บาลีวันละคำ

สมุหนายก (บาลีวันละคำ 2,105)

สมุหนายก

อ่านว่า สะ-หฺมุ-หะ-นา-ยก

ประกอบด้วยคำว่า สมุห + นายก

(๑) “สมุห

บาลีเป็น “สมูห” (สะ-มู-หะ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค ในที่นี้ใช้ในความหมายว่า “สมฺมา” = ถูกต้อง, “วิเสส” = พิเศษ, “สม” = เสมอกัน, พร้อมกัน) + อูหฺ (ธาตุ = นับ; ตั้งอยู่; รู้) + ปัจจัย, ลบ , แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น (สํ > สม)

: สํ > สม + อูหฺ = สมูหฺ + = สมูหณ > สมูห แปลตามศัพท์ว่า (1) “หมู่ที่นับกันโดยชอบและโดยพิเศษ” (2) “หมู่ที่ดำรงอยู่กับส่วนย่อย” (3) “หมู่อันเขารู้กันดีว่าเป็นส่วนเดียวกัน

สมูห” (ปุงลิงค์) หมายถึง กอง กลุ่ม, การรวมกัน (multitude, mass, aggregation)

บาลี “สมูห” ในภาษาไทยใช้เป็น “สมุห-” (อ่านว่า สะ-หฺมุ-หะ- เมื่อมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “สมุห์” (อ่านว่า สะ-หฺมุ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมุห-, สมุห์ : (คำนาม) หมู่, กอง, พวก. (ป.; ส. สมูห); หัวหน้าในตําแหน่งหน้าที่ เช่น สมุหพระราชพิธี สมุหราชองครักษ์ สมุห์บัญชี; ตําแหน่งพระฐานานุกรมเหนือใบฎีกา เช่น พระสมุห์ พระครูสมุห์.”

ข้อสังเกต :

ความหมายว่า หมู่, กอง, พวก เป็นความหมายเดิมตามภาษาบาลี

ความหมายว่า หัวหน้าในตําแหน่งหน้าที่ และตําแหน่งพระฐานานุกรม เป็นความหมายที่กลายมาในภาษาไทย

(๒) “นายก

บาลีอ่านว่า นา-ยะ-กะ รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = นำไป) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง อี ที่ นี เป็น เอ แปลง เอ เป็น อาย (นี > เน > นาย), แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)

: นี > เน > นาย + ณฺวุ > อก : นาย + อก = นายก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้นำ

คำว่า “นายก” ความหมายทั่วไปคือ ผู้นํา, ผู้เป็นหัวหน้า, ผู้นำทาง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นายก” ว่า a leader, guide, lord (ผู้นำ, ผู้นำทาง, ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่)

คำว่า “นายก” ในบาลี ถ้าเป็นคุณนามของพระพุทธเจ้า มีความหมายเฉพาะว่า “ผู้นำสัตวโลกออกจากห้วงน้ำคือสังสารวัฏไปสู่ฝั่งพระนิพพาน

หากประยุกต์ใช้กับผู้นำสังคม “นายก” ก็ควรมีความหมายว่า “ผู้นำปวงชนในความรับผิดชอบออกจากความเดือดร้อนไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุข

สมูห + นายก = สมูหนายก (สะ-มู-หะ-นา-ยะ-กะ) แปลอิงความหมายในภาษาไทยว่า “ผู้เป็นที่รวมแห่งผู้นำ” หมายถึงเป็นหัวหน้าของบรรดาผู้นำ

สมูหนายก > สมุหนายก

แต่พึงทราบว่า คำว่า “สมุหนายก” เป็นคำไทยที่เพียงแต่เอาคำบาลีมาปรุงรูปขึ้นแล้วให้ความหมายแบบไทยเท่านั้น ในภาษาบาลีไม่มีคำที่ใช้ควบกันตามรูปนี้ตรงๆ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมุหนายก : (คำโบราณ) (คำนาม) ตำแหน่งข้าราชการชั้นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือน ดูแลรับผิดชอบและเป็นประธานที่ประชุมเสนาบดีของฝ่ายพลเรือน รวมทั้งการปกครองและการยุติธรรมในหัวเมืองฝ่ายเหนือ.”

ขยายความ :

การปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยาแบ่งอำนาจออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร

หัวหน้าข้าราชการผู้ใหญ่ฝ่ายพลเรือน เรียกว่า “สมุหนายก

หัวหน้าข้าราชการผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร เรียกว่า “สมุหกลาโหม” หรือ “สมุหพระกลาโหม

อนึ่ง เป็นที่เข้าใจกันว่า –

สมุหนายก” ทำหน้าที่กำกับดูแลการปกครองและการยุติธรรมในหัวเมืองฝ่ายเหนือ

สมุหพระกลาโหม” ทำหน้าที่กำกับดูแลการปกครองและการยุติธรรมในหัวเมืองปักษ์ใต้

…………..

ดูก่อนภราดา!

พาโล อปริณายโก.

ที่มา: วีณาถูณชาดก ทุกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 313

: คนเขลาไม่ควรเป็นหัวหน้า

: คนบ้าไม่ควรเป็นผู้นำ

————-

(ตามคำขอของ Jo Ender)

#บาลีวันละคำ (2,105)

18-3-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย