จรดพระนังคัล (บาลีวันละคำ 722)
จรดพระนังคัล
อ่านว่า จะ-หฺรด-พฺระ-นัง-คัน
คำบาลีคือ “นังคัล” เขียนแบบบาลีเป็น “นงฺคล” อ่านว่า นัง-คะ-ละ
“นงฺคล” รากศัพท์มาจาก นงฺค (> ภูมิ = แผ่นดิน) + ลุ (ธาตุ = ตัด) + อ ปัจจัย, ลบ อุ ที่สุดธาตุ
: นงฺค + ลุ > ล = นงฺคล + อ = นงฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ตัดพื้นดิน”
ไขความว่า –
(1) ศัพท์ว่า นงฺค (นัง-คะ) มีความหมายเท่ากับ ภูมิ = แผ่นดิน, พื้นดิน
(2) อุปกรณ์ที่ตัดพื้นดินที่เรียบทำไม่ให้เรียบ คือพื้นดินที่เรียบ เมื่อไถแล้วก็กลายเป็นไม่เรียบ จึงเรียกอุปกรณ์ชนิดนี้ว่า “นงฺคล”
“นงฺคล” ภาษาไทย เขียนเป็น “นังคัล” แปลว่า ไถ
นังคัล ราชาศัพท์ใช้ว่า “พระนังคัล”
พจน.54 บอกไว้ว่า –
(1) นังคัล : (คำแบบ) (คำนาม) ไถ.
(2) ไถ : (คำนาม) เครื่องมือทําไร่ทํานาชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยคันชัก หางยาม ผาล หัวหมู ใช้ควายหรือวัวเป็นต้นลากไปเพื่อกลับดิน, คันไถ ก็ว่า
(3) จรด : [จะ-หฺรด] (คำโบราณ; คำแบบ) (คำกริยา) จด, ถึง, จ่อให้ถึง.
(4) จรดพระนังคัล : (คำกริยา) จดไถลงดินเพื่อไถนาในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ.
(5) แรกนา, แรกนาขวัญ : (คำนาม) ชื่อพิธีเริ่มไถนา, ถ้าทําเป็นทางราชการ เรียกว่า พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ, แต่โดยทั่วไปมักเรียกว่า พระราชพิธีแรกนา หรือ พระราชพิธีแรกนาขวัญ.
ทำนาแบบพุทธ :
สทฺธา พีชํ ตโป วุฏฺฐิ
ปญฺญา เม ยุคนงฺคลํ
หิริ อีสา มโน โยตฺตํ
สติ เม ผาลปาจนํ.
(1) ศรัทธาเป็นพืช ความเพียรเป็นฝน
ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ
หิริเป็นงอนไถ ใจเป็นเชือกชัก
สติของเราเป็นผาลและประตัก
(2) เรามีกายคุ้มครองแล้ว มีวาจาคุ้มครองแล้ว
เป็นผู้สำรวมแล้วในการบริโภคอาหาร
เราปราบวัชพืช (คือวาจาสับปลับ) ด้วยคำสัตย์
โสรัจจะของเราเป็นเครื่องยังงานให้แล้วเสร็จ
(3) ความเพียรของเราเป็นเครื่องนำธุระไปให้สมหวัง
นำไปถึงความเกษมจากโยคะ
ไปไม่หวนกลับ –
ยังที่ซึ่งบุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก
(4) เราทำนาด้วยประการดังนี้
นาที่เราทำนั้นย่อมมีผลเป็นอมตะ
บุคคลทำนาอย่างนี้แล้ว
ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
(กสิสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๖๗๔)
: ทำนาแบบโลก สุขโศกไม่สิ้นสุด
: ทำนาแบบพุทธ สิ้นสุดทุกข์โศก
#บาลีวันละคำ (722)
9-5-57