บาลีวันละคำ

มัทรี (บาลีวันละคำ 2,081)

มัทรี

กัณฑ์ที่ 9 ในมหาเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์

อ่านว่า มัด-ซี

มัทรี” บาลีเป็น “มทฺที” (มัด-ที) คำเดิมมาจาก มทฺท + อี ปัจจัย

(ก) “มทฺท” (มัด-ทะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) มทฺ (ธาตุ = มัวเมา; สนุกสนาน; บ้า, คลั่ง) + ปัจจัย, ซ้อน ระหว่างธาตุกับปัจจัย (มทฺ + + )

: มทฺ + + = มทฺท แปลตามศัพท์ว่า (1) “แคว้นที่ชาวเมืองมัวเมา” (2) “แคว้นที่ชาวเมืองเริงรมย์อยู่ด้วยกามคุณห้า” (3) “แคว้นเป็นที่ชาวเมืองคลั่งไคล้

(2) (แทนศัพท์ว่า “สิว” = ความเกษม, ความเจริญ) + ทา (ธาตุ = ให้) + ปัจจัย, ซ้อน ระหว่างบทหน้ากับธาตุ ( + ทฺ + ทา), “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ทา (ทา > )

: + ทฺ + ทา = มทฺทา > มทฺท + = มทฺท แปลตามศัพท์ว่า “แคว้นเป็นที่ให้ความเจริญ

มทฺท” เป็นชื่อแคว้นโบราณในชมพูทวีป

บาลี “มทฺท” สันสกฤตเป็น “มทฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

มทฺร : (คำนาม) ความยินดี; ชื่อนที; delight; the name of a river.”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความคำว่า “มทฺท” ไว้ว่า N. of a country & its inhabitants (ชื่อของประเทศและคน)

คำว่า “มทฺท” ถ้าเป็นศัพท์ทั่วไป มีความหมายว่า บดขยี้, ทำลาย (crushing, destroying)

(ข) มทฺท + อี ปัจจัย

: มทฺท + อี = มทฺที แปลตามศัพท์ว่า “กุมารีแห่งแคว้นมัททะ

มทฺที” อาจแปลให้ได้ความหมายตามลักษณะของหญิงงามว่า “สตรีผู้บดขยี้หัวใจบุรุษเพศ” หมายถึงสตรีผู้มีความงามจนบรรดาบุรุษลุ่มหลงยอมมอบหัวใจให้

ในที่นี้ “มทฺที” หมายถึงราชธิดาพระองค์หนึ่งของกษัตริย์แคว้นมัททะ เป็นมเหสีของพระเวสสันดร ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “มัทรี” ออกเสียงว่า มัด-ซี (หลักเดียวกับ อินทรีย์ = อิน-ซี)

ขยายความ :

มัทรี” เป็นชื่อกัณฑ์ที่ 9 ของมหาเวสสันดรชาดก

ในคัมภีร์ชาดก (พระไตรปิฎกเล่ม 28 ข้อ 1183-1201 หน้า 424-433) เรียกชื่อกัณฑ์นี้ว่า “มทฺทีปพฺพํ” (ดูภาพประกอบ) ภาษาไทยตัดมาเฉพาะ “มทฺที” และใช้อิงสันสกฤตเป็น “มัทรี

เรื่องราวในกัณฑ์ “มัทรี” ว่าด้วยพระนางมัทรีไปเที่ยวแสวงหาผลไม้ตามกิจวัตรแล้วรีบกลับเพราะเป็นห่วงสองกุมาร เทพยเจ้าเล็งเห็นว่าถ้าพระนางกลับไปแต่ยังวัน รู้ว่าพระเวสสันดรประทานสองกุมารแก่ชูชกก็จะต้องออกตาม จะเสวยทุกขเวทนาสาหัสอาจถึงแก่ชีวิต ถ้าถ่วงเวลาไว้ให้กลับในเมื่อเย็นค่ำแล้ว ก็จะช่วยยับยั้งไม่ให้พระนางออกตาม เป็นการป้องกันชีวิตพระนางไว้ได้ เทพยดาจึงมอบหมายให้เทพบุตร 3 องค์จำแลงเป็น “พญาราชสีห์สองเสือสามสัตว์” ไปนอนสกัดทางในช่องแคบ จนเวลามืดค่ำจึงยอมหลีกทาง

พระนางมัทรีกลับถึงอาศรมไม่เห็นสองกุมารก็ทูลถามพระเวสสันดร พระเวสสันดรใช้ “จิตวิทยา” แสร้งโกรธเพื่อเปลี่ยนอารมณ์ ในที่สุดพระนางมัทรีวิ่งวนหาสองกุมารจนมาสลบลงตรงหน้าพระเวสสันดร เมื่อฟื้นขึ้นรู้ความจริงก็ทรงอนุโมทนาในทานบารมี

ร่ายยาวกัณฑ์มัทรีเป็นสำนวนของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เช่นเดียวกับกัณฑ์กุมาร มีโวหารพรรณนาที่เพราะๆ หลายตอน

อภิปราย :

เนื้อหาในกัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี ถ้าลองวิเคราะห์ดูจะเห็นว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่าง “อารมณ์” กับ “เหตุผล” นั่นเอง

“อารมณ์” คือความรัก ความห่วง ความผูกพัน ระหว่างแม่กับลูก ลูกกับแม่ ความน้อยเนื้อต่ำใจที่ลูก (สองกุมาร) มีต่อพ่อ (พระเวสสันดร) “อารมณ์” นี้ทำให้มองเห็นแต่ประโยชน์เฉพาะหน้า นั่นคือไม่ต้องการจะให้ใครมาแยกมาพรากของรักของหวงของตน ต้องการอยู่ครอบครองเป็นเจ้าของทุกเวลานาที

ส่วน “เหตุผล” ทำให้มองเห็นประโยชน์ในช่วงยาวยั่งยืน

การยกสองกุมารให้ชูชกนั้น ประโยชน์ที่จะได้ในชาตินี้ก็คือ สองกุมารจะเป็นสื่อกลางทำให้พระเวสสันดรได้กลับเข้าเมืองเร็วขึ้น การพลัดพรากจากกันเป็นเสมือนการลงทุนในช่วงเวลาสั้นๆ นับเวลาตามท้องเรื่อง พ่อแม่ลูกไม่ได้เห็นกันเพียงแค่ 2 เดือน แต่หลังจากนั้นได้อยู่ด้วยกันจนตลอดชีวิต

แต่ประโยชน์ยิ่งใหญ่ยืนยาวก็คือ เป็นเหตุให้พระเวสสันดรได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาติต่อมา เกิดพระพุทธศาสนาที่อำนวยประโยชน์ทั้ง 3 คือ ประโยชน์ชาตินี้ ประโยชน์ชาติหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระอมตนฤพาน แก่มนุษยชาติกว้างใหญ่ไพศาลมาจนถึงทุกวันนี้

……..

กัณฑ์ที่ 9 มทฺทีปพฺพํ 90 พระคาถา

เพลงประจำกัณฑ์: เพลงทยอยโอด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ยอดเขลา ใช้อารมณ์ควบคุมเหตุผล

: ยอดคน ใช้เหตุผลควบคุมอารมณ์

#บาลีวันละคำ (2,081)

22-2-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย