เวชยันตราชรถ (บาลีวันละคำ 1,960)
เวชยันตราชรถ
อ่านว่า เวด-ชะ-ยัน-ตะ-ราด-ชะ-รด
ประกอบด้วย เวชยันต + ราชรถ
(๑) “เวชยันต” บาลีศัพท์เดิมเป็น วิชย + อนฺต
(1) “วิชย” อ่านว่า วิ-ชะ-ยะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ชิ (ธาตุ = ชนะ) + อ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ชิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (ชิ > เช > ชย)
: วิ + ชิ = วิชิ > วิเช > วิชย + อ = วิชย แปลตามศัพท์ว่า “การชนะอย่างวิเศษ” หมายถึง ชัยชนะ; ความมีชัย, การปราบหรือพิชิต (victory; conquering, mastering; triumph over)
(2) “อนฺต” อ่านว่า อัน-ตะ รากศัพท์มาจาก อมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต ปัจจัย, แปลง ม ที่สุดธาตุเป็น น (อมฺ > อนฺ)
: อมฺ > อน + ต = อนฺต (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ถึงที่สุด”
“อนฺต” ตามคำแปลนี้หมายถึง –
(1) ที่สุด, สำเร็จ, ที่หมาย (end, finish, goal)
(2) เขต, ชาย, ริม (limit, border, edge)
(3) ข้าง (side)
(4) ด้านตรงกันข้าม, ตรงกันข้าม, ตำแหน่งตรงกัน (opposite side, opposite, counterpart)
วิชย + อนฺต แผลง อิ ที่ วิ-(ชย) เป็น เอ
: วิชย + อนต = วิชยนฺต > เวชยนฺต แปลตามศัพท์ว่า “ที่สุดแห่งชัยชนะ” หมายถึง (1) สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากมีชัยชนะแล้ว หรือ (2) สิ่งที่นำชัยชนะมาให้ในที่สุด
“เวชยนฺต” เขียนแบบไทยเป็น “เวชยันต์” อ่านว่า เวด-ชะ-ยัน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เวชยันต์ : (คำนาม) ชื่อวิมานหรือรถของพระอินทร์. (ป.; ส. ไวชยนฺต).”
เวชยนฺต > เวชยันต์ ยังแผลงต่อไปเป็น “ไพชยนต์” (ไพ-ชะ-ยน) อีกรูปหนึ่งด้วย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ไพชยนต์ : (คำนาม) ชื่อรถและวิมานของพระอินทร์; ปราสาททั่วไปของหลวง; ธงของพระอินทร์. (ส. ไวชยนฺต, ไวชยนฺตี; ป. เวชยนฺต).”
(๒) “ราชรถ” แยกศัพท์เป็น ราช + รถ
(1) “ราช” บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –
(ก) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (ปัจจัย) = ราช
หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(ข) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ (ปัจจัย) ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา = ราช
หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
“ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”
(2) “รถ” บาลีอ่านว่า ระ-ถะ รากศัพท์มาจาก –
(ก) รมฺ (ธาตุ = เล่น) + ถ ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (รมฺ > ร)
: รมฺ + ถ = รมถ > รถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ยานเป็นเครื่องเล่น” หรือแปลถอดความว่า “ยานที่ยังให้เกิดสุขารมณ์ ความสนุกเพลิดเพลิน ความดีใจ”
แรกที่มนุษย์ประดิษฐ์รถขึ้นมาน่าจะเพื่อการเล่นสนุก นักภาษาจึงให้ความหมายเช่นนี้ ต่อมาจึงใช้รถเพื่อการอื่นๆ เช่นการเดินทาง การขนส่ง และการรบ
(ข) รหฺ (ธาตุ = ยึดถือ) + ถ ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (รหฺ > ร)
: รหฺ + ถ = รหถ > รถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ยานอันเขายึดเป็นเจ้าของ”
“รถ” ในบาลีในความหมายเดิม หมายถึง –
(1) รถมีสองล้อ, รถแข่งหรือรถออกศึก (a two-wheeled carriage, chariot)
(2) สุขารมณ์, ความสนุกเพลิดเพลิน, ความดีใจ (pleasure, joy, delight)
ราช + รถ = ราชรถ บาลีอ่านว่า รา-ชะ-ระ-ถะ ใช้ในภาษาไทยอ่านว่า ราด-ชะ-รด แปลว่า รถของพระราชา, รถหลวง
เวชยันต (กรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย ไม่ต้องการันต์ที่ ต) + ราชรถ = เวชยันตราชรถ (เวด-ชะ-ยัน-ตะ-ราด-ชะ-รด) แปลเอาความว่า ราชรถที่นำชัยชนะมาให้ในที่สุด
…………..
หนังสือ “คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิมพ์เผยแพร่ อธิบายคำว่า “เวชยันตราชรถ” ไว้ดังนี้ –
…………..
เวชยันตราชรถ :เป็นราชรถ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเชิญพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ในงานพระเมรุคู่กับพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี ซึ่งทรงใช้พระมหาพิชัยราชรถ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๒ หลังจากนั้นจึงใช้เวชยันตราชรถเป็นราชรถรองในงานพระเมรุพระมหากษัตริย์รัชกาลต่อมาจนถึงงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังเมื่อพระมหาพิชัยราชรถเกิดชำรุด ในงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ จึงใช้เวชยันตราชรถเป็นราชรถทรงพระบรมศพ โดยออกหมายกำหนดการเรียกว่า “พระมหาพิชัยราชรถ” และไม่มีราชรถรองในริ้วขบวน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ชัยชนะหรือปราชัยเป็นที่สุดของสงคราม
: การแตกดับแห่งรูปนามเป็นที่สุดของชีวิต
บัณฑิตย่อมพิจารณาดังนี้เนืองๆ
————-
ภาพประกอบจาก google
#บาลีวันละคำ (1,960)
21-10-60