บาลีวันละคำ

ทศพล (บาลีวันละคำ 2,102)

ทศพล

อ่านว่า ทด-สะ-พน

ประกอบด้วยคำว่า ทศ + พล

(๑) “ทศ

บาลีเป็น “ทส” (บาลี เสือ สันสกฤต ศาลา) อ่านว่า ทะ-สะ เป็นศัพท์สังขยา (คำที่ใช้นับจำนวน) แปลว่า สิบ (จำนวน 10)

โปรดสังเกตว่า “ทส” บาลีอ่านว่า ทะ-สะ ก็จริง แต่เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย (เป็น “ทศ” รูปสันสกฤต) เราอ่านว่า ทด ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย (อย่างในที่นี้มี “วรรษ” มาสมาส) เราอ่านว่า ทด-สะ- ไม่ใช่ ทะ-สะ-

(๒) “พล

บาลีอ่านว่า พะ-ละ รากศัพท์มาจาก พลฺ (ธาตุ = มีชีวิต, ระวัง, ครอบงำ) + ปัจจัย

: พล + = พล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุอันทำให้มีชีวิตอยู่ได้” “ผู้เฝ้าระวัง” “ผู้ครอบงำศัตรู

พล” ใช้ในความหมาย 2 อย่างคือ –

(1) ความแข็งแรง, พลัง, อำนาจ (strength, power, force)

(2) กองทัพ, กองกำลังทหาร (an army, military force)

คำที่เขียนว่า “พล” ในภาษาไทย :

– ถ้าใช้ตามลำพังอ่านว่า พน

– ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า พน-ละ- ก็มี อ่านว่า พะ-ละ- ก็มี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

(1) กําลัง, มักใช้ประกอบคําอื่น เช่น พระทศพล อันเป็นพระนามพระพุทธเจ้า หมายความว่า ทรงมีพระญาณอันเป็นกำลัง ๑๐ ประการ มี ฐานาฐานญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและสิ่งที่มิใช่ฐานะเป็นต้น.

(2) ทหาร เช่น กองพล ตรวจพล ยกพลขึ้นบก.

(3) สามัญ, ธรรมดา ๆ, พื้น ๆ, เช่น ของพล ๆ.

(4) ยศทหารและตํารวจสัญญาบัตร รองจากจอมพล (เดิมใช้ว่า นายพล).

ทส + พล = ทสพล แปลว่า (1) “กำลังสิบอย่าง” (2) “ผู้มีกำลังสิบอย่าง

ทสพล” (“ทส-” บาลี เสือ) ในภาษาไทยใช้เป็น “ทศพล” (“ทศ-” สันสกฤต ศาลา)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทศพล : (คำนาม) ผู้มีกําลัง ๑๐ เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า.”

ขยายความหลักวิชา :

คำว่า “ทศพล” เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า แปลว่า “ผู้มีกำลังสิบอย่าง

คำว่า “พล” ซึ่งแปลว่า “กำลัง” ในที่นี้หมายถึงพระปัญญาญาณอันเกิดจากการตรัสรู้

ขอยกข้อความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาแสดงไว้ในที่นี้เพื่อเป็นองค์ความรู้

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ข้อ [323] ประมวลความไว้ดังนี้ –

ทศพลญาณ : (บาลีเรียก ตถาคตพลญาณ 10 คือ พระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคต 10 ประการ ที่ทำให้พระองค์สามารถบันลือสีหนาท ประกาศพระศาสนาได้มั่นคง — Dasa-balañāṇa: the Ten Powers of the Perfect One)

1. ฐานาฐานญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและอฐานะ คือ รู้กฎธรรมชาติเกี่ยวกับขอบเขตและขีดขั้นของสิ่งทั้งหลายว่า อะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ และแค่ไหนเพียงไร โดยเฉพาะในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล และกฎเกณฑ์ทางจริยธรรม เกี่ยวกับสมรรถวิสัยของบุคคล ซึ่งจะได้รับผลกรรมที่ดีและชั่วต่างๆ กัน — Ṭhānāṭhāna-ñāṇa: knowledge of instance and no instance; knowledge of possibilities and impossibilities)

2. กรรมวิปากญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม คือ สามารถกำหนดแยกการให้ผลอย่างสลับซับซ้อน ระหว่างกรรมดีกับกรรมชั่ว ที่สัมพันธ์กับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มองเห็นรายละเอียดและความสัมพันธ์ภายในกระบวนการก่อผลของกรรมอย่างชัดเจน — Kammavipāka-ñāṇa: knowledge of the ripening of action; knowledge of the results of kamma)

3. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง คือ สุคติ ทุคติ หรือพ้นจากคติ หรือปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่อรรถประโยชน์ทั้งปวง กล่าวคือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ หรือ ปรมัตถะ คือรู้ว่าเมื่อปรารถนาจะเข้าถึงคติหรือประโยชน์ใด จะต้องทำอะไรบ้าง มีรายละเอียดวิธีปฏิบัติอย่างไร — Sabbatthagāminīpaṭipadā-ñāṇa: knowledge of the way that leads anywhere; knowledge of the practices leading to all destinies and all goals)

4. นานาธาตุญาณ (ปรีชาหยั่งรู้สภาวะของโลกอันประกอบด้วยธาตุต่างๆ เป็นอเนก คือ รู้สภาวะของธรรมชาติ ทั้งฝ่ายอุปาทินนกสังขารและฝ่ายอนุปาทินนกสังขาร เช่น รู้จักส่วนประกอบต่างๆ ของชีวิต สภาวะของส่วนประกอบเหล่านั้น พร้อมทั้งลักษณะและหน้าที่ของมันแต่ละอย่าง อาทิการปฏิบัติหน้าที่ของขันธ์ อายตนะ และธาตุต่างๆ ในกระบวนการรับรู้ เป็นต้น และรู้เหตุแห่งความแตกต่างกันของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น — Nānādhātu-ñāṇa: knowledge of the world with its many different elements)

5. นานาธิมุตติกญาณ (ปรีชาหยั่งรู้อธิมุติ คือ รู้อัธยาศัย ความโน้มเอียง ความเชื่อถือ แนวความสนใจ เป็นต้น ของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปต่างๆ กัน — Nānādhimuttika-ñāṇa: knowledge of the different dispositions of beings)

6. อินทริยปโรปริยัตตญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย คือรู้ว่าสัตว์นั้นๆ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แค่ไหน เพียงใด มีกิเลสมาก กิเลสน้อย มีอินทรีย์อ่อน หรือแก่กล้า สอนง่าย หรือสอนยาก มีความพร้อมที่จะตรัสรู้หรือไม่ — Indriyaparopariyatta-ñāṇa: knowledge of the state of faculties of beings; knowledge of the inferiority and superiority of the controlling faculties of various beings; knowledge as regards maturity of persons)

7. ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว การออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติทั้งหลาย — Jhānādisaŋkilesādi-ñāṇa: knowledge of defilement, cleansing and emergence in the cases of the meditations, liberations, concentrations and attainments)

8. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ปรีชาหยั่งรู้อันทำให้ระลึกภพที่เคยอยู่ในหนหลังได้ — Pubbenivāsānussati-ñāṇa: knowledge of the remembrance of former existences)

9. จุตูปปาตญาณ (ปรีชาหยั่งรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายอันเป็นไปตามกรรม — Cutūpapāta-ñāṇa: knowledge of the decease and rebirth of beings)

10. อาสวักขยญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย — Āsavakkhaya-ñāṇa: knowledge of the exhaustion of mental intoxicants)

แถม :

คำว่า “ทศพล” ถ้าอ่านตามปกติ อ่านว่า ทด-สะ-พน

แต่ในบทร้อยกรองต้องอ่านตามบังคับของฉันทลักษณ์ ตัวอย่าง เช่น

๏ ด้วยเดชะองค์พระทศพล ……… สุวิมลไพบูลย์

ทานาทิธัมมวิธิกูล ………………… ชนะน้อมมโนตาม

(บทสวดชัยสิทธิคาถา ในบทสวดมนต์สรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะ)

ในที่นี้ “ทศพล” ต้องอ่านว่า ทะ-สะ-พน เนื่องจากเป็นวสันตดิลกฉันท์ คำว่า “ทศ-” อยู่ในตำแหน่งคำที่บังคับลหุ 3 พยางค์เรียงกัน (-พระ-ท-ศ-) ถ้าอ่านว่า ทด-สะ-พน “ทด” เป็นคำครุ จะทำให้ผิดฉันทลักษณ์

๏ เป็นเนื้อนาบุญอันไพ- ……….. ศาลแด่โลกัย

และเกิดพิบูลย์พูนผล

๏ สมญาเอารสทศพล …………..มีคุณอนนต์

อเนกจะนับเหลือตรา

(บทสวดพระสังฆคุณในบทสวดมนต์สรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะ)

ในที่นี้ “ทศพล” อ่านว่า ทด-สะ-พน ตามปกติ เพราะ -ทศ- รับสัมผัสกับคำว่า -เอารส- (เอา-รด-ทด-สะ-พน)

หมายเหตุ : จากการที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเป็นกรรมการตัดสินประกวดสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะมานานปี พบว่า บท “ด้วยเดชะองค์พระทศพล” นี้ โรงเรียนต่างๆ สวดผิดมากที่สุด คือสวดว่า –

ด้วย-เด-ชะ-องค์-พระ-ทด-สะ-พน  —

เนื่องจากผู้ฝึกสอนไม่เข้าใจกฎเกณฑ์ทางฉันทลักษณ์ จึงฝึกให้นักเรียนออกเสียงคำนี้ตามปกติ ทำให้ผิดฉันทลักษณ์ และถูกตัดคะแนนไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

…………..

ดูก่อนภราดา!

ถึงเพียบพร้อมด้วยพลังก็พังได้

ถ้าหัวใจสกปรกมักหมกเหม็น

ถึงสิ้นไร้แทบว่าเลือดตากระเด็น

ก็อาจเด่นได้ดีถ้ามีธรรม

#บาลีวันละคำ (2,102)

15-3-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย