บาลีวันละคำ

ฌาปนานุสรณ์ (บาลีวันละคำ 1,959)

ฌาปนานุสรณ์

คำเก่าในความหมายใหม่

อ่านว่า ชา-ปะ-นา-นุ-สอน

แยกศัพท์เป็น ฌาปน + อนุสรณ์

(๑) “ฌาปน

บาลีอ่านว่า ชา-ปะ-นะ รากศัพท์มาจาก ฌาปฺ (ธาตุ = เร่าร้อน, เผา, ไหม้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ฌาปฺ + ยุ > อน = ฌาปน แปลว่า การจุดไฟ, การเผา (setting fire to, consumption by fire)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ฌาปน– : (คำนาม) การเผาศพ, การปลงศพ. (ป.).”

โปรดสังเกตว่า “ฌาปน” ในบาลีหมายถึง “การเผา” ทั่วไป ไม่ได้จำกัดว่าเผาอะไร แต่ในภาษาไทย “ฌาปน” ใช้ในความหมายเฉพาะคือเผาศพ

(๒) “อนุสรณ์

บาลีเป็น “อนุสฺสรณ” (อะ-นุด-สะ-ระ-นะ) รากศัพท์มาจาก อนุ (คำอุปสรรค = ตาม, เนืองๆ) + สรฺ (ธาตุ = ระลึก) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น (ยุ > อน > อณ), ซ้อน สฺ ระหว่าง อนุ + สรฺ

: อนุ + สฺ + สรฺ = อนุสฺสรฺ + ยุ > อน = อนุสฺสรน > อนุสฺสรณ แปลตามศัพท์ว่า “การระลึกถึงเนืองๆ” หมายถึง การอนุสรณ์, การระลึกถึง, ความทรงจำ (remembrance, memory, recollection)

หมายเหตุ : ในภาษาไทย ตัด ตัวสะกดออกตัวหนึ่ง และไม่ต้องการออกเสียง นะ จึงใส่ไม้ทัณฑฆาตที่ – : อนุสฺสรณ > อนุสรณ > อนุสรณ์ อ่านว่า อะ-นุ-สอน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อนุสรณ์ : (คำนาม) เครื่องระลึก, ที่ระลึก. (คำกริยา) ระลึก, คำนึงถึง. (ป. อนุสฺสรณ).”

ฌาปน + อนุสรณ์ = ฌาปนานุสรณ์ แปลตามศัพท์ว่า “ระลึกถึงการเผา

…………..

ขยายความ :

ฌาปนานุสรณ์” คำนี้ยกมาจากข้อความในอาร์มที่ระลึกซึ่งหน่วยงานแห่งหนึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแจกแก่ลูกเสือที่จะไปร่วมงานวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 (ดูภาพประกอบ)

เข้าใจว่าผู้คิดคำนี้น่าจะคำนึงถึงคำว่า “ถวายพระเพลิง” เป็นหลัก โดยถอดความหมายเป็นคำบาลีว่า “ฌาปน” ที่เข้าใจกันในภาษาไทยว่า การเผาศพ, การปลงศพ เนื่องจากคำว่า “ถวายพระเพลิง” ถ้าพูดเป็นคำสามัญก็คือการเผาศพนั่นเอง

ในภาษาบาลี “ฌาปน” แปลว่า การเผา ถ้าจะให้หมายถึงการเผาศพ จะต้องเติมคำว่า “สรีร” (สะ-รี-ระ, = ร่างกาย) เข้าข้างหน้าเป็น “สรีรชฺฌาปน” (สะ-รี-รัด-ชา-ปะ-นะ) แปลว่า “การเผาสรีระ” ถ้าอย่างนี้ก็ชัดเจนว่าเป็นการเผาศพ

ในภาษาบาลี คำว่า “สรีรชฺฌาปน” ไม่จำกัดว่าจะต้องใช้กับศพของคนชั้นไหน หมายความว่าไม่ว่าจะเป็นศพของคนชั้นไหนก็ใช้คำว่า “สรีรชฺฌาปน” เหมือนกันหมด

แต่ตามความรู้สึกของคนไทย คำว่า “ฌาปน” เราใช้เป็นคำพูดธรรมดาทั่วไป เช่น ฌาปนกิจ ฌาปนสถาน พอเอามาใช้กับพระเจ้าแผ่นดินจึงรู้สึกเหมือนกับว่าดาดๆ หรือสามัญเกินไป

ข้อความตามภาพประกอบยังมีต่อไปอีกว่า “นวมินทกษัตริยาธิราช” ซึ่งแยกศัพท์เป็น นวมินท + กษัตริย + อธิราช

นวมินท = “ผู้เป็นใหญ่ลำดับที่เก้า” คือ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ ๙

กษัตริย = “ผู้เป็นใหญ่ในเขต” คือ พระเจ้าแผ่นดิน

อธิราช = พระราชาผู้ยิ่งใหญ่

อนึ่ง ข้อความตามภาพ คำว่า “ฌาปนานุสรณ์” ไม่มีการันต์ที่ คือเขียนเป็น “ฌาปนานุสรณ” คงตั้งใจจะให้เป็นศัพท์เดียวกันตลอดทั้งหมด คือเป็น “ฌาปนานุสรณนวมินทกษัตริยาธิราช” ในที่นี้ตัดมาเฉพาะ “ฌาปนานุสรณ” และใส่การันต์ที่ เป็นการตั้งรูปคำขึ้นใหม่ อ่านว่า ชา-ปะ-นา-นุ-สอน

นำมาเสนอเป็นการเผยแพร่คำที่มีผู้คิดขึ้นใหม่ๆ เพื่อช่วยกันพิจารณาประเทืองปัญญาตามสมควรแก่เหตุการณ์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความดี เผาไม่ไหม้

——————–

(ถือวิสาสะมาจากภาพของ ณัฏฐภัทร ภูวนารถ กังสดาลมณีชัย)

#บาลีวันละคำ (1,959)

20-10-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย