บาลีวันละคำ

ผ้าจำนำพรรษา [2] (บาลีวันละคำ 1,929)

ผ้าจำนำพรรษา [2]

บุญทางเลือกที่ควรมีในสังคมไทย

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

ผ้าจำนำพรรษา : ผ้าที่ทายกถวายแก่พระสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาครบแล้วในวัดนั้น ภายในเขตจีวรกาล; เรียกเป็นคำศัพท์ว่า ผ้าวัสสาวาสิกา วัสสาวาสิกสาฎก หรือ วัสสาวาสิกสาฏิกา.”

คำหลักที่เป็นชื่อผ้าจำนำพรรษาในบาลีคือ วสฺส + อาวาสิก + สาฏก

(๑) “วสฺส” (วัด-สะ) รากศัพท์มาจาก วสฺสฺ (ธาตุ = ราด, รด) + ปัจจัย

: วสฺสฺ + = วสฺส แปลตามศัพท์ว่า (1) “น้ำที่หลั่งรดลงมา” (2) “ฤดูเป็นที่ตกแห่งฝน” (3) “กาลอันกำหนดด้วยฤดูฝน

วสฺส” (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ฝน, ห่าฝน (rain, shower)

(2) ปี (a year)

(3) ความเป็นลูกผู้ชาย, ความแข็งแรง (semen virile, virility)

ในที่นี้ “วสฺส” มีความหมายตามข้อ (1)

(๒) “อาวาสิก” (อา-วา-สิ-กะ) รูปคำเดิมมาจาก อาวาส + อิก ปัจจัย

อาวาส” (อา-วา-สะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + วสฺ (ธาตุ = อยู่) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” คือ อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา (วสฺ > วาส)

: อา + วสฺ = อาวสฺ + = อาวสณ > อาวส > อาวาส แปลตามศัพท์ว่า “การพักอยู่” หมายถึง การพักแรม, การพักอยู่, การอาศัยอยู่, การอยู่; ที่อยู่, ที่พำนัก, อาวาส (sojourn, stay, dwelling, living; dwelling-place, residence)

การประสมคำขั้นที่หนึ่ง

(1) วสฺส + อาวาส = วสฺสาวาส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การพักอยู่ตลอดฤดูฝน” เขียนแบบไทยเป็น “วัสสาวาส” (วัด-สา-วาด) หมายถึง การอยู่จำพรรษา (Vassa-residence)

(2) วสฺสาวาส + อิก = วสฺสาวาสิก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อยู่จำพรรษา” ในที่นี้หมายถึง ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาเสร็จแล้ว หรือพักอยู่ตลอดฤดูฝนแล้ว (One who has kept Lent or finished the residence of the rains)

(๓) “สาฏก” (สา-ตะ-กะ) รากศัพท์มาจาก สฏ (ธาตุ = เสียดแทง) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ -(ฏฺ) เป็น อา (สฏฺ > สาฏ)

: สฏฺ + ณฺวุ > อก = สฏก > สาฏก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เสียดแทงร่างกาย” หมายถึง ผ้า; ผ้าสาฎก, เสื้อผ้าชั้นนอก, ผ้าคลุม (cloth; an outer garment, cloak)

สาฏก” ตามวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวชมพูทวีปโบราณ หมายถึงเสื้อผ้าชั้นนอก หรือผ้าคลุม ใช้เมื่อเวลาออกนอกบ้าน ในที่นี้หมายถึงผ้าทั่วไป รวมทั้งผ้าที่ใช้ทำเป็นจีวรของภิกษุ

การประสมคำขั้นที่สอง

วสฺสาวาสิก + สาฏก = วสฺสาวาสิกสาฏก แปลว่า “ผ้าสำหรับภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบแล้ว” เขียนแบบไทยเป็น “วัสสาวาสิกสาฎก” อ่านว่า วัด-สา-วา-สิก-กะ-สา-ดก ( ปฏัก บาลีแผลงเป็น ชฎา) แปลเป็นไทยว่า “ผ้าจํานําพรรษา” (จำนำ > จำ > จำพรรษา)

โปรดสังเกตว่า “อยู่จำพรรษาครบแล้ว” คือหลังจากออกพรรษาแล้ว ไม่ใช่ก่อนเข้าพรรษา หรือระหว่างสามเดือนในพรรษา

เพราะฉะนั้น “ผ้าจํานําพรรษา” ก็คือผ้าที่ถวายหลังจากออกพรรษาแล้ว ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะให้พระท่านผลัดเปลี่ยนจีวรชุดเก่าที่ใช้มาตลอดพรรษาคือตลอดปีที่ผ่านมาแบบเดียวกับผ้ากฐินนั่นเอง ต่างกันตรงที่ –

กฐิน” ต้องถวายเป็นของสงฆ์ที่มีตัว “สงฆ์” คือภิกษุอย่างน้อย 5 รูปอยู่พร้อมกันแล้วในวัดนั้นๆ

ผ้าจํานําพรรษา” ถวายเป็นส่วนตัวแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ได้ ถวายแก่สงฆ์ก็ได้ “สงฆ์” ในกรณีนี้จำกัดเพียงภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป จะมีตัวสงฆ์อยู่ในเวลานั้นแล้วก็ได้ ไปนิมนต์มาจากที่อื่นให้ครบองค์สงฆ์ก็ได้

…………..

ข้อควรทราบเกี่ยวผ้าจำนำพรรษา :

(1) ผ้าจำนำพรรษา ถ้าทายกถวายเป็นส่วนตัวแก่ภิกษุ (เป็น “ปาฏิบุคลิกทาน”) ย่อมเป็นสิทธิ์ของภิกษุผู้รับที่จะใช้ผลัดเปลี่ยนจีวรได้ทันที มีผลเหมือนกับได้รับกฐินเป็นการส่วนตัว คือได้ผลัดเปลี่ยนจีวรสำเร็จเรียบร้อย

(2) ถ้าทายกระบุว่า “ถวายแก่สงฆ์” (คือเป็น “สังฆทาน”) ภิกษุผู้รับต้องนำผ้านั้นไปเข้าที่ประชุมสงฆ์ คือภิกษุอย่างน้อย 4 รูป (นับรวมทั้งภิกษุรูปที่เป็นผู้รับผ้าไว้) เพื่อขออนุมัติแบ่งผ้ากัน (ถ้ามีหลายผืน) หรือถ้ามีผืนเดียวก็อนุมัติให้แก่ภิกษุผู้รับผ้าไว้

การกระทำเช่นนี้มีผลเหมือนกับภิกษุผู้เข้าร่วมประชุมได้รับกฐินเช่นกัน

(3) แต่ถ้าในวัดนั้นมีภิกษุไม่ครบองค์สงฆ์  สามารถไปแสวงหาภิกษุให้ครบองค์สงฆ์ได้ หรือที่อาจพูดให้เข้าใจว่า “ไปนิมนต์พระจากวัดอื่นมาให้ครบองค์สงฆ์ได้” (กรณีนี้คืออย่างน้อย 4 รูป) เมื่อสงฆ์อนุมัติแล้ว ก็มีผลเหมือนภิกษุผู้รับผ้าไว้ได้รับกฐินแล้วเช่นกัน

(4) ผ้าจำนำพรรษาที่ถวายแก่สงฆ์เช่นที่กล่าวนี้บางท่านเข้าใจว่าเป็น “ผ้ากฐิน” อันเป็นที่มาแห่งความเข้าใจว่า ทอดกฐินถ้ามีพระไม่ครบก็สามารถไปนิมนต์จากที่อื่นมาให้ครบได้

(5) แต่โปรดสังเกตว่า “องค์สงฆ์” ที่อนุมัติผ้าจำนำพรรษามีเพียง 4 รูป รวมทั้งภิกษุรูปที่เป็นผู้รับผ้าไว้ด้วยก็ใช้ได้ ในขณะที่ผ้ากฐินต้องมีภิกษุอย่างน้อย 5 รูป คือเป็นองค์สงฆ์อย่างน้อย 4 รูป และไม่นับรวมภิกษุรูปที่เป็นองค์ครองกฐิน

(6) ผ้าจำนำพรรษา เป็นผ้าที่คนไทยแทบจะไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยินว่ามีใครถวาย ทั้งๆ ที่ถ้าถวายให้เป็นสังฆทานก็จะมีผลเท่ากับถวายผ้ากฐินนั่นเอง ทั้งสามารถแก้ปัญหาวัดที่มีพระไม่ถึง 5 รูปให้ได้รับอานิสงส์กฐินได้อย่างไม่มีปัญหาให้ต้องถกเถียงกัน

ดูเพิ่มเติม: “ผ้าจํานําพรรษา” บาลีวันละคำ (887) 22-10-57

ท่านผู้ใดปรารถนาจะสร้างบุญบารมี ขอเชิญชวนให้คิดอ่านชักชวนกันถวาย “ผ้าจํานําพรรษา” แก่ภิกษุสงฆ์ ให้เกิดเป็นประเพณีบุญอีกชนิดหนึ่งขึ้นในสังคมไทย ก็จะเป็นช่องทางให้เพื่อนมนุษย์ได้บำเพ็ญกุศลเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง ควบคู่ไปกับบุญกฐิน ทั้งจะเป็นการประคับประคองบุญกฐินไม่ให้วิปริตผิดพระพุทธานุญาตได้อีกสถานหนึ่งด้วย

…………..

ดูก่อนภราดา!

ท่านอยากรวยชาติเดียวหรือรวยชั่วกัปกัลป์?

: รวยชาติเดียวได้เป็นนายทุน เพราะใช้บุญแสวงทรัพย์

: รวยตลอดแสนกัป เพราะใช้ทรัพย์แสวงบุญ

#บาลีวันละคำ (1,929)

20-9-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย