บาลีวันละคำ

ทิคัมพร (บาลีวันละคำ 1,913)

ทิคัมพร

ผู้นุ่งลมห่มฟ้า

อ่านว่า ทิ-คำ-พอน

ถ้าแยกศัพท์ตามที่ตาเห็น ก็จะเป็น ทิค + อัมพร

(๑) “ทิค

อ่านตามรูปศัพท์ว่า ทิ-คะ ท่านว่าคำนี้แปลงมาจาก “ทิสา” (ทิ-สา)

ทิสา” รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ทิสฺ + = ทิส + อา = ทิสา แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ปรากฏโดยการโคจรของดวงจันทร์เป็นต้นว่าทางนี้อยู่ข้างหน้า ทางนี้อยู่ข้างหลัง

ทิสา” หมายถึง –

(1) ทิศ, ภาค, ที่ตั้ง, ทิศทาง (point of the compass, region, quarter, direction, bearings)

(2) ท้องฟ้า (the sky)

(๒) “อัมพร

บาลีเป็น “อมฺพร” (อำ-พะ-ระ) รากศัพท์มาจาก อมฺพฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อร ปัจจัย

: อมฺพ + อร = อมฺพร แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่ส่งเสียงแห่งเมฆ” หมายถึง ท้องฟ้า (2) “สิ่งอันผู้คนส่งเสียงทัก” (คือถามราคาหรือชมว่าสวยงาม) หมายถึง ผ้า, เครื่องนุ่งห่ม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อมฺพร” ว่า the sky (ท้องฟ้า); some sort of cloth and an (upper) garment made of it (ผ้าบางชนิด และผ้าสำหรับส่วนบนที่ทำจากผ้าชนิดนั้น)

อมฺพร” เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อมฺพร : (คำนาม) ฟ้า; อากาศ; เครื่องแต่งตัว; น้ำอบ; ฝ้าย; the sky; atmosphere; apparel; clothes; a perfume; cotton.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อัมพร : (คำนาม) ฟ้า, ท้องฟ้า, อากาศ; เครื่องนุ่งห่ม ในคำว่า ทิคัมพร = ผู้นุ่งลมห่มทิศ คือ ชีเปลือย, เศวตัมพร = ผู้นุ่งห่มผ้าขาว คือ ชีผ้าขาวหรือชีปะขาว. (ป., ส.).”

ทิสา + อมฺพร แปลง ที่ (ทิ)-สา เป็น และลบ อา (ทิสา > ทิคา > ทิค)

: ทิสา > ทิคา > ทิค + อมฺพร = ทิคมฺพร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีทิศคือท้องฟ้าเป็นเสื้อผ้า” “ผู้ไม่มีเสื้อผ้าปกติ” หมายถึง ผู้ไม่นุ่งผ้า ผู้นุ่งลมห่มฟ้า

ทิคมฺพร” เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ทิคมฺพร : (คำวิเศษณ์) ‘ทิคัมพร,’ ‘นัคน์, วิวัสตร์, นิรวัสตร์, อวัสตร์,’ เปลือย; อันมีอากาศหรือเมฆห่อหุ้มไว้, มีอากาศเปนพัสตร์; naked, unclothed; enveloped by the atmosphere or clouds, whose only garment is the atmosphere; – น. ชีเปลือย; อันธการ, แผลงใช้เปน – ‘อนธการ,’ ความมืด; นามพระศิวะ; นามพระทุรคา; any mendicant not wearing clothes; darkness; a name of Śiva; a name of Durgā.”

ทิคมฺพร” ในภาษาไทยใช้ว่า “ทิคัมพร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทิคัมพร : (คำนาม) ชื่อนิกายในศาสนาเชน นักบวชนิกายนี้ประพฤติตนเป็นคนเปลือยกาย, คู่กับ นิกายเศวตัมพรหรือเศวตามพร. [ป., ส. ทิคฺ (ทิศ, ฟ้า) + อมฺพร (เครื่องนุ่งห่ม) = ผู้มีฟ้าเป็นเครื่องนุ่งห่ม หมายความว่า ไม่นุ่งผ้า].”

ดูเพิ่มเติม: “เศวตามพร” บาลีวันละคำ (1,552) 3-9-59

ในภาษาไทยยังมีคำที่ออกเสียงว่า ทิ-คำ-พอน อีกคำหนึ่ง สะกดเป็น “ทิฆัมพร” (-ฆัม- ระฆัง) แปลว่า ท้องฟ้า เป็นคนละคำกับ “ทิคัมพร

…………..

ขยายความ :

ศาสนาเชนเป็นศาสนาในประเทศอินเดีย เป็นหนึ่งในลัทธิสำคัญทั้งหก ที่เกิดร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า มีศาสดาคือพระมหาวีระหรือที่ในคัมภีร์พระไตรปิฎกเรียกว่า “นิครนถนาฏบุตร”

ศาสนาเชนเป็นศาสนาประเภทอเทวนิยมเช่นเดียวกับศาสนาพุทธ คือไม่นับถือพระเจ้าหรือเทพเจ้า ถือว่าการบำเพ็ญตนให้ลำบากคืออัตตกิลมถานุโยคเป็นทางนำไปสู่การบรรลุธรรม

เมื่อนิครนถนาฏบุตรดับขันธ์แล้ว สาวกกแตกเป็น 2 นิกาย คือ “ทิคัมพร” นิกายนุ่งลมห่มฟ้า หรือที่คำไทยเรียกว่า “ชีเปลือย” และ “เศวตัมพร” นิกายนุ่งขาวห่มขาว

มีคำถามว่า ถ้ามนุษย์จะบรรลุโมกขธรรมได้ด้วยการประพฤติเปลือยกายแล้วไซร้ โอกาสที่สตรีจะบรรลุธรรม จะมีได้ฤๅหาไม่?

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ากิเลสยังรกท่วมหัว

: ต่อให้เปลือยหมดทั้งตัว ก็ทำชั่วได้สบาย

—————

ภาพจาก google

#บาลีวันละคำ (1,913)

4-9-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย