ปัจจัยนาค (บาลีวันละคำ 2,099)
ปัจจัยนาค
ผู้เป็นต้นเหตุ
(คำในชุดนามานุกรมเวสสันดรชาดก)
อ่านว่า ปัด-ไจ-ยะ-นาก
ประกอบด้วยคำว่า ปัจจัย + นาค
(๑) “ปัจจัย”
บาลีเป็น “ปจฺจย” (ปัด-จะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก ปฏิ หรือ ปติ (เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลง ปฏิ เป็น ปจฺจ หรืออีกนัยหนึ่ง แปลง อิ ที่ ปติ เป็น ย, แปลง ตย (คือ ปตย) เป็น ปจฺจ, แปลง อิ ธาตุเป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย
: ปฏิ > ปจฺจ (ปติ > ปตย > ปจฺจ) + อิ > เอ > อย : ปจฺจ + อย + อ = ปจฺจย
พิสูจน์การกลายรูปและเสียง :
ลองออกเสียง ปะ-ติ-อะ-ยะ (ปฏิ + อิ) ทีละพยางค์ช้าๆ แล้วเพิ่มความเร็วขึ้นทีละน้อยจนเร็วที่สุด ปะ-ติ-อะ-ยะ จะกลายเสียงเป็น ปัด-จะ-ยะ ได้ การกลายรูปจึงมาจากธรรมชาติของการกลายเสียงนั่นเอง
“ปจฺจย” (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นแดนอาศัยเป็นไปแห่งผล” “เหตุเป็นเครื่องเป็นไปแห่งผล” มีความหมายว่า –
(1) อาศัย, หันไปพึ่ง, รากฐาน, เหตุ, สาเหตุ (resting on, falling back on, foundation, cause, motive)
(2) สิ่งสนับสนุน, ของที่จำเป็น, ปัจจัย, วิถีทาง, เครื่องค้ำจุน (support, requisite, means, stay)
(3) เหตุผล, วิธี, เงื่อนไข (reason, ground, condition)
(4) เหตุผลสำหรับ, ความเชื่อ, ความมั่นใจ, ความเชื่อมั่น, การเชื่อถือหรืออาศัย (ground for, belief, confidence, trust, reliance)
ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปคือ ปัจจัย, เหตุ, สาเหตุ, ที่พึ่ง, ความช่วยเหลือ ฯลฯ
“ปจฺจย” ภาษาไทยใช้ว่า “ปัจจัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
(1) เหตุอันเป็นทางให้เกิดผล, หนทาง, เช่น การศึกษาเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ความสามารถ, องค์ประกอบ, ส่วนประกอบ, เช่น ปัจจัยในการผลิต, คํา “ปัจจัย” กับ คํา “เหตุ” มักใช้แทนกันได้.
(2) เครื่องอาศัยยังชีพ, เครื่องอาศัยเลี้ยงชีวิตของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา ๔ อย่าง คือ จีวร (ผ้านุ่งห่ม) บิณฑบาต (อาหาร) เสนาสนะ (ที่อยู่) คิลานเภสัช (ยา) รวมเรียกว่า จตุปัจจัย คือ ปัจจัย ๔, โดยปริยายหมายถึงเงินตราก็ได้ (มักใช้แก่ภิกษุสามเณร).
(3) (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) ส่วนเติมท้ายธาตุหรือศัพท์เพื่อแสดงความหมายเป็นต้น. (ป.).
(๒) “นาค”
บาลีอ่านว่า นา-คะ รากศัพท์มาจาก –
(1) นค (ภูเขา) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นศัพท์ คือ อะ ที่ น-(ค) เป็น อา (นค > นาค)
: นค + ณ = นคณ > นค > นาค แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่มองเห็นเป็นเหมือนภูเขา” = ช้าง
(2) น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + คมุ (ธาตุ = ไป, ถึง) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (คมฺ > ค) และลบ กฺวิ, ทีฆะ อะ ที่ น เป็น อา (นค > นาค)
: น + คมฺ = นคมฺ + กฺวิ = นคมกฺวิ > นคม > นค > นาค แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ที่ไปไหนไม่ได้” = ไม้กากะทิง
(3) น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + อคฺค (เลิศ) + อ ปัจจัย, ลบ ค ที่ อคฺค ตัวหนึ่งและทีฆะ อะ เป็น อา (อคฺค > อค > อาค)
: น + อคฺค > อค > อาค = นาค + อ = นาค แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไม่มีผู้ที่เลิศกว่า” = ผู้เลิศ, พระอรหันต์
(3) น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + อาคุ (บาป) + อ ปัจจัย, ลบ อุ ที่ (อา)-คุ (อาคุ > อาค)
: น + อาคุ = นาคุ > นาค + อ = นาค แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไม่ทำบาปกรรม” = นาค, ผู้มุ่งจะบวช
ในที่นี้ “นาค” (ปุงลิงค์) หมายถึง ช้าง
ปจฺจย +นาค = ปจฺจยนาค (ปัด-จะ-ยะ-นา-คะ) แปลว่า “ช้างชื่อปัจจัย”
“ปจฺจยนาค” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปัจจัยนาค” (ปัด-ไจ-ยะ-นาก)
ในคัมภีร์บอกชื่อช้างนี้ว่า ชื่อ “ปัจจัย” เพราะเกิดมาเป็นปัจจัยให้พระเวสสันดรบำเพ็ญทานบารมี ส่วนคำว่า “นาค” แปลว่า “ช้าง” เป็นคำที่เรียกควบกัน ดังจะเรียกในคำไทยว่า “ช้างปัจจัย” จึงใช้คำควบเป็น “ปัจจัยนาค” หรือ “ช้างปัจจัยนาค” บางทีแผลงเป็น “ปัจจัยนาคินทร์” หรือ “ปัจจัยนาเคนทร์” เพื่อให้ได้สัมผัสตามลีลาของร่ายยาว
ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์หิมพานต์ กล่าวถึงกำเนิดช้างปัจจัยนาคไว้ดังนี้ –
…………..
เอกา กเรณุกา
ยังมีนางกุญชรคชาชาติฉัททันต์เถื่อนเที่ยวอยู่ในกลางอากาศ
ก็พาบุตรขาวบริสุทธิ์ดังไกรลาสเลิศล้น
มาไว้ในโรงช้างต้นเป็นมงคลราชคชาธาร
แล้วก็คืนยังสถานวนาเวสม์
สพฺเพ ชนา อันว่าประชาชนชาวพิไชยเชตอุดร
จึงให้ชื่อกุญชรปัจจัยนาเคนทร์
ควรจะเป็นศรีสง่างามพระนคร
เพราะเกิดเป็นปัจจัยแก่พระเวสสันดรมหาสมมติวงศ์
…………..
พระเวสสันดรทรงบริจาคช้างปัจจัยนาคให้แก่แคว้นกาลิงคะอันเนื่องมาจากแคว้นนั้นเกิดข้าวยากหมากแพงฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล
การบริจาคช้างปัจจัยนาคเป็นเหตุให้ชาวเมืองเชตุดรลุกฮือขึ้นประท้วง พระเวสสันดรต้องนิราศจากเมืองไปอยู่เขาวงกต เป็นเหตุให้ได้บำเพ็ญปุตตทาน (ให้ลูกเป็นทาน) และทารทาน (ให้ภริยาเป็นทาน) ในกาลต่อมา นับว่าช้างปัจจัยนาคเป็น “ปัจจัย” แห่งทานบารมีสมนามโดยแท้
ต่อมาเมื่อเหตุวิกฤตผ่านพ้นไปแล้ว แคว้นกาลิงคะก็นำช้างปัจจัยนาคมาคืนให้แก่พระเจ้ากรุงสญชัย (ดังความปรากฏในกัณฑ์มหาราช)
ในตอนกลับชาติ คัมภีร์บอกว่า ช้างปัจจัยนาคกลับชาติมาเกิดเป็นพระมหากัสสปเถระ
…………..
ดูก่อนภราดา!
สองคนนี้ ท่านว่าใครโง่ใครฉลาด
: คนหนึ่ง ใช้พระนิพพานเป็นปัจจัยแสวงหาทรัพย์
: คนหนึ่ง ใช้ทรัพย์เป็นปัจจัยแสวงหาพระนิพพาน
คำตอบไม่มีถูก ไม่มีผิด
มีแต่โง่หรือฉลาดเท่านั้น
—————–
(คำในชุดนี้ได้ความคิดจากคำถามของ วงษ์ชนะ สุรเชษฐ์)
#บาลีวันละคำ (2,099)
12-3-61