วจีกรรม [1] (บาลีวันละคำ 1,934)
วจีกรรม [1]
อ่านว่า วะ-จี-กำ
แยกคำเป็น วจี + กรรม
(๑) “วจี”
บาลีอ่านว่า วะ-จี รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ = พูด) + อ ปัจจัย + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: วจฺ + อ = วจ + อี = วจี แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” หมายถึง คำพูด, ถ้อยคำ (speech, words)
อีกคำหนึ่งที่มีความหมายอย่างเดียวกับ “วจี” คือ “วาจา” รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ = พูด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ว-(จฺ) เป็น อา ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (วจฺ > วาจ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตฺถีลิงค์
: วจฺ + ณ = วจณ > วจ > วาจ + อา = วาจา แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” หมายถึง คำพูด การกล่าว, การพูด, วาจา (word, saying, speech)
(๒) “กรรม”
บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตและนิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”
“กรรม” ในแง่ภาษา –
1- รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย)
2- ลบ รฺ ที่ธาตุ : กรฺ = ก- และ ร ที่ปัจจัย : รมฺม = -มฺม
3- กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
4- แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” “สิ่งที่ทำ” (the doing, deed, work)
“กรรม” ในแง่ความหมาย –
1- การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม
2- การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม
3- การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม
4- พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม
“กรรม” ในแง่ความเข้าใจ –
1- กฎแห่งกรรม คือ “ทำดี-ดี ทำชั่ว-ชั่ว ดุจปลูกพืชชนิดใด ต้องเกิดผลดอกใบของพืชชนิดนั้น”
2- กรรมมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นผล คือสภาพทั้งปวงที่เรากำลังเผชิญหรือประสบอยู่ และส่วนที่เป็นเหตุ คือสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ในบัดนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดส่วนที่เป็นผลในลำดับต่อไป (ผู้ที่ไม่เข้าใจ เมื่อมอง “กรรม” มักเห็นแต่ส่วนที่เป็นผล แต่ไม่เห็นส่วนที่เป็นเหตุ)
3- กรรม เป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นกับความเชื่อหรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร กรรมก็เป็นจริงอย่างที่กรรมเป็น
วจี + กมฺม = วจีกมฺม แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำทางวาจา” (verbal action) หมายถึง การกระทำด้วยคำพูด ในทางตรงข้ามกับการกระทำด้วยกายและใจ (deed performed by speech in contradistinction to deeds by the body or thought)
“วจีกมฺม” ในภาษาไทยใช้เป็น “วจีกรรม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“วจีกรรม : (คำนาม) การพูด, การกระทําทางวาจา, เช่น การกล่าวเท็จเป็นการทำผิดทางวจีกรรม. (ป. วจีกมฺม).”
คำในชุดนี้มี ๓ คำ คือ –
(1) กายกรรม = กรรมที่ทำด้วย “การกระทำ” (bodily action)
(2) วจีกรรม = กรรมที่ทำด้วย “คำพูด” (verbal action)
(3) มโนกรรม = กรรมที่ทำด้วย “การคิด” (mental action)
ข้อสังเกต :
คำในชุดนี้ ตามที่เราพูดกันคุ้นปากคือ กาย วาจา ใจ (บาลีว่า กาย วาจา มโน) เราไม่พูดว่า กาย วจี ใจ หรือ กาย วจี มโน
แต่เมื่อสมาสกับ “กรรม” เราพูดว่า กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
เราไม่พูดว่า กายกรรม วาจากรรม มโนกรรม
ในบาลีในที่ทั่วไปก็มีแต่ “วจีกมฺม” เฉพาะในบทร้อยกรองบางแห่งเท่านั้นที่เป็น “วาจากมฺม”
…………..
ขยายความ :
ในทางธรรม วจีกรรมมีทั้งฝ่ายกุศล คือเป็นไปในทางดี และฝ่ายอกุศล คือเป็นไปในทางชั่ว
วจีกรรมฝ่ายกุศลมี 4 ได้แก่ –
(1) มุสาวาทา เวรมณี = เว้นจากพูดเท็จ (abstention from false speech)
(2) ปิสุณาย วาจาย เวรมณี = เว้นจากพูดส่อเสียด (abstention from tale-bearing)
(3) ผรุสาย วาจาย เวรมณี = เว้นจากพูดคำหยาบ (abstention from harsh speech)
(4) สมฺผปฺปลาปา เวรมณี = เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ (abstention from vain talk or gossip)
วจีกรรมฝ่ายอกุศลก็ตรงกันข้าม คือ –
(1) มุสาวาท = พูดเท็จ
(2) ปิสุณา วาจา = พูดส่อเสียด
(3) ผรุสา วาจา = พูดคำหยาบ
(4) สมฺผปฺปลาป = พูดเพ้อเจ้อ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: บาทเดียวที่ได้มาด้วยการพูดคำสัตย์
: ประเสริฐกว่าแสนล้านมหาสมบัติที่ได้มาด้วยการพูดคำเท็จ
#บาลีวันละคำ (1,934)
25-9-60