บาลีวันละคำ

พุทธนิติ (บาลีวันละคำ 1,949)

พุทธนิติ

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ อย่างเดียวท่าจะไม่พอ

อ่านตามประสงค์ว่า พุด-ทะ-นิ-ติ

ประกอบด้วยคำว่า พุทธ + นิติ

(๑) “พุทธ

บาลีเขียน “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น ทฺธ)

: พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้

พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –

(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง

(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย

(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธ” ว่า –

One who has attained enlightenment; a man superior to all other beings, human & divine, by his knowledge of the truth, a Buddha (ผู้ตรัสรู้, ผู้ดีกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาด้วยความรู้ในสัจธรรมของพระองค์, พระพุทธเจ้า)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พุทธ, พุทธ-, พุทธะ : (คำนาม) ผู้ตรัสรู้, ผู้ตื่นแล้ว, ผู้เบิกบานแล้ว, ใช้เฉพาะเป็นพระนามของพระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา เรียกเป็นสามัญว่า พระพุทธเจ้า. (ป.).”

ในที่นี้ “พุทธ” หมายถึง พระพุทธศาสนา

(๒) “นิติ

บาลีเป็น “นีติ” (นี-ติ, โปรดสังเกตว่า บาลีเป็น นี- ไม่ใช่ นิ-) รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = บรรลุ, ถึง) + ติ ปัจจัย

: นี + ติ = นีติ แปลตามศัพท์ว่า “ข้อบัญญัติเป็นเครื่องบรรลุ” “เครื่องนำไปให้บรรลุ” หมายถึง กฎหมาย, กฎ, แบบแผน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นีติ” ว่า guidance, practice, conduct, right conduct, propriety; statesmanship, polity (การนำทาง, การปฏิบัติ, ความประพฤติ, ความประพฤติที่ถูกต้อง, การทำที่เหมาะที่ควร; การใช้วิธีปกครอง, การปกครองประชาชน)

นีติ” นิยมใช้ในภาษาไทยเป็น “นิติ

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “นิติ” เรามักเข้าใจกันทั่วไปว่าตรงกับคำอังกฤษว่า law แต่โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ซึ่งฝรั่งชาติอังกฤษเป็นผู้ทำ ไม่ได้แปล นีติ ว่า law

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิติ : (คำนาม) นีติ, กฎหมาย, กฎปฏิบัติ, แบบแผน, เยี่ยงอย่าง, ขนบธรรมเนียม, ประเพณี, วิธีปกครอง, เครื่องแนะนํา, อุบายอันดี. (ป., ส. นีติ).”

พุทธ + นิติ = พุทธนิติ แปลตามประสงค์ว่า กฎหมายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา หรือกฎหมายที่มีผลกระทบถึงพระพุทธศาสนา

พุทธนิติ” เป็นคำที่มีผู้คิดขึ้นใช้เรียกบรรดากฎหมายและระเบียบของทางราชการหรือหลักเกณฑ์ทั่วไปที่สังคมกำหนดขึ้นซึ่งเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาโดยตรงหรือที่มีผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาในด้านต่างๆ

เหตุที่มีการคิดถึงเรื่องนี้น่าจะเป็นเพราะในปัจจุบันมีกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งของทางราชการเป็นจำนวนมากที่เกี่ยวข้องหรือที่มีผลกระทบต่อวัด ต่อพระสงฆ์และคณะสงฆ์เป็นส่วนรวม แต่ปรากฏว่าผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือตัวพระสงฆ์เองและบุคลากรฝ่ายวัดมักไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ หรือเข้าใจไม่ดีพอ เมื่อเกิดกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นอันเกี่ยวข้องกับกฎหมายหรือระเบียบเหล่านั้น จึงทำให้วัด พระสงฆ์ หรือคณะสงฆ์เสียประโยชน์อันจะพึงได้ บางกรณีทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ด้วยเหตุนี้ จึงมีแนวความคิดที่จะให้พระสงฆ์และบุคลากรฝ่ายวัดมีความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมาย และใช้ความรู้ความเข้าใจนั้นรักษาผลประโยชน์ของพระศาสนา ตลอดจนรักษาตัวพระศาสนาเองให้ดำรงมั่นคงสืบไป

…………..

ในนิติรัฐ คือบ้านเมืองที่ทุกอย่างอิงหลักกฎหมาย หรือ “กฎหมายคือพระเจ้า” อย่างเมืองไทยของเรานี้ ถ้าผู้บริหารการคณะสงฆ์รู้ไม่เท่าทันเล่ห์กลทางกฎหมาย อาจจะตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่งแล้วปรากฏว่า วัดในพระพุทธศาสนาถูกกฎหมายประกาศยุบเลิกไปหมดแล้วทั้งประเทศ-ก็เป็นได้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ที่ใดกฎหมายใหญ่กว่าธรรมะ

: ที่นั้นขยะย่อมหอมกว่าดอกบัว

#บาลีวันละคำ (1,949)

10-10-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย