บาลีวันละคำ

สัททสัญญาสาธุการ (บาลีวันละคำ 1,947)

สัททสัญญาสาธุการ

ประชาธิปไตยในพิธีทอดกฐิน

อ่านว่า สัด-ทะ-สัน-ยา-สา-ทุ-กาน

แยกศัพท์เป็น สัทท + สัญญา + สาธุการ

(๑) “สัทท” 

บาลีเขียน “สทฺท” (สัด-ทะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) สปฺปฺ (ธาตุ = สวด, พูด; รู้) + ปัจจัย, แปลง ปฺป เป็น ทฺท (สปฺปฺ > สทฺท)

: สปฺปฺ + = สปฺป > สทฺท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันเขาพูดออกมา” (2) “สิ่งเป็นเหตุให้รู้เนื้อความ

(2) สปฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง ปฺ ที่ (ส)-ปฺ เป็น ทฺ (สปฺ > สทฺ), ซ้อน ทฺ

: สป > สทฺ + ทฺ + = สทฺท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้เป็นไปได้” (คือทำให้เกิดความสะดวกในการดำเนินชีวิต)

(3) สทฺทฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + ปัจจัย

: สทฺทฺ + = สทฺท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาส่งออกไป

สทฺท” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เสียง, สำเนียง (sound, noise)

(2) เสียงคน (voice)

(3) คำ (word)

บาลี “สทฺท” สันสกฤตเป็น “ศพฺท

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน) บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศพฺท : (คำนาม) ‘ศัพท์,’ เสียงทั่วไป; คำ; (คำใช้ในไวยากรณ์) ศัพท์นี้ขึ้นอยู่กับวิภัตติ์หรือเปลี่ยนรูปไปตามวิภัตติ์, ดุจนาม, สรรพนาม ฯลฯ; sound in general; a word; (In grammar) a declinable word, as noun, pronoun &c.”

สทฺท > ศพฺท ในภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศัพท

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศัพท-, ศัพท์ : (คำนาม) เสียง เช่น โทรศัพท์, คำ เช่น ศัพท์บัญญัติ; คำยากที่ต้องแปล, ศัพท์แสง ก็ว่า; เรื่อง เช่น ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด. (ส. ศพฺท; ป. สทฺท ว่า เสียง, คํา).”

ในที่นี้ใช้ตามรูปบาลี สทฺท > สัทท

(๒) “สัญญา

บาลีเขียน “สญฺญา” รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน) + ญา (ธาตุ = รู้) แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ญฺ (สํ > สญฺ) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ

: สํ > สญฺ + ญา + กฺวิ = สญฺญากฺวิ > สญฺญา (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเครื่องจำ

สญฺญา” ในบาลีมีความหมายหลายอย่าง คือ –

(1) ความรู้สึก, ความรับรู้, ความจำได้, ความหมายรู้ (sense, consciousness, perception)

(2) ความสังเกตจดจำ, ความสุขุม, ความตระหนัก (sense, perception, discernment, recognition)

(3) แนวความคิด, ความคิด, ความเข้าใจ (conception, idea, notion)

(4) สัญญาณ, กิริยาท่าทาง, เครื่องแสดง, เครื่องหมาย (sign, gesture, token, mark)

(5) ความประทับใจที่เกิดจากความรู้สึกและการจำได้, ความรู้สึกว่ามีบางสิ่งที่เหมือนกัน (เช่นเห็นคนหนึ่งแล้วนึกถึงอีกคนหนึ่ง) (sense impression and recognition)

ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัญญา : (คำนาม) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ข้อตกลงระหว่างบุคคล ๒ ฝ่ายหรือหลายฝ่ายว่าจะกระทําการหรืองดเว้นกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่ง; ข้อตกลงกัน, คำมั่น, เช่น เขาให้สัญญาว่าจะมาหาพรุ่งนี้; ความจํา เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. (คำกริยา) ให้คํามั่น, รับปาก, ทําความตกลงกัน, เช่น แม่สัญญากับลูกว่าถ้าสอบได้ที่ ๑ จะให้รางวัล. (ป.).”

