป็นสัตว์เลือดอุ่น

…………..

คำว่า concept นอกจากจะบัญญัติศัพท์ว่า “มโนทัศน์” แล้ว ยังบัญญัติว่า “มโนภาพ” อีกคำหนึ่ง และมีที่บัญญัติเป็นคำไทยว่า “แนวคิด” และ “แนวความคิด” อีกด้วย

เฉพาะคำว่า “มโนภาพ” มักมีผู้นำไปใช้ในความหมายว่า วาดภาพในใจเอาเอง คือคิดเอาเอง หรือสร้างจินตนาการเอาเองโดยไม่รู้ไม่เข้าใจหรือไม่ยอมรับข้อเท็จจริง

เมื่อพูดเป็นคำคะนอง (ภาษาปาก) ตัด “-ภาพ” ออก เหลือแต่ “มโน-” (ทำนองเดียวกับ “สนใจ” พูดเพียง “สน”) เช่น “เขาเป็นพวกมโน” หมายความว่า เขาเป็นคนที่ชอบคิดเอาเองโดยไม่รู้ไม่ฟังข้อเท็จจริง

ถ้าพูดกันแค่ “มโน..” ไม่ว่าจะตัดมาจาก “มโนภาพ” หรือ “มโนทัศน์” ความหมายของคำดีๆ ก็ย่อมเพี้ยนไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

จินฺเต  สพฺพํ ว  ภาเสยฺยํ

มา  ภาเส  สพฺพจินฺติตํ.

: จงคิดทุกเรื่องที่พูด

: แต่อย่าพูดทุกเรื่องที่คิด

28-8-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย