บาลีวันละคำ

สมาทิยามิ (บาลีวันละคำ 1,912)

สมาทิยามิ

ไม่ใช่ สมาธิ-ยามิ

อ่านว่า สะ-มา-ทิ-ยา-มิ

สมาทิยามิ” รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน, อย่างดี ) + อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + ทา (ธาตุ = ให้) + ปัจจัย + มิ วิภัตติอาขยาต, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น (สํ > สม), แปลง อา ที่สุดธาตุ เป็น อิ (ทา > ทิ), ทีฆะ อะ ที่ ปัจจัยเป็น อา

: สํ > สม + อา = สมา + ทา = สมาทา > สมาทิ + = สมาทิย + มิ = สมาทิยมิ > สมาทิยามิ แปลตามศัพท์ว่า “ข้าพเจ้าขอถือเอาพร้อม” “ข้าพเจ้าขอรับไว้เป็นอย่างดี” หมายถึง สมาทาน, รับเอาไป, รับกระทำ (to take with oneself, to take upon oneself, to undertake)

คำว่า “สมาทิยามิ” มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า “สมาทาน” (taking upon oneself, undertaking, acquiring) ต่างกันเพียงในทางหลักภาษา “สมาทิยามิ” เป็นคำกริยา “สมาทาน” เป็นคำนาม

ความรู้ทางไวยากรณ์ :

อา” คำอุปสรรค มีความหมายว่า ทั่ว, ยิ่ง และ กลับความ คือทำให้ความหมายของธาตุกลับตรงข้าม เช่น คม = ไป อาคม = มา

ในที่นี้ อา ใช้ในความหมาย “กลับความ” : ทา = ให้ อาทา = เอา, รับเอา

สมาทิยามิ” เป็นคำกริยาประเภท “กิริยาอาขยาต”

มิ” วิภัตติที่อยู่ท้ายคำบ่งว่าเป็น “อุตตมบุรุษ” ไวยากรณ์ไทยเรียกว่า “บุรุษที่ ๑” คือ “คําบอกผู้พูด” ในภาษาบาลีประธานต้องเป็น “อมฺห” (ข้าพเจ้า)

มิ” วิภัตติเป็นเอกพจน์ อมฺห จึงต้องเปลี่ยนรูปเป็น “อหํ” = ข้าพเจ้า (คนเดียว) ถ้าเป็นพหูพจน์ “สมาทิยามิ” ต้องเป็น “สมาทิยาม” และ อมฺห เปลี่ยนรูปเป็น “มยํ” = ข้าพเจ้าทั้งหลาย

นี่คือที่เราจำกันง่ายๆว่า “คนเดียว มิ หลายคน มะ

…………..

อภิปราย :

สมาทิยามิ” แปลเป็นความไทยว่า “ข้าพเจ้าขอสมาทาน” เป็นคำที่ชาวพุทธคุ้นเคยกันดีเนื่องจากมีอยู่ในคำสมาทานศีลทุกข้อ เช่น ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบทคือการงดเว้นจากการยังชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป)

คำว่า“สมาทิยามิ” นี้ปรากฏว่ามักมีผู้สะกดเป็น “สมาธิยามิ” (-ธิ– ใช้ ธง แทน ทหาร) ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะคุ้นกับคำว่า “สมาธิ” ซึ่งเป็นธรรมะข้อหนึ่งที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่นในหลักไตรสิกขาของบรรพชิต คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

เมื่อได้ยินคำ สะ-มา-ทิ-ยา-มิ จึงเข้าใจเอาเองว่า สะ-มา-ทิ- คำนั้นก็คือ “สมาธิ” นี่เอง แล้วจึงเขียนเป็น “สมาธิยามิ

นักอธิบายผิดให้เป็นถูกคงอยากอธิบายว่า เขียนเป็น “สมาธิยามิ” ก็น่าจะไม่ผิด เพราะการที่เราจะรักษาศีลหรือทำความดีชนิดใดๆ ก็ตาม จิตใจก็ต้องมีสมาธิมั่นคงจึงจะทำได้สำเร็จ ผู้เขียนคำนี้เป็น “สมาธิยามิ” อาจมีเจตนาจะให้มีความหมายเช่นนี้ก็ได้ จึงน่าจะใช้ได้เช่นกัน

ผู้ไม่เข้าใจหลักภาษาบาลีฟังแล้วก็คงอยากจะเห็นด้วย

แต่ไวยากรณ์บาลีไม่อนุญาตให้เราปรองดองกับคำอธิบายเฉไฉแบบนี้

หน้าที่ของเราจึงอยู่ที่-ศึกษาหลักภาษาให้เข้าใจความหมาย ไม่ใช่อธิบายความหมายไปตามความเข้าใจเอาเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความดีไม่ต้องขอใคร

: ขอเพียงตั้งใจแล้วลงมือทำ

#บาลีวันละคำ (1,912)

3-9-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย