พยศ (บาลีวันละคำ 1,914)
พยศ
มาจากไหน?
อ่านว่า พะ-ยด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พยศ : (คำกริยา) แสดงอาการดื้อหรือถือตัวไม่ยอมทําตาม.”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “พยศ” มาจากภาษาอะไร
ในบาลี มีคำที่รูปและเสียงใกล้กับ “พยศ” มากที่สุดคือคำว่า “พยสน”
“พฺยสน” (มีจุดใต้ พ) อ่านให้ได้เสียงตรงที่สุดคือ เพียะ-สะ-นะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อสฺ (ธาตุ = กิน; ขว้าง, ทิ้ง) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ วิ เป็น ย แล้วแปลง วฺ เป็น พฺ (วิ > วฺย > พฺย), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: วิ > วฺย > พฺย + อสฺ = พฺยส + ยุ > อน = พฺยสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะเป็นเหตุให้เสวยความผิดรูปคือความฉิบหาย” (2) “ภาวะที่ละทิ้งความประเสริฐ” (3) “ภาวะที่ทิ้งความสุขหรือความเจริญ”
“พฺยสน” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง โชคร้าย, ความทุกข์, ความพินาศ, ความฉิบหาย, ความสูญเสีย (misfortune, misery, ruin, destruction, loss)
“วฺยสน” (พฺยสน) เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วฺยสน : (คำนาม) วิบัท; กรรมน์, โทษ; อกุศล; calamity; fare; fault; sin.”
วฺยสน > พฺยสน เขียนแบบไทยเป็น “พยสน์” อ่านว่า พะ-ยด
ครั้นนานเข้า คนฟังไม่ได้เห็นรูปศัพท์ จับเอาแต่เสียงมาเขียน จึงสะกดผิดเป็น “พยส” แล้วก็กลายเป็น “พยศ” ในที่สุด
เมื่อเป็น “พยศ” ไปเสียแล้วก็หาทางกลับบ้านไม่เจอ จึงไม่รู้ว่ามาจากไหน ด้วยประการฉะนี้
(โปรดระลึกว่าวิธีการดังที่ว่ามานี้ก็คือที่เราเรียกกันว่า “ลากเข้าวัด” หรือ “จับบวช” นั่นแล้ว)
…………..
แถมพก :
ในพระไตรปิฎกท่านแสดง “พยสน์” ว่ามี 5 อย่าง คือ –
(1) ญาติพยสนะ = ความฉิบหายแห่งญาติ คือญาติพี่น้องประสบภัยพิบัติหรือล้มหายตายจาก กลายเป็นคนไร้ญาติขาดมิตรเหมือนอยู่ตัวคนเดียวในโลก
(2) โภคพยสนะ = ความฉิบหายแห่งโภค คือสูญเสียทรัพย์สินเงินทองจนหมดเนื้อหมดตัว
(3) โรคพยสนะ = ความฉิบหายเพราะโรค คือเจ็บไข้ได้ป่วยจนชีวิตหมดสุข
(4) สีลพยสนะ = ความฉิบหายแห่งศีล คือเป็นพระก็ทุศีล เป็นฆราวาสก็ไร้ศีลธรรม
(5) ทิฏฐิพยสนะ = ความฉิบหายแห่งทิฐิ คือการเป็นคนเห็นผิดเป็นชอบ, มีความคิดเห็นวิปริตผิดทำนองคลองธรรม
ที่มา: สังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 11 ข้อ 288
ท่านว่า ญาติพยสนะ โภคพยสนะ และโรคพยสนะ ถึงจะร้ายแรงปานไรก็ไม่ทำให้ตกนรก
แต่สีลพยสนะ และทิฏฐิพยสนะ มีแก่ผู้ใด ท่านว่าผู้นั้นบ่ายหน้าไปนรกโดยแท้แล
…………..
ดูก่อนภราดา!
วิถีพาล : สยบอยู่ใต้บงการของจิต
วิถีบัณฑิต : ทรมานจิตให้สิ้นพยศ
#บาลีวันละคำ (1,914)
5-9-60