เรื่องสั้นของทองย้อย

ดอกเบี้ยตามเนื้อผ้า

 

๑ พัฒน์ 

ผมรู้จักอาจารย์สอนตอนทำงานที่มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ ตอนนั้นผมทำหน้าที่บริการทั่วไป (ก็คล้ายๆ นักการภารโรงนั่นแหละ) อาจารย์สอนสอนให้ผมหัดอ่านอักษรขอม จนผมอ่านได้คล่อง ผู้จัดการมูลนิธิเลยเปลี่ยนงานให้ผมทำหน้าที่เป็นนักปริวรรตอักษรขอมเป็นไทย เรียกว่าอาจารย์สอนช่วยเลื่อนฐานะให้ผมโดยแท้

ต่อมาอาจารย์สอนลาออกจากมูลนิธิฯ ไปสอบเข้ารับราชการที่หอสมุดแห่งชาติ ทำงานที่หอสมุดพักใหญ่ก็ไปสอบเข้าเป็นอนุศาสนาจารย์ทหารเรือ

ผมมาเจออาจารย์สอนอีกทีก็เมื่อตอนท่านเกษียณจากกองทัพเรือแล้ว จากนั้นก็ไปมาหาสู่พบปะกันบ้างเป็นครั้งคราว

ผมเจออาจารย์สอนครั้งสุดท้ายก่อนท่านเสียชีวิต ๗ วัน 

ก่อนหน้านั้น อาจารย์สอนมาที่บ้านผม ท่าทางเงียบขรึม 

“คุณพัฒน์มีเงินติดตัวสักหมื่นหนึ่งไหม?” อาจารย์สอนถาม 

“น่าจะพอมีบ้างครับ แต่ไม่ถึงหมื่น อาจารย์จะเอาไปทำอะไรครับ”

“ผมกำลังเดือดร้อน” อาจารย์สอนตอบไม่ตรงคำถาม “ถ้าคุณไม่ว่าอะไร ผมขอยืมก่อน แต่อยากได้ครบหมื่น คุณพอจะไปหาที่ไหนใกล้ๆ นี้มาให้ผมก่อนได้ไหม ผมต้องได้วันนี้เดี๋ยวนี้ด้วย” 

“ผมมีติดตัวอยู่หกพันเท่านั้นเอง เดี๋ยวจะลองถามพรรคพวกข้างบ้านนี้ดูก่อน” 

พอดีเพื่อนสนิทผมบ้านอยู่ใกล้กัน ผมไปบอกขอยืมสี่พัน เพื่อนก็ให้มา ผมเอามารวมกับของผมยื่นให้อาจารย์สอน 

อาจารย์สอนล้วงซองสีน้ำตาลออกมาจากกระเป๋า เอาเงินทั้งหมดใส่ซอง ปิดผนึก แล้วให้ผมเซ็นชื่อทับรอยผนึก 

“อาจารย์ครับ ยังไงละก็.. เกรงใจเพื่อนมัน.. อาจารย์ช่วยเอามาคืนเร็วๆ หน่อยนะครับ” ผมบอกด้วยความเกรงใจ 

“ขอบคุณมากคุณพัฒน์” อาจารย์สอนบอก “อีก ๓ วันผมเอามาคืน พร้อมดอกเบี้ยตามเนื้อผ้า” 

ตอนนั้นผมเข้าใจว่าอาจารย์สอนท่านพูดตลกเล่น จึงไม่ได้ตอบอะไร

—————–

๒ รัตนา 

——–

ฉันรู้จักอาจารย์สอนเป็นครั้งแรกที่หอสมุดแห่งชาติ 

อาจารย์สอนมารายงานตัวเข้ารับราชการในตำแหน่งนักภาษาโบราณ ฉันเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการจึงเป็นคนพาอาจารย์สอนเข้าพบผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ แล้วพาไปที่แผนกบริการหนังสือภาษาโบราณซึ่งอยู่ที่ชั้น ๔ ของอาคารหอสมุด นั่นเป็นที่ทำงานของอาจารย์สอน 

จากวันนั้นเราก็เจอหน้ากันทุกวันงานและคุ้นกันอย่างรวดเร็ว สาเหตุหนึ่งก็คือเราเป็นคนราชบุรีบ้านเดียวกัน อาจารย์สอนเป็นคนปากท่อ ส่วนฉันอยู่อำเภอเมือง

ฉันทราบมาว่าอาจารย์สอนเคยทำงานที่มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ มูลนิธินี้เคยมายืมคัมภีร์อักษรขอมที่หอสมุดบ่อยๆ นี่ก็น่าจะเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้เราคุ้นกันเป็นพิเศษ

ฉันพักในกรุงเทพฯ นานๆ จึงจะกลับราชบุรี แต่อาจารย์สอนไป-กลับราชบุรี-กรุงเทพฯ ทุกวันงาน

อาจารย์สอนอยู่หอสมุดได้ราวๆ ๓ ปี ก็ลาออก บอกว่าพรรคพวกชวนให้ไปสมัครสอบเป็นอนุศาสนาจารย์กองทัพเรือ

ลืมบอกไปว่าอาจารย์สอนเรียนทางพระ จบเปรียญธรรม ๙ ประโยค ซึ่งเป็นวุฒิการศึกษาที่กระทรวงกลาโหมรับรองให้สมัครสอบเป็นอนุศาสนาจารย์ได้ทั้ง ๓ เหล่าทัพ

นับจากนั้นเราก็ไม่ได้เจอกันอีกเป็นเวลานานมาก จนฉันเกษียณอายุราชการแล้วกลับไปอยู่ราชบุรี

วันหนึ่งก็ได้เจออาจารย์สอนโดยบังเอิญ อาจารย์สอนบอกว่าเกษียณจากกองทัพเรือมาเกือบ ๑๐ ปีแล้ว ได้ยศทหารเรือเป็น “นาวาเอก” 

วันที่เจออาจารย์สอนนั้นอาจารย์บอกว่าเดินไปสอนบาลีที่วัดแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้าน จากบ้านไปวัดต้องผ่านตลาดราชบุรี บ้านฉันอยู่ในตลาด ก็เลยได้เจอกัน

ฉันชวนอาจารย์สอนแวะบ้าน อาจารย์สอนเก่งทางแต่งกาพย์กลอน ฉันรู้ตั้งแต่สมัยอยู่หอสมุดด้วยกัน 

พอดีหลานสาวของฉันกำลังเรียนชั้นมัธยม วิชาภาษาไทยต้องเรียนแต่งคำประพันธ์ด้วย เลยถือโอกาสให้อาจารย์สอนช่วยแนะนำ 

อาจารย์สอนยินดีแนะนำหลักการแต่งกลอนให้ คอยช่วยตรวจแก้บทกลอนที่ฝึกแต่ง จนหลานฉันสอบได้คะแนนสูงสุดในวิชาภาษาไทย 

วันหนึ่งอาจารย์สอนแวะมาที่บ้าน-ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่วันนั้นไม่สู้จะปกติ อาจารย์สอนหน้าขรึม พอมีจังหวะพูดกันเงียบๆ อาจารย์สอนก็ถามฉันว่า 

“คุณรัตนาพอจะมีเงินสักหมื่นไหมครับ?” 

“ทำไมหรือคะ?” ฉันมองหน้าอาจารย์สอนแบบไม่คาดคิด

“ผมกำลังเดือดร้อนเล็กน้อย” อาจารย์สอนตอบและไม่หลบตา

พอดีตอนนั้นฉันสะสมเงินไว้จำนวนหนึ่ง ตั้งใจเก็บไว้ร่วมบุญกฐินกับเพื่อนซึ่งไปจองกฐินไว้ที่วัดข้างบ้าน 

ดูสีหน้าแววตาอาจารย์สอนแล้วฉันเชื่อว่าท่านคงเดือดร้อนจริง 

ฉันคิดไปถึงเรื่องที่อาจารย์สอนติววิชาภาษาไทยให้หลานอย่างตั้งใจติดต่อกันเป็นเวลานาน 

คิดต่อไปว่า เอาเงินที่เก็บไว้ทำบุญกฐินกับเพื่อนมาสงเคราะห์อาจารย์สอนก่อน ก็น่าจะเป็นบุญไม่แพ้กัน

ฉันลุกไปหยิบซองเงินกฐินมานับดู มีเงินเก็บไว้ในซองฎีกากฐินได้หมื่นหนึ่งพอดิบพอดี ฉันเอามาส่งให้อาจารย์สอนทั้งซองกฐิน 

อาจารย์สอนนับครบแล้วก็ผนึกซองกฐิน แล้วล้วงซองสีน้ำตาลออกมาจากกระเป๋า เอาซองกฐินใส่ในซองสีน้ำตาลอีกทีหนึ่ง ปิดผนึก แล้วให้ฉันเซ็นชื่อทับรอยผนึก ฉันก็เซ็นอย่างงงๆ นึกว่าอาจารย์สอนท่านทำอะไรแปลกดี

ฉันมองหน้าอาจารย์สอนแล้วตัดสินใจพูดว่า “อาจารย์คะ อาจารย์อย่าคิดยังงั้นยังงี้นะคะ เงินนี้อาจารย์ไม่ต้องกังวลเอามาคืนดิฉัน ถ้าอาจารย์จะกรุณารับไว้ในฐานะเป็นค่าบูชาครู ดิฉันจะยินดีมากๆ”

“โอ้! ไม่ได้หรอกครับ” อาจารย์สอนรีบบอก “ผมตั้งใจมายืม แล้วก็ตั้งใจเอามาใช้คืนด้วย คุณรัตนาไม่ต้องวิตกนะครับ”

ก่อนกลับ อาจารย์สอนย้ำกับฉันว่า “ขอบคุณมากคุณรัตนา อีก ๓ วันผมเอามาคืน พร้อมดอกเบี้ยตามเนื้อผ้า” 

ตอนนั้นฉันไม่เข้าใจเลยว่าอาจารย์สอนหมายถึงอะไร 

—————–

๓ คงเดช 

——–

ผมรู้จักอาจารย์สอนเป็นครั้งแรกตอนผมเป็นจ่าตรีใหม่ๆ

อาจารย์สอนไปอบรมศีลธรรมที่หน่วยผม-คือกรมสื่อสารทหารเรือ ตอนนั้นอาจารย์สอนเป็นอนุศาสนาจารย์ ยศดูเหมือนจะเรือโทหรือเรือเอกนี่แหละ

ผมอยู่สถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือ หรือที่คนรู้จักกันในนาม ส.ทร. ทำหน้าที่จัดรายการ 

เรื่องที่จะได้เกี่ยวข้องกับอาจารย์สอนก็คือ พอถึงวันสำคัญเช่นวันเฉลิมพระชนม์พรรษา ผมจะต้องหาบทกลอนถวายพระพรมาอ่านออกอากาศ ผมเห็นชื่ออาจารย์สอนแต่งกลอนลงใน “นาวิกศาสตร์” เป็นประจำ ก็เลยขอรับการสนับสนุนให้อาจารย์สอนแต่งกลอนถวายพระพร ตลอดจนกลอนในวันสำคัญอื่นๆ อาจารย์สอนก็แต่งให้เป็นอันดี

ผมทราบมาว่าก่อนมาเป็นทหารเรือ อาจารย์สอนทำงานที่มูลนิธิแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดสระเกศ แล้วก็ลาออกไปสอบเป็นข้าราชการหอสมุดแห่งชาติ แล้วก็ลาออกมาสอบเข้าทหารเรือ 

ผมรู้สึกว่าคนที่เปลี่ยนงานบ่อยๆ นี่คงจะมีอะไรที่ไม่ค่อยปกตินัก ใครจะมองอาจารย์สอนอย่างไรผมไม่รู้ แต่ผมเอง-บอกตามตรงว่าไม่ค่อยไว้ใจและไม่ชื่นชมสักเท่าไร

ผมเป็นจ่าเอกอยู่ไม่กี่ปีก็สบโอกาสลาออกไปอยู่ อบต. ช่วงนั้นทหารเรือลาออกหรือโอนไปอยู่ อบต. กันมาก ผมได้ตำแหน่งปลัด อบต. ใกล้บ้าน พูดถึงในระดับท้องถิ่นก็นับว่าไม่เบาเท่าไร 

ผมไม่ได้เจออาจารย์สอนเป็นเวลานานมาก ได้ยินแว่วๆ ว่าท่านมีชื่อทางแต่งกาพย์กลอนในกองทัพเรืออยู่พอสมควร 

มาเจออีกทีก็ตอนที่อาจารย์สอนเกษียณแล้ว อาจารย์สอนไปหาผมที่ทำงาน ๒-๓ ครั้ง

ครั้งหลังสุดอาจารย์สอนเอ่ยปากยืมสตางค์ผม!

“เดชพอจะมีเงินให้ยืมสักหมื่นไหม อยู่ อบต.น่าจะเงินดี” 

ผมไม่ค่อยชอบประโยคท้ายของอาจารย์สอนเลย 

“เงินทองเป็นของบาดใจนะครู” ผมพูดทีเล่นทีจริง (ทหารเรือเราจะเรียกนายทหารผู้ใหญ่ว่า “ครู”) 

“ผมรู้” อาจารย์ตอบ “แต่ผมกำลังเดือดร้อนจริงๆ” 

“ตั้งหมื่น ครูจะเอาไปทำอะไร”

“พอดีมีปัญหานิดหน่อย” 

“งั้นครูต้องทำสัญญากู้” ผมพูดแบบไม่เกรงใจ

“ยังไงก็ได้” อาจารย์สอนบอกเรียบๆ “เอาแบบที่เดชพอใจ” 

ผมเอาสัญญากู้เงินมาให้อาจารย์สอนเซ็น “ผมต้องหักดอกไว้ก่อนด้วยนะครู” 

“เอางั้นเลยรึ” 

“คนเดี๋ยวนี้ไว้ใจกันไม่ค่อยได้ ครูจะเอาไปกี่วัน” 

“อ๋อ แค่ ๓ วันเอง”

“ถ้างั้นผมหักดอกไว้วันละพัน” 

“โหดหน่อยนะ แต่เอาเถอะ ตามที่เดชพอใจ” 

ผมนับเงินให้อาจารย์สอน ๗,๐๐๐ 

อาจารย์สอนล้วงซองสีน้ำตาลออกมาจากกระเป๋า เอาเงินใส่ซอง ปิดผนึก แล้วให้ผมเซ็นชื่อทับรอยผนึก “เป็นหลักฐานเพื่อให้เดชมั่นใจ”

“อีก ๓ วันผมเอามาคืน พร้อมดอกเบี้ยตามเนื้อผ้า” อาจารย์สอนบอกก่อนจากกัน

ผมฟังไปยังงั้นเอง แต่รู้สึกดูถูกอยู่ในใจ คนเราถ้าลงเที่ยวยืมเงินชาวบ้านแบบนี้ก็หมดท่าแล้ว

—————–

๔ พัฒน์ 

——–

๓ วันหลังจากนั้น อาจารย์สอนก็มาหาผมพร้อมกับยื่นซองสีน้ำตาลขนาดกลางให้ผม พร้อมกับพูดว่า 

“เงินที่ผมยืมพัฒน์ไปอยู่ในซองนี้ แต่ผมขอร้องอะไรอย่างหนึ่ง อย่าเพิ่งเปิดซองจนกว่าจะพ้น ๓ วันไปแล้ว” 

“มีอะไรเป็นความลับหรือครับ” ผมถามยิ้มๆ รู้สึกว่าอาจารย์สอนทำอะไรแปลกๆ 

“ไม่ใช่ความลับอะไร แต่ขอร้องให้ทำตามที่ผมว่าถ้าคุณไว้ใจผม” 

“ก็ได้ครับอาจารย์” ผมตอบ

—————–

๕ รัตนา 

——–

๓ วันหลังจากนั้น อาจารย์สอนก็มาหาฉันพร้อมกับยื่นซองสีน้ำตาลขนาดกลางให้ฉัน พร้อมกับพูดว่า 

“เงินที่ผมยืมคุณรัตนาไปอยู่ในซองนี้ แต่ผมขอร้องอะไรอย่างหนึ่ง อย่าเพิ่งเปิดซองจนกว่าจะพ้น ๓ วันไปแล้ว” 

“มีอะไรเป็นความลับหรือคะอาจารย์” ฉันถามยิ้มๆ รู้สึกว่าอาจารย์สอนทำอะไรแปลกๆ 

“ไม่ใช่ความลับอะไร แต่ขอร้องให้ทำตามที่ผมว่าถ้าคุณรัตนาไว้ใจผม” 

“ไว้ใจอย่างยิ่งค่ะอาจารย์” ฉันตอบ

—————–

๖ คงเดช 

——–

๓ วันหลังจากนั้น อาจารย์สอนก็มาหาผมพร้อมกับยื่นซองสีน้ำตาลขนาดกลางให้ผม พร้อมกับพูดว่า 

“เงินที่ผมยืมเดชไปอยู่ในซองนี้ แต่ผมขอร้องอะไรอย่างหนึ่ง อย่าเพิ่งเปิดซองจนกว่าจะพ้น ๓ วันไปแล้ว” 

“มีอะไรเป็นความลับหรือครับครู” ผมถาม รู้สึกว่าอาจารย์สอนทำอะไรมีพิรุธชอบกล 

“ไม่ใช่ความลับอะไร แต่ขอร้องให้ทำตามที่ผมว่าถ้าเดชไว้ใจผม” 

“ก็ได้ครับครู” ผมตอบทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้สึกไว้ใจเลย

—————–

๗ พัฒน์ 

——–

เช้าวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๑ ซึ่งครบ ๓ วันไปตั้งแต่เมื่อวาน ผมได้รับโทรศัพท์จากหมายเลขที่ผมไม่รู้จัก 

“เมื่อวานคุณพัฒน์ไปเผาศพอาจารย์สอนหรือเปล่า? อาจารย์สอนที่เคยอยู่มูลนิธิภูมิพโลภิกขุน่ะ”

“อ้าว! อาจารย์สอนตายแล้วรึ?”

“ตายแล้ว สวด ๓ วัน เผาไปเมื่อวานนี้ที่วัดมหาธาตุ” 

บอกเท่านั้นแล้วทางปลายสายก็วางหู 

ผมตกใจมาก นึกถึงซองสีน้ำตาลที่อาจารย์สอนเอาเงินมาคืนและบอกว่าอย่าเพิ่งเปิดจนกว่าจะพ้น ๓ วัน

ผมรีบไปหยิบซองสีน้ำตาลมาเปิดทันที 

ข้างในมีซองสีน้ำตาล ๒ ซอง ซองหนึ่งคือซองใส่เงินที่ผมให้อาจารย์สอนยืมไป มีลายเซ็นผมบนรอยผนึก

ซองนั้นไม่มีร่องรอยว่าได้ถูกเปิดแต่ประการใด ลายเซ็นบนรอยผนึกยังคงเรียบร้อยดีเหมือนเมื่อวันที่ผนึก เมื่อผมเปิดออกดูก็พบว่าเงินหนึ่งหมื่นบาทยังอยู่ในนั้นครบถ้วน 

ในซองสีน้ำตาลอีกซองหนึ่งมีสลากกินแบ่งงวดประจำวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๑ ๒ ใบ เลขบนสลากคือ 074255 เหมือนกันทั้ง ๒ ใบ 

—————–

๘ รัตนา 

——–

เช้าวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๑ ซึ่งครบ ๓ วันไปตั้งแต่เมื่อวาน ฉันได้รับโทรศัพท์จากหมายเลขที่ฉันไม่รู้จัก 

“เมื่อวานคุณรัตนาไปเผาศพอาจารย์สอนหรือเปล่า? อาจารย์สอนที่เคยอยู่หอสมุดแห่งชาติน่ะ”

“อ้าว! อาจารย์สอนเสียแล้วรึคะ?”

“เสียแล้ว สวด ๓ วัน เผาไปเมื่อวานนี้ที่วัดมหาธาตุ” 

บอกเท่านั้นแล้วทางปลายสายก็วางหู 

ฉันตกใจมาก นึกถึงซองสีน้ำตาลที่อาจารย์สอนเอาเงินมาคืนและบอกว่าอย่าเพิ่งเปิดจนกว่าจะพ้น ๓ วัน

ฉันรีบไปหยิบซองสีน้ำตาลมาเปิดทันที 

ข้างในมีซองสีน้ำตาล ๒ ซอง ซองหนึ่งคือซองใส่เงินที่ฉันให้อาจารย์สอนยืมไป มีลายเซ็นฉันบนรอยผนึก

ซองนั้นไม่มีร่องรอยว่าได้ถูกเปิดแต่ประการใด ลายเซ็นบนรอยผนึกยังคงเรียบร้อยดีเหมือนเมื่อวันที่ผนึก เมื่อฉันเปิดออกดูก็พบว่าข้างในเป็นซองฎีกากฐินที่ฉันใส่เงินไว้และให้อาจารย์สอนไป เงินหนึ่งหมื่นบาทยังอยู่ในนั้นครบถ้วน 

ในซองสีน้ำตาลอีกซองหนึ่งมีสลากกินแบ่งงวดประจำวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๑ ๓ ใบ เลขบนสลากคือ 709720 เหมือนกันทั้ง ๓ ใบ 

—————–

๙ คงเดช 

——–

เช้าวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๑ ซึ่งครบ ๓ วันไปตั้งแต่เมื่อวาน ผมได้รับโทรศัพท์จากหมายเลขที่ผมไม่รู้จัก 

“เมื่อวานคุณคงเดชไปเผาศพอาจารย์สอนหรือเปล่า? อาจารย์สอนที่เคยเป็นอนุศาสนาจารย์ทหารเรือน่ะ”

“อ้าว! ครูสอนตายแล้วรึ?”

“ตายแล้ว สวด ๓ วัน เผาไปเมื่อวานนี้ที่วัดมหาธาตุ” 

บอกเท่านั้นแล้วทางปลายสายก็วางหู 

ผมตกใจมาก นึกถึงเงินที่ให้อาจารย์สอนยืมไป และนึกถึงซองสีน้ำตาลที่อาจารย์สอนเอาเงินมาคืนและบอกว่าอย่าเพิ่งเปิดจนกว่าจะพ้น ๓ วัน

ผมรีบไปหยิบซองสีน้ำตาลมาเปิดทันที 

ข้างในมีซองสีน้ำตาล ๓ ซอง ซองหนึ่งคือซองใส่เงินที่ผมให้อาจารย์สอนยืมไป มีลายเซ็นผมบนรอยผนึก

ซองนั้นไม่มีร่องรอยว่าได้ถูกเปิดแต่ประการใด ลายเซ็นบนรอยผนึกยังคงเรียบร้อยดีเหมือนเมื่อวันที่ผนึก เมื่อผมเปิดออกดูก็พบว่าเงิน ๗,๐๐๐ บาทยังอยู่ในนั้นครบถ้วน 

ซองสีน้ำตาลอีกซองหนึ่งมีธนบัตรฉบับราคา ๑,๐๐๐ บาทใหม่เอี่ยม ๓ ฉบับ 

ในซองสีน้ำตาลอีกซองหนึ่งมีสลากกินแบ่งงวดประจำวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๑ ๑ ใบ เลขบนสลากคือ 734726 

—————–

บ่ายวันนั้น ผลการออกสลากกินรัฐบาลแบ่งงวดประจำวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๑ ปรากฏว่า

รางวัลที่ ๒ (เงินรางวัลละสองแสน) เลขที่ออกหมายเลขหนึ่งคือ 709720 

รางวัลที่ ๕ (เงินรางวัลละสองหมื่น) เลขที่ออกหมายเลขหนึ่งคือ 074255 

และเลขท้าย ๒ ตัว (เงินรางวัลละสองพัน) ออก 26

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๑

๑๓:๐๐

สลากกินแบ่งงวดประจำวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๑

รางวัลที่ ๑ 734510 หกล้าน

รางวัลที่ ๒ 709720 สองแสน

รางวัลที่ ๕ 074255 สองหมื่น

เลขท้าย ๒ ตัว 26 สองพัน

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *