ภัตตราหาร (บาลีวันละคำ 1,946)
ภัตตราหาร
บกพร่องโดยสุจริต
คำที่ถูกต้องคือ “ภัตตาหาร”
แยกศัพท์เป็น ภัตต + อาหาร
(๑) “ภตฺต” (พัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ภชฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา) + ต ปัจจัย, แปลง ชฺ เป็น ตฺ
: ภชฺ + ต = ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของเป็นเครื่องเสพ”
(2) ภุชฺ (ธาตุ = กลืนกิน, ใช้สอย) + ต ปัจจัย, แปลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น อ (ภุ > ภ), แปลง ชฺ เป็น ตฺ
: ภุชฺ + ต = ภุชต > ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของที่จะพึงกลืนกิน”
“ภตฺต” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง อาหาร, ของบำรุงเลี้ยงร่างกาย, อาหารที่เป็นมื้อ, การเลี้ยง (food, nourishment, meal, feeding)
“ภตฺต” ใช้ในภาษาไทย ตัด ต ออกตัวหนึ่งเป็น “ภัต” และแผลง ตต เป็น ตร เป็น “ภัตร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภัต, ภัต-, ภัตร : (คำนาม) อาหาร, ข้าว. (ป. ภตฺต).”
(๒) “อาหาร”
บาลีอ่านว่า อา-หา-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง, กลับความ) + หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (หรฺ > หาร)
: อา + หรฺ = อาหรฺ + ณ = อาหรณ > อาหร > อาหาร แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่นำมาซึ่งกำลังและอายุ” (2) “สิ่งที่นำมาซึ่งรูปกาย” (3) “สิ่งที่นำมาซึ่งผลของตน”
หมายเหตุ “อา” อุปสรรค ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ” คือ หรฺ ธาตุ = นำไป อาหร กลับความ = นำมา
“อาหาร” (ปุงลิงค์) หมายถึง สิ่งที่บำรุงเลี้ยงร่างกาย, สิ่งที่ค้ำจุน, อาหาร, อาหารบำรุงกำลัง (feeding, support, food, nutriment)
“อาหาร” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาหาร : (คำนาม) ของกิน, เครื่องคํ้าจุนชีวิต, เครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต, เช่น อาหารเช้า อาหารปลา อาหารนก; โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น อาหารตา อาหารใจ. (ป., ส.).”
การประสมคำ :
ตามรูปบาลี ภตฺต + อาหาร = ภตฺตาหาร (พัด-ตา-หา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “อาหารคือภัต” “อาหารคือข้าว”
“ภตฺตาหาร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ภัตตาหาร” (พัด-ตา-หาน)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภัตตาหาร : (คำนาม) อาหารสําหรับภิกษุสามเณรฉัน. (ป. ภตฺต + อาหาร).”
ข้อสังเกต :
๑ “ภตฺต” ในภาษาไทยถ้าใช้เดี่ยวๆ ตัด ต ออกตัวหนึ่ง เป็น “ภัต” หรือแผลงตามรูปสันสกฤตเป็น “ภัตร”
๒ แต่ในกรณีที่สมาสกับคำอื่นและคำหลังที่มาสมาสขึ้นต้นด้วยสระ อ– หรือ อา– ให้คง ต ไว้ทั้ง 2 ตัว เช่นในที่นี้คำหลังคือ “อาหาร” ขึ้นต้นด้วยสระ อา คง ต ไว้ทั้ง 2 ตัว จึงเป็น “ภัตตาหาร” ไม่ใช่ “ภัตาหาร”
๓ ในกรณีที่สมาสกับคำอื่น “ภตฺต” มักคงรูปเป็นบาลี คือ “ภัต-” หรือ “ภัตต-” ไม่แผลงเป็น “ภัตร-” คือเป็น “ภัตตาหาร” ไม่มีที่เป็น “ภัตราหาร” หรือ “ภัตตราหาร” (ดูคำที่เขียนผิดในภาพประกอบ)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: กินเพื่ออยู่ เป็นที่รู้กันทั่วไป
: แต่อยู่เพื่ออะไร ถามใจดูให้ดีๆ
————-
(รับฝากภาพและคำมาจากท่านอาจารย์ Chachapon Jayaphorn ตั้งแต่ปี 2558)
#บาลีวันละคำ (1,946)
7-10-60