(๓) “สาธุการ

แยกศัพท์ออกเป็น สาธุ + การ

(ก) “สาธุ

รากศัพท์มาจาก สาธฺ (ธาตุ = สำเร็จ) + อุ ปัจจัย

สาธฺ + อุ = สาธุ แปลตามศัพท์ว่า “ยังประโยชน์ให้สำเร็จ” มีความหมายว่า “ดีแล้ว” “ถูกต้องแล้ว” “ใช่แล้ว” “เห็นชอบด้วย

๑ ความหมายของ “สาธุ” ในภาษาไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “สาธุ” ไว้ว่า –

(1) (คำวิเศษณ์) ดีแล้ว, ชอบแล้ว, (เป็นคําที่พระสงฆ์เปล่งวาจาเพื่อยืนยันหรือรับรองพิธีทางศาสนาที่กระทําไป).

(2) (ภาษาปาก) (คำกริยา) เปล่งวาจาแสดงความเห็นว่าชอบแล้วหรืออนุโมทนาด้วย, มักใช้เข้าคู่กับคำ โมทนา เป็น โมทนาสาธุ

(3) ไหว้ (เป็นคําบอกให้เด็กแสดงความเคารพตามธรรมเนียม กร่อนเสียง เป็น ธุ ก็มี).

๒ ฝรั่งว่าอย่างไร

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สาธุ” ในความหมายต่างๆ ดังนี้ –

(1) good, virtuous, pious (ดี, มีคุณธรรม, มีศรัทธาแก่กล้า)

(2) good, profitable, proficient, meritorious (ดี, งาม, คล่อง, มีกำไร, เป็นกุศล)

(3) well, thoroughly (อย่างดี, โดยทั่วถึง)

(4) come on, welcome, please (โปรดมาซี, ขอต้อนรับ, ยินดีต้อนรับ : ใช้ในฐานะเป็นคำขอร้องเชิญชวน)

(5) alright, yes (ดีแล้ว ตกลง : ใช้ในฐานะเป็นคำยอมรับและอนุมัติในการตอบคำถาม หรือกรณีอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน)

๓ หลักการ

สาธุ” เมื่อเป็นคำกล่าวขึ้นมาเดี่ยวๆ ทำนองคำอุทาน คือเปล่งวาจา (an exclamation, interjection) ใช้ในกรณีดังต่อไปนี้ :

(1) เมื่อเห็นด้วยกับญัตติ (ข้อเสนอเพื่อลงมติ) หรือการขอความเห็น ตรงกับคำว่า “เห็นชอบ” (alright, yes)

(2) เมื่อได้ฟังคำสอน คำแนะนำ ข้อเสนอแนะ หรือฟังธรรมแล้วเกิดความยินดีพอใจ (good!, right!, well!)

(3) เมื่อได้เห็นหรือได้ทราบถึงการกระทำหรือเหตุการณ์ที่ถูกต้องดีงาม เป็นบุญกุศล เป็นความดี เป็นความสำเร็จที่ควรยินดี (congratulation)

(ข) “การ

บาลีอ่านว่า กา-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเรื่องด้วย ” คือ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (กรฺ > การ)

: กรฺ + = กรณ > กร > การ แปลตามศัพท์ว่า “การทำ” มีความหมายว่า –

(1) การกระทำ, กิริยาอาการ, วิธีทำ (doing, manner, way)

(2) กรรม, การบริการ, การกระทำที่แสดงความเมตตา หรือความเคารพ หรือความนับถือ (deed, service, act of mercy or worship, homage)

(3) ผู้ทำ, หรือผู้จัดการหรือผู้ค้า (one who does, handles or deals)

ในภาษาไทย เรานำคำว่า “การ” มาใช้และกลายเป็นคำไทยจนแทบจะไม่ได้นึกว่าเป็นบาลี เช่นคำว่า “จัดการ” “เผด็จการ” เป็นต้น

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “การ” ในภาษาไทยไว้ว่า –

(1) การ ๑ : (คำนาม) งาน, สิ่งหรือเรื่องที่ทํา, มักใช้เข้าคู่กับคํา งาน เช่น การงาน เป็นการเป็นงาน ได้การได้งาน, ถ้าอยู่หน้านาม หมายความว่า เรื่อง, ธุระ, หน้าที่, เช่น การบ้าน การครัว การคลัง การเมือง, ถ้าอยู่หน้ากริยา ทํากริยาให้เป็นนาม เช่น การกิน การเดิน.

(2) –การ ๒ : (คำนาม) ผู้ทํา, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาสคําบาลีและสันสกฤต เช่น กรรมการ ตุลาการ, ถ้าอยู่หลังคําอื่นที่ไม่ใช่คําศัพท์ มีความหมายเป็นเฉพาะก็มี เช่น กงการ เจ้าการ นักการ ผู้บังคับการ ผู้กำกับการ.

(3) –การ ๓ : คําประกอบท้ายสมาสคําบาลีและสันสกฤต มีความหมายเหมือน การ ๑ เช่น ราชการ พาณิชยการ.

สาธุ + การ = สาธุการ แปลตามศัพท์ว่า “การทำความเห็นชอบด้วย” หมายถึง การกล่าวว่า “ดีแล้ว”, การอนุมัติ, การแสดงความยินดี, การแสดงความพอใจ (saying “well,” approval, cheering, applause)

การประสมคำ :

สทฺท + สญฺญา = สทฺทสญฺญา > สัททสัญญา แปลว่า “การส่งสัญญาณด้วยเสียง” คือการบอกให้รู้ด้วยคำพูด

สทฺทสญฺญา > + สาธุการ = สทฺทสญฺญาสาธุการ > สัททสัญญาสาธุการ แปลว่า “การทำความเห็นชอบด้วยการเปล่งเสียงว่า สาธุ” คือการออกเสียงลงมติว่าเห็นชอบด้วย

ขยายความ :

ในพิธีทอดกฐิน เมื่อเจ้าภาพประเคนหรือทอดผ้ากฐินไว้ตรงหน้าสงฆ์แล้ว คณะสงฆ์จะประชุมพิจารณาว่าสมควรยกผ้านั้นให้แก่ภิกษุรูปใด โดยมีภิกษุรูปหนึ่งเสนอญัตติต่อที่ประชุม แล้วภิกษุรูปหนึ่งแสดงความคิดเห็น

สาระสำคัญของการแสดงความคิดเห็นมี 2 ส่วน คือ –

๑ ระบุนามภิกษุผู้สมควรได้รับผ้ากฐิน

๒ เสนอวิธีปฏิบัติในการลงมติ คือ

– ถ้าไม่เห็นชอบ ให้ทักท้วง

– ถ้าเห็นชอบ ให้เปล่งเสียงว่า “สาธุ”

ข้อความตอนที่เสนอวิธีปฏิบัตินิยมพูดตามรูปแบบ คือมีข้อความว่า –

“ถ้าภิกษุรูปใดเห็นไม่สมควร จงทักท้วงขึ้นในท่ามกลางระหว่างสงฆ์ (หยุดนิดหนึ่งเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ไม่เห็นด้วยทักท้วง แล้วกล่าวต่อไปว่า) หากเห็นสมควรแล้วไซร้ จงให้สัททสัญญาสาธุการขึ้นพร้อมกัน ณ กาลบัดนี้เทอญ”

พระสงฆ์ที่อยู่ในที่ประชุมนั้นจะเปล่งวาจาพร้อมกันว่า “สาธุ” เป็นอันเสร็จการ

การปฏิบัติทั้งปวงตามที่กล่าวมานี้ นิยมเรียกรู้กันด้วยคำว่า “อปโลกน์กฐิน”

พิจารณาการปฏิบัติจะเห็นว่า การลงมติตามหลักประชาธิปไตยนั้นมีมาในพระพุทธศาสนาก่อนที่โลกปัจจุบันจะรู้จักคำว่า “ประชาธิปไตย” นับเป็นพันปี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าทำให้การให้สาธุการมีค่าเพียงแค่พิธีกรรม

: อย่าทำให้การปฏิบัติธรรมมีค่าเพียงแค่พิธีการ

——————

ภาพประกอบจาก google

#บาลีวันละคำ (1,947)

8-10-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย