บาลีวันละคำ

กัลปพฤกษ์ (บาลีวันละคำ 1,948)

กัลปพฤกษ์

ต้นไม้สารพัดนึก

อ่านว่า กัน-ละ-ปะ-พฺรึก

แยกศัพท์เป็น กัลป + พฤกษ์

(๑) “กัลป

เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “กปฺปฺ” (กับ-ปะ) รากศัพท์มาจาก กปฺปฺ (ธาตุ = กำหนด) + ปัจจัย

: กปฺปฺ + = กปฺป (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันเขากำหนดขึ้น

กปฺป” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง คือ –

(1) เหมาะสม, สมควร, ถูกต้อง, เหมาะเจาะ (fitting, suitable, proper)

(2) จุดสีดำเล็กๆ (a small black dot)

(3) ทำเลศนัย (a making-up of a trick)

(4) คำสั่ง, คำสั่งสอน, กฎ, ข้อปฏิบัติ, มรรยาท (ordinance, precept, rule; practice, manner)

(5) เวลาที่แน่นอน (a fixed time); เวลาที่กำหนดไว้ชั่วกัปหนึ่ง (time with ref. to individual and cosmic life)

บาลี “กปฺป” สันสกฤตเป็น “กลฺป” เราใช้อิงสันสกฤสตเป็น “กัลป

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “กลฺป” ไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

กลฺป : (คำคุณศัพท์) ละม้าย; like (but with a degree of inferiority; – (คำนาม) ศาสตร์หรือบุณยการย์; เวทางค์หนึ่งในจำนวนหก; หนึ่งทิวากับหนึ่งราตรีของพรหม, เวลามีกำหนด ๔,๓๒๑,๐๐๐,๐๐๐ สูรยนักษัตรสังวัตสรกาลบอกสถิติของโลก, และบอกอันตราลแห่งความประลัยของโลก; ความประลัยของโลก; บุณยศาสน์, พฤตติ์อันตราลงไว้โดยพระเวทเพื่ออำนวยผลอย่างหนึ่ง; สังคติ, ความสม; ความแล้วแต่ใจ, คติ; ศงกา; ความตั้งใจอย่างใดอย่างหนึ่ง; ต้นพฤกษ์ในสวรรค์; a Śāstra or sacred work; one of the six Vedāngas; a day and night of Brahmā, a period of 4,321,000,000 solar sidereal-years, measuring the duration of the world, and the interval of its annihilation; a destruction of the world; a sacred precept, practice prescribed by the Vedas for effecting certain consequences; propriety, fitness; optionality, alternative, doubt; any act of determination; one of the trees in Indar’s paradise.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กัลป-, กัลป์ : (คำนาม) กัป, อายุของโลกตั้งแต่เมื่อพระพรหมสร้างเสร็จจนถึงเวลาที่ไฟประลัยกัลป์ล้างโลก ซึ่งได้แก่ช่วงเวลากลางวัน วันหนึ่งของพระพรหม คือ ๑,๐๐๐ มหายุค (เท่ากับ ๔,๓๒๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีมนุษย์) เมื่อสิ้นกัลป์ พระอิศวรจะล้างโลกด้วยไฟประลัยกัลป์ โลกจะไร้สิ่งมีชีวิตและอยู่ในความมืดมนจนถึงรุ่งเช้าของวันใหม่ แล้วพระพรหมก็จะสร้างโลกเป็นการขึ้นต้นกัลป์ใหม่ โลกจะถูกสร้างและถูกทำลายเช่นนี้สลับกันตลอดอายุของพระพรหม ทั้งนี้ตามคติของพราหมณ์, บางทีใช้เข้าคู่กับคํา กัป เช่น ชั่วกัปชั่วกัลป์ นานนับกัปกัลป์พุทธันดร. (ส.; ป. กปฺป).”

โปรดสังเกตตัวเลข :

– พจนานุกรมฯ ว่า ๔,๓๒๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีมนุษย์

– สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธานว่า ๔,๓๒๑,๐๐๐,๐๐๐ สูรยนักษัตร (4,321,000,000 solar sidereal-years)

(๒) “พฤกษ์

บาลีเป็น “รุกฺข” (รุก-ขะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) รุกฺขฺ (ธาตุ = ป้องกัน, ปิดกั้น) + ปัจจัย

: รุกฺข + = รุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ป้องกัน” (คือป้องกันแดดได้)

(2) รุหฺ (ธาตุ = เกิด, งอกขึ้น) + ปัจจัย, แปลง เป็น กฺ (รุหฺ > รุกฺ)

: รุหฺ + = รุหฺข > รุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดขึ้นบนแผ่นดิน

รุกฺข” สันสกฤตเป็น “วฺฤกฺษ” ใช้ในภาษาไทยว่า “พฤกษ” คือ ต้นไม้

กัลป + พฤกษ์ = กัลปพฤกษ์

ในภาษาบาลี คำนี้คือ กปฺป + รุกฺข = กปฺปรุกฺข มักแปลกันว่า “ต้นไม้ที่ดำรงอยู่ได้ตลอดกัป” (กปฺปํ ฐิโต รุกฺโข กปฺปรุกฺโข)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กปฺปรุกฺข” ว่า a wishing tree, magical tree, fulfilling all wishes; sometimes fig. (ต้นกัลปพฤกษ์, ต้นไม้วิเศษซึ่งให้สำเร็จผลสมตามมุ่งหมายทุกอย่าง; บางครั้งใช้เป็นคำอุปมา)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กัลปพฤกษ์ ๑ : (คำนาม) ต้นไม้ที่เชื่อกันว่าให้ผลสําเร็จตามความปรารถนา; เรียกต้นไม้ที่ทําขึ้นเนื่องในการทิ้งทานในงานเมรุหลวง และมีลูกมะนาวบรรจุเงินตราห้อยอยู่ตามกิ่งต่าง ๆ ของต้นไม้นั้นว่าต้นกัลปพฤกษ์, เรียกลูกมะนาวที่บรรจุเหรียญเงินนั้นว่า ลูกกัลปพฤกษ์; (โบ) ใช้ว่า กํามพฤกษ์ ก็มี เช่น พวกประจํากํามพฤกษ์บังคมไหว้. (รามเกียรติ์ ร. ๒). (ส.; ป. กปฺปรุกฺข).”

…………..

อภิปราย :

คำแปล “กปฺปรุกฺข” ที่ว่า “ต้นไม้ที่ดำรงอยู่ได้ตลอดกัป” ไม่สื่อความหมายตามที่เชื่อกัน

คำว่า “กปฺป” แปลได้อีกนัยหนึ่งว่า “ความดำริ” เช่นในคำว่า “สัมมาสังกัปปะ” = ความดำริชอบ ดังนั้น “กปฺปรุกฺข” (กัลปพฤกษ์) จึงอาจแปลตรงตัวว่า “ต้นไม้แห่งความดำริ” หมายความว่า ใครคิดอะไร ต้นไม้นี้ก็อำนวยผลให้ได้ดังที่คิด

แปลอย่างนี้จะได้ความตรงกับความหมายที่ว่า “ต้นไม้ที่เชื่อกันว่าให้ผลสําเร็จตามความปรารถนา”

สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่ม 2 ที่คำว่า “กัลปพฤกษ์” กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า –

… ต้นไม้บนสวรรค์ เป็นไม้ประจำกัลป ซึ่งผู้ใดปรารถนาแก้วแหวนทรัพย์สินเงินทอง เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ ผ้าผ่อนแพรพรรณ ตลอดจนข้าวน้ำโภชนาหารของกินสิ่งใด ก็ไปที่ต้นไม้นี้ จะสำเร็จความปรารถนาทุกประการ เพราะเป็นต้นไม้สารพัดนึก …

(อ่านเพิ่มเติมที่ภาพประกอบ)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ปลูกไมตรีให้มีอยู่ในสำนึก

: วิเศษกว่ามีต้นกัลปพฤกษ์อยู่สี่มุมเมือง

—————-

(ได้คำมาจากการชี้นำของคุณครู Charanya Deeboonmee Na Chumphae)

#บาลีวันละคำ (1,948)

9-10-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย