บาลีวันละคำ

ธุลีพระบาท (บาลีวันละคำ 1,958)

ธุลีพระบาท

เครื่องประกาศคุณธรรม

อ่านว่า ทุ-ลี-พฺระ-บาด

ประกอบด้วยคำว่า ธุลี + พระบาท

(๑) “ธุลี

บาลีอ่านว่า ทุ-ลี รากศัพท์มาจาก ธุ (ธาตุ = หวั่นไหว) + ลิ ปัจจัย, ทีฆะ อิ ที่ ลิ เป็น อี (ลิ > ลี)

: ธุ + ลิ = ธุลิ > ธุลี แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่หวั่นไหว” (คือเคลื่อนไหว, ปลิวว่อนไป) หมายถึง ผง, ฝุ่น, ละออง (powder; dust)

ธุลี” ยังกลายรูปเป็น “ธูลิ” (ทู-ลิ) ได้อีกรูปหนึ่ง คือ ธุ + ลิ ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ ธุ เป็น อู (ธุ > ธู) ลิ ปัจจัยคงรูปเป็น ลิ

: ธุ + ลิ = ธุลิ > ธูลิ

บาลี “ธุลี” และ “ธูลิ” สันสกฤตเป็น “ธูลิ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ธูลิ : (คำนาม) ‘ธุลี,’ ฝุ่น, ผง, ละออง; ปริมาณ, จำนวน; dust; a number.”

(๒) “พระบาท

คำว่า “บาท” บาลีเป็น “ปาท” (ปา-ทะ) รากศัพท์มาจาก ปท (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ -(ทฺ) เป็น อา (ปทฺ > ปาท)

: ปทฺ + = ปทณ > ปท > ปาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องดำเนินไป

ปาท” ในบาลีใช้ในความหมาย ดังนี้ –

(1) เท้า (the foot)

(2) เชิงเขาหรือส่วนล่างของภูเขา (foot or base of a mountain)

(3) ส่วนหนึ่งในสี่ของคำร้อยกรองหนึ่งบท (ซึ่งตามปกติมีบทละ 4 บาท) (the fourth part of a verse)

(4) เหรียญที่ใช้ในการซื้อขาย (a coin)

ปาท” ในภาษาไทยใช้ว่า “บาท” (บาด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “บาท” ไว้ดังนี้ –

(1) ตีน, เท้า, เช่น ทวิบาท จตุบาท, ราชาศัพท์ว่า พระบาท.

(2) มาตราเงินตามวิธีประเพณี ๑๐๐ สตางค์ หรือ ๔ สลึง เท่ากับ ๑ บาท.

(3) ชื่อมาตราชั่งตามวิธีประเพณี สําหรับกําหนดนํ้าหนักเท่ากับเงินหนัก ๑๕ กรัม.

(4) ส่วนหนึ่งของบทแห่งคําประพันธ์ เช่น โคลง ๔ สุภาพ บทหนึ่งมี ๔ บาท.

(5) ช่วงเวลาเท่ากับ ๑ ใน ๑๐ ของชั่วโมง เท่ากับ ๖ นาที.

ในที่นี้ “ปาทบาท” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

ส่วนคำว่า “พระ” ที่นำหน้า มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง เป็น ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)

ในที่นี้ “พระ” ใช้ตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ตอนหนึ่งว่า –

“… ใช้ประกอบหน้าคําอื่นแสดงความยกย่อง ๑. เทพเจ้าหรือเทวดาผู้เป็นใหญ่ … ๒. พระเจ้าแผ่นดินหรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ …”

เป็นดังที่พจนานุกรมฯ บอกว่า “บาท” ราชาศัพท์ว่า “พระบาท

ธุลี + พระบาท = ธุลีพระบาท เป็นคำประสมแบบไทย แปลว่า “ฝุ่นละอองที่พระบาท (ของพระเจ้าแผ่นดินเป็นต้น)

…………..

อภิปรายขยายความ :

ในภาษาไทยมีคำว่า “ทูลละอองธุลีพระบาท” เช่น “เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท” หมายถึงเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน (เข้าเฝ้า = ไปหาเจ้านาย)

ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยอ่านคำอธิบายในหนังสือเล่มหนึ่ง บอกว่า ประเพณีเดิมพระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ภายในพระวิสูตร (ม่าน) ข้าราชบริพารหรือผู้เข้าเฝ้าหมอบอยู่เบื้องล่าง

เมื่อได้เวลา ชาวม่านไขพระวิสูตรด้วยการสะบัดหรือตลบม่าน ฝุ่นละอองที่ติดอยู่ที่ม่านปลิวฟุ้งไปตกลงบนศีรษะของผู้เข้าเฝ้า

มองเป็นภาพประหนึ่งว่าฝุ่นละอองนั้นมาจากฝ่าพระบาท และศีรษะของผู้เข้าเฝ้ารองรับฝุ่นละอองนั้นไว้

จึงเป็นที่มาของคำว่า “ทูนละอองธุลีพระบาท” (ทูน = เอาของไว้บนศีรษะ) แล้วภายหลังมาเขียนเป็น “ทูล….”

ที่ว่ามานี้จริงเท็จประการไร โปรดพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายเทอญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: น้อมศีรษะลงให้เกียรติผู้อื่นได้ต่ำมากเพียงใด

: ก็ยกคุณธรรมในหัวใจให้สูงขึ้นได้มากเพียงนั้น

————–

ภาพประกอบจาก google

#บาลีวันละคำ (1,958)

19-10-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย