บาลีวันละคำ

เจตบุตร (บาลีวันละคำ 2,090)

เจตบุตร

ผู้ฉลาดที่โง่เป็น

(คำในชุดนามานุกรมเวสสันดรชาดก)

อ่านว่า เจ-ตะ-บุด ก็ได้ เจด-ตะ-บุด ก็ได้

ประกอบด้วยคำว่า เจต + บุตร

(๑) “เจต

บาลีอ่านว่า เจ-ตะ รากศัพท์มาจาก จิตฺ (ธาตุ = คิด, รู้, จงใจ) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ จิ-(ตฺ) เป็น เอ (จิตฺ > เจต)

: จิตฺ + = จิต > เจต แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่คิด” หมายถึง ความตั้งใจ, ความคิด, ความจงใจ, ความประสงค์, ความปรารถนา (state of mind in action, thinking as active thought, intention, purpose, will)

ในที่นี้ “เจต” เป็นชื่อแคว้นโบราณแห่งหนึ่งในอินเดีย

(๒) “บุตร

บาลีเป็น “ปุตฺต” (ปุด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ปู (ธาตุ = สะอาด, ชำระ) + ปัจจัย, ซ้อน ตฺ, รัสสะ อู ที่ ปู เป็น อุ (ปู > ปุ)

: ปู + ตฺ + = ปูตฺต > ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้เป็นเหตุให้บิดามารดาสะอาด” (คือไม่ถูกตำหนิว่าไม่มีผู้สืบสกุล) (2) “ผู้ชำระตระกูลของตนให้สะอาด” (คือทำให้ตระกูลมีผู้สืบต่อ)

(2) ปูรฺ (ธาตุ = เต็ม) + ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ,(ปูรฺ > ปูตฺ), รัสสะ อู ที่ ปู-(รฺ) เป็น อุ (ปูร > ปุร)

: ปูรฺ + ตฺ = ปูรต > ปูตฺต > ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม

(3) ปุสฺ (ธาตุ = เลี้ยง) + ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (ปุสฺ > ปุ), ซ้อน ตฺ

: ปุสฺ > ปุ + ตฺ + = ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันมารดาบิดาเลี้ยงดู

ปุตฺต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ลูกชาย (a son)

(2) เด็ก, ผู้สืบสกุล (child, descendant)

เจต + ปุตฺต = เจตปุตฺต (เจ-ตะ-ปุด-ตะ) > เจตบุตร แปลตามศัพท์ว่า “ลูกชายแห่งเจตรัฐ” หมายถึงผู้มีเทือกเถาเหล่ากอเป็นชาวเจตรัฐ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ชาวเจตรัฐ

อภิปราย :

การใช้คำว่า “ปุตฺต” หรือ “บุตร” ต่อท้ายชื่อเช่นนี้มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เช่นคำว่า –

นาฏบุตร” (นาด-ตะ-บุด) แปลว่า ลูกของนักฟ้อน หมายถึงผู้มีเทือกเถาเหล่ากอเป็นนักแสดง

กัมมารบุตร” (กำ-มา-ระ-บุด) แปลว่า ลูกของช่างทอง หมายถึงมีเทือกเถาเหล่ากอเป็นช่างทอง

ศากยบุตร” แปลว่า ลูกของเจ้าศากยะ ก็ถูกนำมาใช้เรียกภิกษุในพระพุทธศาสนา หมายถึง สมณะที่เป็นกลุ่มพวกของเจ้าศากยะ (คือพระพุทธเจ้า)

คำว่า “พุทธบุตร” ที่มีผู้ใช้เรียกพระภิกษุ ก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้

วัฒนธรรมการตั้งชื่อแบบนี้ เราสมัยนี้ที่คุ้นกับฝรั่งย่อมเข้าใจได้ดีเมื่อเทียบกับชื่อฝรั่ง เช่น –

Johnson = ลูกชายของจอห์น

Peterson = ลูกชายของปีเตอร์

คำว่า “บุตร” ที่ใช้ต่อท้ายชื่อเช่นนี้ทำให้ผู้เขียนบาลีวันละคำนึกถึงคำว่า “ลูกเกิด” ที่เคยได้ยินผู้ใหญ่ในพื้นถิ่นใช้เรียกคนที่เกิดและมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่นั้นๆ เช่น คนเกิดที่ตำบลป่าไก่ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี

ถ้าพูดในระดับประเทศ จะพูดว่า “ลูกเกิดราชบุรี” หมายถึงเป็นชาวราชบุรี

ถ้าพูดในจังหวัดราชบุรี จะพูดว่า “ลูกเกิดปากท่อ” หมายถึงเป็นชาวอำเภอปากท่อ

ถ้าพูดในอำเภอปากท่อ จะพูดว่า “ลูกเกิดป่าไก่” หมายถึงเป็นชาวตำบลป่าไก่

อาจเป็นไปได้ว่า การใช้คำว่า “ลูกเกิด” ดังกล่าวนี้เป็นวัฒนธรรมเดียวกับที่คนชมพูทวีปใช้คำว่า “ปุตฺต” และที่ฝรั่งใช้คำว่า son ต่อท้ายชื่อนั่นเอง

น่าเสียดายที่คำว่า “ลูกเกิด” นี้คนไทยรุ่นใหม่ไม่รู้จักเสียแล้ว

ขยายความ :

คำว่า “เจต” ในที่นี้เป็นชื่อรัฐหรือแคว้นโบราณในอินเดีย ในคัมภีร์อรรถกถาระบุว่าเมืองหลวงของเจตรัฐชื่อ “มาตุลนคร

คำว่า “เจตปุตฺต” หรือ “เจตบุตร” นี้ น่าจะไม่ใช่ชื่อตัวหรือชื่อจริง แต่เป็นชื่อที่เรียกว่า “เนมิตกนาม” คือชื่อที่บอกบุคลิกหรือภูมิหลังบางประการ อย่างในที่นี้ก็คือบอกให้รู้ว่าเป็นชาวเจตรัฐ

เหมือนเศรษฐีในสมัยพุทธกาลคนหนึ่งที่เรารู้จักกันดี คือ “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” ท่านมีชื่อจริงว่า “สุทัตตะ” เป็นคนใจบุญอย่างยิ่งจนได้ “เนมิตกนาม” ว่า “อนาถบิณฑิก” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา” เรียกกันเช่นนี้จนเราแทบไม่รู้จักชื่อจริง

ในมหาเวสสันดรชาดก เรามักเข้าใจกันว่าเจตบุตรเป็นคนป่าคนดง เป็นพรานที่ดุร้าย แต่ไม่ฉลาด เพราะถูกชูชกหลอกว่าเป็นทูตนำสารไปเชิญพระเวสสันดรกลับเมืองก็หลงเชื่อง่ายๆ มิหนำซ้ำช่วยเป็นมัคคุเทศก์ชี้ทางให้เป็นอันดี

ในอรรถกถามีคำแสดงคุณสมบัติของเจตบุตรตอนหนึ่งว่า “พฺยตฺตํ  สุสิกฺขิตํ  เจตปุตฺตํ” แปลว่า “เจตบุตรเป็นคนฉลาด มีการศึกษาดี

การที่เจตบุตรเชื่อชูชกและช่วยชี้ทางให้ไปหาพระเวสสันดร จึงอาจไม่ใช่เพราะความไม่ฉลาดอย่างที่เราเข้าใจ แต่อาจเป็นเพราะเราเองไม่ฉลาดเท่าเจตบุตรก็เป็นได้

ในตอนกลับชาติ คัมภีร์บอกว่าเจตบุตรกลับชาติมาเกิดเป็นพระฉันนเถระ

พระฉันนเถระผู้นี้เป็นอำมาตย์คนสนิทผู้เป็นสหชาติและเป็นสารถีของเจ้าชายสิทธัตถะในวันเสด็จออกบรรพชา ฉันนะตามเสด็จไปด้วย ภายหลังบวชเป็นภิกษุ ถือตัวว่าเป็นคนใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาแต่เก่าก่อน ใครว่าไม่ฟัง เกิดความบ่อยๆ หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์หายพยศ และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ (พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สุดยอดของปราชญ์

: คือรู้ว่าเมื่อไรควรฉลาดเมื่อไรควรโง่

—————–

(คำในชุดนี้ได้ความคิดจากคำถามของ วงษ์ชนะ สุรเชษฐ์)

#บาลีวันละคำ (2,090)

3-3-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย