บาลีวันละคำ

นวัตกรรม (บาลีวันละคำ 1,204)

นวัตกรรม

อ่านว่า นะ-วัด-ตะ-กำ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

นวัตกรรม : (คำนาม) สิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิมซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการ หรืออุปกรณ์ เป็นต้น. (ป. นวต + ส. กรฺม; อ. innovation).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

นวัตกรรม : (คำนาม) การกระทำหรือสิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิมซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการ หรืออุปกรณ์ เป็นต้น. (ป. นวตา + ส. กรฺม; อ. innovation).”

ดูที่มาของคำ พจน.42 บอกว่ามาจากบาลี นวต + สันสกฤต กรฺม

แต่ พจน.54 บอกว่ามาจากบาลี นวตา + สันสกฤต กรฺม

พจน.42 บอกว่า คำนี้มาจาก นวต (คำบาลี) + กรฺม (คำสันสกฤต)

ตรวจดูในพจนานุกรมบาลี ไม่พบศัพท์ “นวต

สืบค้นในคัมภีร์ก็ยังไม่พบศัพท์ว่า “นวต” เช่นเดียวกัน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีศัพท์ว่า “นวต” บอกไว้ดังนี้ –

นวต : (คำนาม) หัสดินาทานอันระบายสี, เครื่องช้างอันระบายสี; an elephant’s painted housings.”

เห็นได้ว่าเป็นคนละคำกัน

ดูความหมายตามพจนานุกรมฯ ที่ว่า “สิ่งที่ทำขึ้นใหม่” ชวนคิดถึงศัพท์บาลีว่า “นวกมฺม” (นะ-วะ-กำ-มะ)

นวกมฺม” ประกอบด้วย นว (ใหม่) + กมฺม (การกระทำ) = นวกมฺม แปลตามศัพท์ว่า “การทำขึ้นใหม่” หมายถึง การสร้างใหม่, การซ่อมแซม, การบูรณะ, การซ่อมแต่ง (building new, making repairs, doing up, mending)

นวกมฺม เขียนแบบไทยเป็น “นวกรรม” (นะ-วะ-กำ)

ผู้เขียนบาลีวันละคำจำได้ว่า เมื่อคำ “นวัตกรรม” ปรากฏขึ้นใหม่ๆ มีผู้วิจารณ์ในเชิงสงสัยว่า ทำไมจึงไม่ใช้ “นวกรรม” และ “นวัตกรรม” มาจากคำอะไร

เรื่องที่น่าเสียดายอย่างหนึ่งก็คือ คนส่วนมาก (รวมทั้งผู้เขียนบาลีวันละคำด้วย) ไม่มีโอกาสได้ทราบว่า ศัพบัญญัติแต่ละคำท่านผู้บัญญัตินำคำนั้นๆ มาจากไหน และมีเหตุผลอย่างไรจึงใช้รูปคำเช่นนั้นๆ

……..

ต่อไปนี้เป็นการเดาสืบตามแนวที่พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า “นวัตกรรม” บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า innovation

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล innovation ว่า เปลี่ยนแปลงใหม่

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล innovation เป็นบาลีว่า –

(1) navattapāpaṇa นวตฺตปาปณ (นะ-วัด-ตะ-ปา-ปะ-นะ) = ทำให้ประลุถึงความแปลกใหม่

(2) navācāra นวาจาร (นะ-วา-จา-ระ) = ดำเนินไปในแนวทางใหม่

เฉพาะคำ “นวตฺตปาปณ” มาจาก นวตฺต (ความใหม่) + ปาปณ (การทำให้ถึง)

นวตฺต” มาจาก นว (ใหม่) + ตฺต (อ่านว่า ตะ-ตะ) ปัจจัย เป็นปัจจัยในภาวตัทธิต แปลว่า “ความเป็น-”

: นว + ตฺต = นวตฺต (นะ-วัด-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นสิ่งใหม่” หรือ “ความแปลกใหม่

: นวตฺต + ปาปณ = นวตฺตปาปณ แปลว่า “การทำให้ถึงความใหม่

ถ้าเอา นวตฺต + กมฺม = นวตฺตกมฺม เขียนแบบไทยเป็น “นวัตตกรรม

นวัตต” ตัดตัวซ้อนออกเสียตัวหนึ่งตามหลักนิยมของภาษาไทย : นวตฺต > นวัตต > นวัต > นวต

นี่กระมังคือที่ พจน.42 บอกว่า “นวัตกรรม” มาจากบาลี นวต + กรฺม สันสกฤต

อาศัยแนวเทียบนี้ ที่ พจน.54 บอกว่า “นวัตกรรม” มาจากบาลี นวตา + กรฺม สันสกฤต ก็เข้าใจง่ายขึ้น “นวตา” ก็คือ นว + ตา ปัจจัย เป็นปัจจัยในภาวตัทธิตเช่นเดียวกัน แปลว่า “ความเป็น-”

: นว + ตา = นวตา (นะ-วะ-ตา) แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นสิ่งใหม่” หรือ “ความแปลกใหม่

นวตา + กรฺม รัสสะ อา ที่ ตา เป็น อะ (ตา > )

: นวตา + กรฺม = นวตากรฺม > นวตกรฺม > นวัตกรรม แปลตามศัพท์ว่า “การทำให้เป็นความใหม่

……..

ถ้าการเดาสืบนี้ถูกต้อง ขอมอบเป็นอาจริยบูชาแด่ครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนวิชาภาษาบาลีให้แก่ผู้เขียน

แต่ถ้าเป็นการเดาผิด ย่อมเป็นความโง่เขลาเบาปัญญาของผู้เขียนโดยส่วนเดียว

……..

คำว่า “นวัตกรรม” คนจำพวกหนึ่งชอบพูดว่า “นวัตกรรมใหม่” หรือ “นวัตกรรมใหม่ๆ

ความจริง “นวัตกรรม” ก็หมายถึงการทำอะไรใหม่ๆ อยู่แล้ว “นวัตกรรมใหม่” จึงเป็นการใช้คำซ้ำความหมายอีกคำหนึ่งในภาษาไทย

ไม่แน่ว่าต่อไปอาจจะมีการกำหนดความหมายขึ้นใหม่ว่า “นวัตกรรม” มี 2 อย่าง คือ :

– “นวัตกรรมใหม่” หมายถึงสิ่งที่ประดิษฐ์คิดทำขึ้นใหม่ในปัจจุบันวันนี้

– “นวัตกรรมเก่า” หมายถึงสิ่งที่ประดิษฐ์คิดทำขึ้นใหม่ในอดีต แต่ปัจจุบันวันนี้ไม่ถือว่าใหม่อีกแล้ว

: จะตัดสินดี อย่าดูที่ความใหม่

: จะตัดสินใคร ดูกันที่ความดี

15-9-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย