บาลีวันละคำ

สัตสดกมหาทาน (บาลีวันละคำ 2,091)

สัตสดกมหาทาน

มีอะไรบ้าง?

(คำในชุดนามานุกรมเวสสันดรชาดก)

อ่านว่า สัด-ตะ-สะ-ดก-มะ-หา-ทาน

คำที่ประสงค์คือ “สัตสดก” ประกอบด้วย สัต + สดก

(๑) “สัต

ในที่นี้ลดรูป (คือตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งตามหลักนิยมในภาษาไทย) มาจากคำบาลีว่า “สตฺต” (สัด-ตะ) แปลว่า เจ็ด (จำนวน 7)

มีข้อควรสังเกต คือ ในภาษาบาลีมีคำวา “สต” (สะ-ตะ) แปลว่า ร้อย (จำนวน 100)

สตฺต” กับ “สต” เสียงใกล้เคียงกันมาก แต่รูปคำช่วยแยกให้เห็นความต่างกันได้ คือ “เจ็ด” มี 2 ตัว แต่ “ร้อย” มี ตัวเดียว

ในภาษาไทย เมื่อตัดตัวสะกดออก “สตฺต” (เจ็ด) ก็มีรูปเป็น “สต” เหมือน “สต” (ร้อย) เกิดเป็นปัญหาว่า “สต” รูปนี้เป็น “เจ็ด” หรือเป็น “ร้อย” กันแน่

ในภาษาไทยท่านแก้ปัญหาด้วยการใช้ไม้หันอากาศแยกคำให้ต่างกัน คือ –

ถ้าหมายถึง “เจ็ด” เขียนเป็น “สัต” (มีไม้หันอากาศ)

ถ้าหมายถึง “ร้อย” เขียนเป็น “สต” (ไม่มีไม้หันอากาศ)

ในที่นี้เขียนว่า “สัตสดก” “สัต-” ในที่นี้จึงหมายถึง “เจ็ด” (คำเดิม “สตฺต”) ไม่ใช่ “ร้อย” (คำเดิม “สต”)

ขอยกคำในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มาเทียบกันดังนี้ –

(1) สต-, สตะ ๑ : (คำนาม) ร้อย (๑๐๐). (ป.; ส. ศต).

(2) สัต ๒, สัต– ๒, สัตตะ ๑ : (คำวิเศษณ์) เจ็ด. (ป. สตฺต; ส. สปฺต).

โปรดสังเกตด้วยว่า “สัต” (เจ็ด) พจนานุกรมฯ บอกว่าเป็นคำวิเศษณ์ แต่ “สต” (ร้อย) เป็นคำนาม

(๒) “สดก

อ่านว่า สะ-ดก บาลีเป็น “สตก” อ่านว่า สะ-ตะ-กะ รากศัพท์มาจาก สต (จำนวน 100) + ปัจจัย

: สต + = สตก แปลตามศัพท์ว่า “หมวดหมู่แห่งสิ่งที่มีจำนวนร้อย” หมายถึง สิ่งที่รวมจำนวนได้ 100 แล้วจัดเข้าเป็นชุดเดียวกัน หรือเรียกสั้นๆ ว่า “-อย่างละ 100”

บาลี “สตก” ในภาษาไทยใช้เป็น “สดก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สดก : (คำแบบ) (คำนาม) หมวด ๑๐๐, จํานวนร้อย. (ป. สตก; ส. ศตก).”

สตฺต + สตก = สตฺตสตก แปลตามศัพท์ว่า “หมวดหมู่แห่งสิ่งที่มีจำนวนร้อย-เจ็ดหมวด

สตฺตสตก” ในภาษาไทยใช้เป็น “สัตสดก

ตามรูปศัพท์ควรจะมีความหมายว่า สิ่งที่จะบริจาคเป็นมหาทานแบ่งเป็นพวกๆ หรือเป็นกลุ่มๆ ได้ 7 กลุ่ม หรือ 7 ชนิด 7 อย่าง แต่ละกลุ่ม แต่ละชนิด หรือแต่ละอย่างมีจำนวนอย่างละ 100

แต่ความหมายที่เข้าใจกัน โดยเฉพาะที่เป็นคำนิยามของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ไม่ใช่เช่นว่านั้น

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัตสดก : (คำนาม) หมวดละ ๗๐๐ เช่น แล้วประจงจัดสัตสดกมหาทานเป็นต้นว่าคชสารเจ็ดร้อย. (ม. ร่ายยาว ทานกัณฑ์). (ป. สตฺตสตก).”

หมายความว่า สิ่งที่จะบริจาคมีอย่างละ 700 โดยไม่ได้ระบุว่ามีกี่อย่าง หรือมีอะไรบ้าง ฟังดูเป็นว่า อาจจะมีเป็นร้อยอย่างพันอย่างก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไรหรือมีกี่อย่าง ก็จะต้องมีจำนวนอย่างละ 700 เสมอไป

แต่เมื่อลองนับดูชนิดของสิ่งที่บริจาคเป็นมหาทานตามที่แสดงไว้ในอรรถกถา ปรากฏว่านับได้ 7 อย่าง และแต่ละอย่างมีจำนวนอย่างละ 700

สัตสดกมหาทาน” จึงมีความหมายว่า สิ่งของที่บริจาคมี 7 อย่าง อย่างละ 700

อรรถกถามหาเวสสันดรชาดก (ชาตกัฏฐกถา ภาค 10 หน้า 433-434) แสดงรายการ “สัตสดกมหาทาน” ไว้ดังนี้ –

(1) สุวณฺณาลงฺการานํ  สุวณฺณธชานํ  เหมชาลปฏิจฺฉนฺนานํ  หตฺถีนํ  สตฺตสตานิ

ช้าง 700 เชือก มีเครื่องประดับทอง ติดธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง

(2) ตถารูปานญฺเจว  อสฺสานํ  สตฺตสตานิ

ม้า 700 ตัว มีเครื่องประดับทอง ติดธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง

(3) สีหจมฺมาทีหิ  ปริกฺขิตฺตานํ  นานารตนวิจิตฺรานํ  โสวณฺณธชานํ  รถานํ  สตฺตสตานิ

รถ 700 คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์เป็นต้น วิจิตรด้วยรัตนะต่างๆ ติดธงทอง

(4) สพฺพาลงฺการปฏิมณฺฑิตานํ  อุตฺตมรูปธรานํ  ขตฺติยกญฺญาทีนํ  อิตฺถีนํ  สตฺตสตานิ

สตรีมีขัตติยกัญญาเป็นต้น 700 นาง ประดับด้วยสรรพาลังการ ทรงรูปอันงามเลิศ

(5) วรอุสภเชฏฺฐกานํ  กุณฺโฑปโทหินีนํ  เธนูนํ  สตฺตสตานิ

แม่โคนม 700 ตัวซึ่งเป็นพันธุ์ที่ยอดเยี่ยม รีดน้ำนมได้วันละหม้อ

(6) สุวินีตานํ  สุสิกฺขิตานํ  ทาสีนํ  สตฺตสตานิ

ทาสหญิง 700 คน ผู้ได้รับการฝึกหัดศึกษาดีแล้ว

(7) ตถารูปานญฺจ  ทาสานํ  สตฺตสตานิ

ทาสชาย 700 คน ผู้ได้รับการฝึกหัดศึกษาดีแล้ว

ท่านผู้ใดมีความเห็นเป็นอย่างอื่น ขอได้โปรดแสดงความเห็น เพื่อความถูกต้องสมบูรณ์แห่งองค์ความรู้ร่วมกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ยาจกที่ยังมีจิตคิดจะให้

: ยิ่งใหญ่กว่าเศรษฐีที่คิดแต่จะเอา

—————–

(คำในชุดนี้ได้ความคิดจากคำถามของ วงษ์ชนะ สุรเชษฐ์)

#บาลีวันละคำ (2,091)

4-3-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย