เจรจาพาที (บาลีวันละคำ 1,935)
เจรจาพาที
อ่านว่า เจน-ระ-จา-พา-ที
แยกคำเป็น เจรจา + พาที
(๑) “เจรจา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เจรจา : (คำกริยา) พูด, พูดจากัน, พูดจากันเป็นทางการ. (ส. จรฺจา).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า คำนี้สันสกฤตเป็น “จรฺจา”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “จรฺจา” และ “จรฺจิกา” บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“จรฺจา, จรฺจิกา : (คำนาม) วิจาร, วิจารณา, อโลจนา, การใช้วิจารหรือหัวคิด; การชำระกายด้วยสุรภิวิเลป; การไต่ถามหรือสืบสวน; พระทุรคา; reflection, contemplation, consideration, the exercise of judgment or deliberation; cleaning the body with fragrant unguents; inquiry or investigation; Duragā.”
ในภาษาไทย เราคงออกเสียง “จรฺจา” ว่า จัน-จา มีคำว่า “จรรจา” (จัน-จา) เป็นพยานอยู่ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จรรจา : (คำที่ใช้ในบทกลอน) (คำกริยา) พูด, กล่าว, เช่น อันว่าคนจรรจาลิ้นล่าย กล่าวสองฝ่ายให้ดูดี. (ม. คำหลวงกุมาร). (ส. จฺรจา).”
และยังมีคำว่า “จำนรรจ์” (จำ-นัน) และ “จำนรรจา” (จำ-นัน-จา) ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าแผลงมาจาก จรฺจา คือ “จัน” (จรฺ-) แผลงเป็น “จำนัน” (จำนรรจ์, จำนรรจา)
“จ” แผลงเป็น “จ-น” มีแนวเทียบในภาษาไทยหลายคำ เช่น –
จง > จำนง
จำ > จำนำ
จ่าย > จำหน่าย
เจียร > จำเนียร
แจก > จำแนก
จรฺจา > จรรจา > จำนรรจ์ > จำนรรจา > เจรจา
ทุกคำล้วนมีความหมายว่า พูด, กล่าว
บาลีมี “จจฺจ” (จัด-จะ) ธาตุ ไขความว่า “ปริภาสเน” พูดตามสำนวนไวยากรณ์บาลีว่า “เป็นไปในอรรถว่า ด่า, ต่อว่า” ซึ่งน่าจะตรงหรือใกล้เคียงกับ “จรฺจฺจ” ธาตุของสันสกฤตมากที่สุด
(๒) “พาที”
บาลีเป็น “วาที” รากศัพท์มาจาก วทฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + ณี ปัจจัย, ลบ ณ (ณี > อี), ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ ว-(ท) เป็น อา (วทฺ > วาท)
: วทฺ + ณี > อี = วที > วาที แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีถ้อยคำ” หมายถึง พูดถึง, กล่าว, สอน, พูดคุย; ถือทัศนะหรือลัทธิคำสอน; โต้แย้ง (speaking of, saying, asserting, talking; professing, holding a view or doctrine; arguing)
“วาที” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“วาที : (คำนาม) ผู้พูด, ผู้กล่าว, ผู้ชี้แจง, ผู้โต้แย้ง; คนเล่นดนตรี. (ป., ส.).”
“วาที” แผลง ว เป็น พ ตามหลักนิยมในภาษาไทย จึงเป็น “พาที”
เจรจา + พาที = เจรจาพาที เป็นการเอาคำมาประสมกันแบบคำไทย มีความหมายว่า พูดจากัน, พูดคุยกัน, ปรึกษาหารือกัน, พูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง, พูดจาตกลงกันเพื่อหาข้อยุติในปัญหาหรือเรื่องราวใดๆ ที่เกิดขึ้นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
ในที่นี้ “พาที” มีลักษณะคล้ายคำสร้อย เพราะ “เจรจา” กับ “พาที” มีความหมายไปในทางเดียวกัน
คำว่า “เจรจาพาที” ยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
คำอื่นๆ ที่น่าจะลงท้ายว่า “-พาที” เช่น สนทนาพาที พูดจาพาที ก็ไม่มีในพจนานุกรมฯ
และไม่เพียงแต่ “เจรจาพาที” แม้เฉพาะ “พาที” คำเดียวก็ยังไม่มีเก็บไว้
…………..
แถม :
คุณสมบัติของผู้ที่ควรร่วมเจรจาพาทีกัน
(1) โสตา = เมื่อฟัง เป็นผู้ฟังที่ดี
(2) สาเวตา = เมื่อพูด พูดจาน่าฟัง
(3) อุคฺคเหตา = จับประเด็นในเรื่องที่พูดกันได้ดี
(4) ธาเรตา = จำข้อมูลได้ ไม่เลอะเทอะ
(5) วิญฺญาตา = เข้าใจเจตนาของคู่เจรจา
(6) วิญฺญาเปตา แถลงคารมได้แจ่มแจ้ง
(7) กุสโล สหิตาสหิตสฺส = รู้ว่าอะไรควรพูดอะไรไม่ควรพูด
(8) โน กลหการโก = ควบคุมตัวเองได้ ไม่ชวนทะเลาะ
ที่มา: พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 7 ข้อ 398
ในที่นี้ถอดความโดยประสงค์
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สัตว์เดรัจฉาน ตัดสินปัญหาด้วยการกัดกัน
: มนุษย์สามัญ ตัดสินด้วยกำลังกายกำลังอาวุธ
: มนุษย์ที่เป็นมนุษย์ ตัดสินด้วยการเจรจา
: มนุษย์ที่มีปัญญา ตัดสินปัญหาด้วยคุณธรรม
————
(ตามคำขอของพระคุณท่าน Sunant Phramaha)
#บาลีวันละคำ (1,935)
26-9-60