บาลีวันละคำ

พระที่นั่งพิมานรัตยา (บาลีวันละคำ 1,961)

พระที่นั่งพิมานรัตยา

คำบาลีคือ “พิมานรัตยา” อ่านว่า พิ-มาน-รัด-ตะ-ยา

แยกคำเป็น พิมาน + รัตยา

(๑) “พิมาน

บาลีเป็น “วิมาน” อ่านว่า วิ-มา-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) วิ (แทนศัพท์ “วิห” = อากาศ) + มา (ธาตุ = ไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: วิ + มา = วิมา + ยุ > อน = วิมาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นเครื่องเดินทางไปในอากาศของพวกเทวดา”

(2) วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ) + มา (ธาตุ = กะ, ประมาณ; นับ, นับถือ; รัก, ปรารถนา) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน

: วิ + มา = วิมา + ยุ > อน = วิมาน แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ที่อันกรรมกะกำหนดโดยพิเศษ”

(2) “ที่อันกรรมที่ประพฤติดีแล้วเนรมิตให้โดยพิเศษ

(3) “ที่อันกรรมเนรมิตไว้โดยมีสัณฐานเหมือนนก” (คือล่องลอยอยู่บนฟ้า)

(4) “ที่อันพึงปรารถนาโดยพิเศษ

(5) “ที่อันนับถือกันว่าวิเศษสุดเพราะประกอบด้วยความงดงามอย่างวิเศษ

วิมาน” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีมีความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) “รถ” อย่างเก่าในฐานเป็นยานของเทพยดาซึ่งขับขี่ไปได้ตามใจ (the old ratha [ = conveyance, carriage, vehicle] as chariot of the gods, to be driven at will)

(2) ปราสาทบนสวรรค์, แดนสวรรค์, แดนสุขาวดี (heavenly magic palace, a kind of paradise, Elysium)

วิมาน” ในภาษาไทยอ่านว่า วิ-มาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิมาน : (คำนาม) ที่อยู่หรือที่ประทับของเทวดา; ยานทิพย์. (ป., ส.).”

วิมาน” แผลง เป็น ตามหลักนิยมในภาษาไทย จึงเป็น “พิมาน

(๒) “รัตยา

บาลีเป็น “รตฺยา” อ่านว่า รัด-ตฺยา (ออกเสียงว่า รัด-เตีย จะได้เสียงที่ใกล้เคียงที่สุด) รูปคำเดิมคือ “รตฺติ” (รัด-ติ)

รตฺติ” รากศัพท์มาจาก –

(1) รา (ธาตุ = ถือเอา) + ติ ปัจจัย, ลบ อา ที่สุดธาตุ (รา > ), ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (รา + ตฺ + ติ)

: รา + ตฺ + ติ = ราตฺติ > รตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “เวลาที่ถือเอาความไม่เบียดเบียน” (คือโดยปกติเป็นเวลาพักผ่อน หยุดการงาน จึงไม่มีใครทำอะไรแก่ใคร)

(2) รญฺชฺ (ธาตุ = กำหนัด, ยินดี) + ติ ปัจจัย, ลบ (ร)-ญฺชฺ ที่สุดธาตุ (รญฺช > ), ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (รญฺช + ตฺ + ติ)

: รญฺชฺ + ตฺ + ติ = รญฺชตฺติ > รตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “เวลาเป็นที่ชื่นชอบแห่งผู้มีความกำหนัด

(3) รา (แทนศัพท์ “สทฺท” = เสียง) + ติ (ธาตุ = ตัด, ขาด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ลบ อา ที่ รา (รา > ), ซ้อน ตฺ ระหว่างบทหน้ากับธาตุ (รา + ตฺ + ติ)

: รา + ตฺ + ติ = ราตฺติ + กฺวิ = ราตฺติกฺวิ > ราตฺติ > รตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “เวลาเป็นที่ขาดหายแห่งเสียง

(4) รา (แทนศัพท์ “ธน” = ทรัพย์) + ติ (ธาตุ = แตก, ทำลาย) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ลบ อา ที่ รา (รา > ), ซ้อน ตฺ ระหว่างบทหน้ากับธาตุ (รา + ตฺ + ติ)

: รา + ตฺ + ติ = ราตฺติ + กฺวิ = ราตฺติกฺวิ > ราตฺติ > รตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “เวลาเป็นที่แตกไปแห่งทรัพย์” (คือถูกขโมยไป)

รตฺติ” (อิตถีลิงค์) หมายถึง กลางคืน (night)

รตฺติ” แจกด้วยวิภัตตินามที่ห้า (ปัญจมีวิภัตติ) เอกพจน์ ได้รูปเป็น “รตฺยา

ภาษาไทยนำรูป รตฺยา > รัตยา มาใช้ในฐานะเป็นอีกรูปหนึ่งของ “รัตติ” หรือ “ราตรี

พิมาน + รัตยา = พิมานรัตยา เป็นคำประสมแบบไทย แปลตามศัพท์จากหน้าไปหลังว่า “วิมานยามราตรี” หมายความว่า ยามราตรีสถานที่นี้คือวิมาน รวมความว่า เมื่อได้พำนักในสถานที่แห่งนี้แม้เพียงราตรีหนึ่งจะมีความสุขสำราญประหนึ่งว่าอยู่ในวิมานแมนแดนสรวงฉะนั้น

พิมานรัตยา” เป็นชื่อพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระบรมมหาราชวัง

…………..

หนังสือ “คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิมพ์เผยแพร่ อธิบายคำว่า “พระที่นั่งพิมานรัตยา” ไว้ดังนี้ –

…………..

พระที่นั่งพิมานรัตยา : ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โดยเชื่อมต่อด้วยมุขกระสัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นอาคารทรงไทยยกพื้นสูง ก่ออิฐถือปูนทาสีขาว ตัวอาคารทอดยาวตามทิศเหนือ – ใต้ มีเฉลียงรอบ ๓ ด้าน คือเฉลียงด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกอยู่ในระดับพื้นดิน พื้นปูด้วยกระเบื้องดินเผาสีแดง ส่วนเฉลียงด้านทิศใต้ยกพื้นสูงต่อกับชานหน้าเรือนจันทร์ ที่เฉลียงนี้ปูพื้นด้วยหินอ่อน หลังคาลด ๓ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง และเชิงชาย

เดิมพระที่นั่งพิมานรัตยาเป็นที่บรรทมของพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสงูในบางโอกาส ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกฎุเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้เป็นสถานที่สำหรับชุมนุมสมาคม และพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารฝ่ายใน และใช้เป็นที่สรงน้ำพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่สรงน้ำพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคตก็ได้มีการสรงน้ำพระบรมศพ ณ พระที่นั่งองค์นี้ตามโบราณราชประเพณี

…………..

๏ โลกนี้คือวิมาน  สนุกสำราญ  เพียงชั่วราตรี

ทุกข์โศกเพลิดเพลิน  ไม่เกินร้อยปี  ก็ต้องหลีกลี้

ไปตามลีลา๚ะ๛

ดูก่อนภราดา!

ท่านรู้ตัวหรือยัง ว่ากำลังจะไปไหน?

—————–

(ภาพประกอบจาก google)

#บาลีวันละคำ (1,961)

22-10-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย