บาลีวันละคำ

ปัจจุบันหิต (บาลีวันละคำ 2,104)

ปัจจุบันหิต

ฝากไว้ในอ้อมใจของมิตรรักแฟนเพลง

อ่านว่า ปัด-จุ-บัน-นะ-หิด

ประกอบด้วยคำว่า ปัจจุบัน + หิต

(๑) “ปัจจุบัน

บาลีเป็น “ปจฺจุปฺปนฺน” (ปัด-จุบ-ปัน-นะ) มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) แผลงเป็น ปจฺจ + อุปฺปนฺน

อุปฺปนฺน” (อุบ-ปัน-นะ) รากศัพท์มาจาก อุ (ขึ้น) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ปัจจัย, ซ้อน ปฺ ระหว่าง อุ + ปทฺ, แปลง ทฺ กับ เป็น นฺน

: อุ + ปฺ + ปทฺ = อุปฺปท + = อุปฺปทต > อุปฺปนฺน แปลตามศัพท์ว่า “เกิดขึ้นแล้ว

: ปฏิ > ปจฺจ + อุปฺปนฺน  = ปจฺจุปฺปนฺน แปลตามศัพท์ว่า “เกิดขึ้นเฉพาะหน้า” หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า, กำลังปรากฏอยู่, อยู่ในปัจจุบัน (what has arisen just now, existing, present)

ปจฺจุปฺปนฺน” ในภาษาไทยใช้เป็น “ปัจจุบัน” (ปัด-จุ-บัน)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปัจจุบัน : (คำนาม) เวลาเดี๋ยวนี้, ทันที, เวลาไม่ใช่อดีต ไม่ใช่อนาคต เช่น เวลาปัจจุบัน, สมัยใหม่ เช่น แพทย์แผนปัจจุบัน; เรียกโรคภัยที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดว่า โรคปัจจุบัน เช่น โรคลมปัจจุบัน. (ป. ปจฺจุปฺปนฺน; ส. ปฺรตฺยุตฺปนฺน).”

(๒) “หิต

บาลีอ่านว่า หิ-ตะ รากศัพท์มาจาก ทหฺ (ธาตุ = ทรงไว้, ตั้งไว้) + ปัจจัย, ลบ – ต้นธาตุ (ทหฺ > ), ลง อิ อาคมหน้าปัจจัย (ทหฺ + อิ + )

: ทหฺ + อิ + = ทหิต > หิต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาตั้งไว้

หิต” ในบาลี ถ้าเป็นคำนาม (ปุงลิงค์) หมายถึง เพื่อน, ผู้มีบุญคุณ (a friend, benefactor) และคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง คุณประโยชน์, พร, ความดี (benefit, blessing, good)

หิต” ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง มีประโยชน์, เหมาะสม, เป็นประโยชน์, เป็นมิตร (useful, suitable, beneficial, friendly)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

หิต, หิต– : (คำนาม) ความเกื้อกูล, ประโยชน์. (ป., ส.).”

ปจฺจุปฺปนฺน + หิต = ปจฺจุปฺปนฺนหิต (ปัด-จุบ-ปัน-นะ-หิ-ตะ) แปลว่า “ประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบัน

ปจฺจุปฺปนฺนหิต” เขียนเป็นคำไทยเป็น “ปัจจุบันหิต” (ปัด-จุ-บัน-นะ-หิด)

ขยายความ :

ปัจจุบันหิต” เป็นคำที่ผู้เขียนบาลีวันละคำคิดขึ้นใหม่ ยังไม่มีในพจนานุกรมฯ

คำนี้มีที่มาจากสาเกตชาดก ทุกนิบาต (อ่านว่า ทุ-กะ-นิ-บาด) พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 324 เป็นคาถา 1 บท มีข้อความว่า –

ปุพฺเพว สนฺนิวาเสน ….. ปจฺจุปฺปนฺนหิเตน วา

เอวนฺตํ ชายเต เปมํ ….. อุปฺปลํว ยโถทเก.

(ปุพเพวะ สันนิวาเสนะ ….. ปัจจุปปันนะหิเตนะ วา

เอวันตัง ชายะเต เปมัง ….. อุปปะลังวะ ยะโถทะเก.)

แปลความว่า –

ความรักย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุ 2 ประการ

(ประการใดประการหนึ่ง) คือ

การอยู่ร่วมกันในชาติปางก่อน 1

ความเกื้อกูลกันในชาติปัจจุบัน 1

เหมือนดอกบัวอาศัยน้ำและเปือกตมเกิดขึ้นได้ฉะนั้น

คาถานี้ท่านนำมาอ้างไว้อรรถกถาธรรมบท สามาวตีวัตถุ (เรื่องนางสามาวดี) ตอนโฆสกเศรษฐี (ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 2)

เรื่องย่อมีว่า –

เศรษฐีคนหนึ่งไปเฝ้าพระราชาตามหน้าที่ ได้ฟังโหรหลวงบอกว่าเด็กที่เกิดวันนี้จะได้เป็นเศรษฐีใหญ่ในอนาคต พอดีภรรยาเศรษฐีท้องแก่ แต่ก็ยังไม่ได้คลอดในวันนั้น เศรษฐีจึงให้คนไปเที่ยวสืบหาเด็กชายที่เกิดในวันนั้นแล้วซื้อตัวมาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรมไว้คนหนึ่ง วางแผนว่า ถ้าตนได้ลูกสาวก็จะให้แต่งงานกับลูกบุญธรรม แต่ถ้าได้ลูกชายก็จะฆ่าลูกบุญธรรมเสีย

ต่อมาไม่กี่วันภรรยาเศรษฐีคลอดลูกเป็นชาย เศรษฐีจึงวางแผนฆ่าลูกบุญธรรม ซึ่งตั้งชื่อว่า “โฆสก

แต่ใช้แผนกี่แผนก็ฆ่าไม่สำเร็จ เพราะเด็กเป็นคนมีบุญ มิหนำซ้ำแผนล่าสุดยังเกิดผิดพลาดอย่างร้ายแรง คนที่ถูกฆ่ากลับเป็นลูกชายของตัวเอง

ในที่สุดเศรษฐีก็ใช้แผนสุดท้าย เขียนจดหมายถึงลูกน้องมือขวาที่ไว้ใจได้ซึ่งดูแลธุรกิจอยู่อีกเมืองหนึ่งให้เป็นคนฆ่า โดยให้นายโฆสกถือจดหมายไปเอง ที่เศรษฐีกล้าใช้วิธีนี้ก็เพราะนายโฆสกอ่านหนังสือไม่ออก เนื่องจากเศรษฐีไม่สนับสนุนให้เรียนหนังสือมาตั้งแต่เด็ก

แต่วิธีนี้กลายเป็นความผิดพลาดอย่างสุดเจ็บปวดของท่านเศรษฐี!

ตามเส้นทางที่จะไปยังเมืองที่ลูกน้องเศรษฐีอยู่ผ่านบ้านเศรษฐีที่เป็นเพื่อนกัน ตามแผนการเดินทางนายโฆสกจะต้องไปแวะพักที่บ้านเศรษฐีคนนี้

เศรษฐีคนนี้มีลูกสาวคนหนึ่ง พอได้ยินชื่อนายโฆสกเท่านั้นก็เกิดหลงรักทันที ทั้งนี้เพราะเคยเป็นเนื้อคู่กันมาแต่ปางก่อน

ระหว่างที่นายโฆสกนอนหลับ ลูกสาวเศรษฐีก็แอบเปิดจดหมาย อ่านรู้เรื่องแล้วก็ฉีกทิ้งแล้วเขียนจดหมายปลอมขึ้นใหม่ จากใจความเดิม “ถึงเช้าให้ฆ่าเช้า ถึงเย็นให้ฆ่าเย็น” เปลี่ยนเป็นให้ลูกน้องมือขวาคนนั้นเป็นผู้ใหญ่จัดการแต่งงานนายโฆสกกับลูกสาวเศรษฐี ประมาณว่า “ถึงเช้าให้แต่งเช้า ถึงเย็นให้แต่งเย็น” -ทำนองนี้

แถมด้วยให้ปลูกเรือนหออย่างอลังการ และยกทรัพย์สินที่เมืองนั้นทั้งหมดให้เป็นสินสอดอีกด้วย

ในที่สุดนายโฆสกก็ได้แต่งงานกับลูกสาวเศรษฐี และได้เป็นเศรษฐีใหญ่ในเวลาต่อมา

อภิปราย :

ในพุทธภาษิต พระพุทธองค์ตรัสเหตุที่ทำให้คนเรารักกันไว้ 2 เหตุ คือ –

(1) “ปุพฺเพว สนฺนิวาเสน” ที่ภาษาไทยเอามาพูดว่า “บุพฺเพสันนิวาส” คือเคยเกี่ยวข้องผูกพันกันมาแต่ในอดีตชาติ ครั้นมาพบกันในชาตินี้จึงถูกชะตากันและได้ครองคู่กัน

(2) “ปจฺจุปฺปนฺนหิเตน” คือได้ทำคุณหนุนเกื้อกันในชาตินี้ จนเกิดความเห็นอกเห็นใจกัน และได้ครองคู่กัน

จะเห็นได้ว่า เหตุให้รักกันไม่ได้มีแต่ “บุพฺเพสันนิวาส” อย่างเดียว แม้ “ปัจจุบันหิต” การเกื้อกูลกันในชาติปัจจุบันนี่เองก็มีอิทธิพลและมีผลด้วยไม่แพ้กัน

น่าประหลาดที่เราเอาแต่ “บุพฺเพสันนิวาส” มาพูด มาเชื่อกัน

แต่ “ปัจจุบันหิต” กลับไม่มีใครนึกถึงเลย

ประหนึ่งว่า –

ยอมจำนนให้กรรมเก่า

งอมืองอเท้าให้กรรมใหม่

ผู้เขียนบาลีวันละคำจึงเอาคำว่า “ปจฺจุปฺปนฺนหิเตน” มาปรุงแปลงรูปเป็น “ปัจจุบันหิต” และขอ “ฝากไว้ในอ้อมใจของมิตรรักแฟนเพลง” อีกคำหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: “บุพฺเพสันนิวาส” เราไม่อาจลิขิต

: แต่ “ปัจจุบันหิต” ยังเป็นสิทธิ์ของเรา

#บาลีวันละคำ (2,104)

17-3-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย