บาลีวันละคำ

เทวภาวะ (บาลีวันละคำ 3,795)

เทวภาวะ

คำที่แทบทุกคนต้องอ่านผิด

อ่านว่า ทะ-เว-พา-วะ

ประกอบด้วยคำว่า เทว + ภาวะ

(๑) “เทว”

เขียนแบบบาลีเป็น “เทฺว” โปรดสังเกตว่า มีจุดใต้ ทฺ เป็นการบังคับให้ ทฺ เป็นอักษรควบกับ ว

และโปรดสังเกตวิธีเขียนด้วย นั่นคือ ทฺว + สระ เอ จะเอา เ ไว้หลัง ทฺ หน้า ว = ทฺเว ก็ไม่ได้ เพราะจะเท่ากับฉีก ทฺ กับ ว เป็น 2 ตัว จึงต้องเอา เ ไว้หน้า ทฺ = เทฺว

“เทฺว” รูปคำเดิมเป็น “ทฺวิ” (มีจุดใต้ ทฺ) ออกเสียงตามลิ้นไทยว่า ทะ-วิ เสียง ทะ แผ่วๆ และควบกับ วิ หรือออกเสียงคำว่า ทุย-อิ๊ เร็วๆ จะได้เสียง “ทฺวิ” ที่ถูกต้องที่สุด

“ทฺวิ” เป็นศัพท์สังขยา คือคำบอกจำนวน แปลว่า สอง (จำนวน 2) (number two) แต่เมื่อนำไปใช้ในประโยคข้อความ สามารถเปลี่ยนรูปไปได้หลายอย่าง

สูตรการแปลงรูปของ “ทฺวิ” ที่นักเรียนบาลีจำกันมาคือ “ทฺวิ ทิ ทุ ทฺวา พา เทฺว”

(๒) “ภาวะ”

บาลีเป็น “ภาว” อ่านว่า พา-วะ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อู เป็น โอ, แปลง โอ เป็น อาว

: ภู + ณ = ภูณ > ภู > โภ > ภาว แปลว่า ความมี, ความเป็น, ภาวะ, ธรรมชาติ (being, becoming, condition, nature)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ภาว-, ภาวะ : (คำนาม) ความมี, ความเป็น, ความปรากฏ, เช่น ภาวะน้ำท่วม ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ. (ป., ส.).”

เทฺว + ภาว = เทฺวภาว (ท๎เว-พา-วะ) แปลว่า “ความเป็นสอง”

“เทฺวภาว” ใช้ในภาษาไทยเป็น “เทวภาวะ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ดังนี้ –

“เทวภาวะ : (คำนาม) ความเป็น ๒, ความเป็นคู่; พยัญชนะที่ซ้อนกัน ๒ ตัว; ใช้ เทวภาพ ก็ได้.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเป็นดังนี้ –

“เทวภาวะ : (คำนาม) ความเป็นคู่, ความเป็น ๒, สภาพที่เป็น ๒ คือ ความลังเลสงสัย, เขียนเป็น เทวภาพ ก็มี เช่น ทวีพิชทวีธารทรง สุรยเสพย ไส้แฮ เทวภาพเทวหกพ้น แว่นไว (ยวนพ่าย).”

ในภาษาไทย “ทฺวิ” แปลงรูปเป็น “เทว” (อ่านว่า ทะ-เว) ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 นอกจากคำว่า “เทวภาวะ” แล้ว พบคำต่อไปนี้ –

(1) เทวตรีคันธา [ทะเวตฺรี-] : (คำนาม) พิกัดตัวยาประเภทหนึ่งในตำรายาไทย จำกัดจำนวนตัวยาอันมีกลิ่นหอม ๒ ชนิด ชนิดละ ๓ อย่าง คือ ดอกบุนนาค แก่นบุนนาค รากบุนนาค กับ ดอกมะซาง แก่นมะซาง รากมะซาง.

(2) เทววาจิกสรณคมน์ [ทะเววาจิกะสะระนะคม] : (คำนาม) การเปล่งวาจาถึงรัตนะ ๒ คือ พระพุทธเจ้าและพระธรรมว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก เพราะเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์ เป็นสรณคมน์ที่ตปุสสะและภัลลิกะกล่าวหลังจากที่ได้ถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงแด่พระพุทธเจ้าในสัปดาห์ที่ ๔ หลังจากตรัสรู้.

(3) เทวสุคนธ์ : (คำนาม) กลิ่นหอม ๒ อย่าง คือ กลิ่นที่เกิดจากรากบุนนาคและรากมะซาง.

ขอย้ำว่า “เทว-” ในคำที่ยกมานี้ อ่านว่า ทะ-เว- ไม่ใช่ เท-วะ-

ขยายความ :

คำว่า “เทฺวภาว” เป็นคำที่รู้จักกันในบาลีไวยากรณ์ว่าหมายถึงการทำพยัญชนะให้เป็น 2 ตัว

ขอนำคำอธิบายเรื่อง “เทฺวภาว” ทางบาลีไวยากรณ์มาเสนอเป็นหลักความรู้ ดังนี้ –

…………..

คำว่า “เทฺวภาวะ” หมายความว่า การทำพยัญชนะให้เป็น ๒ ตัว คือ เพิ่มพยัญชนะซ้อนเข้ามาอีกตัวหนึ่ง แต่การที่จะเพิ่มเข้ามานี้ต้องถือพยัญชนะที่อยู่ต้นธาตุเป็นหลัก คือพยัญชนะตัวต้นของธาตุเป็นพยัญชนะอะไร และอาศัยอยู่กับสระอะไร ต้อง เทฺวภาวะ เพิ่มพยัญชนะที่เป็นเช่นเดียวกันนั้นกับสระเช่นนั้นซ้อนลงข้างหน้าของพยัญชนะที่เป็นต้นธาตุนั้น เช่น

ฆสฺ ธาตุ ในความกิน ต้องทำเทฺวภาวะ คือเพิ่ม ฆ เข้าข้างหน้าพยัญชนะต้นธาตุอีกตัวหนึ่ง เป็น ฆฆสฺ

หรือ หรฺ ธาตุ ในความนำไป ทำเทฺวภาวะ ห ไว้ข้างหน้าเป็น หหรฺ เช่นนี้เป็นต้น

เทฺวภาวะนี้แบ่งเป็น ๒ คือ เทฺวภาวะพยัญชนะ ๑ เทฺวภาวะสระ ๑ พยัญชนะที่ถูกทำเทฺวภาวะนั้น เรียกว่า “พยัญชนะอัพภาส” สระที่ติดกันอยู่กับพยัญชนะนั้นซึ่งจะถูกทำเทฺวภาวะตามพยัญชนะด้วย เรียกว่า “สระของพยัญชนะอัพภาส”

ตามหลักที่ท่านนิยม ก่อนที่จะทำเทฺวภาวะ ต้องลงปัจจัยและวิภัตติที่ตัวธาตุนั้นให้สำเร็จเสียก่อน เช่น คุปฺ ธาตุ ต้องลง ฉ ปัจจัย ติ วิภัตติ เป็น คุปฉติ เสียก่อน แล้วจึงทำเทฺวภาวะเป็น คุคุปฉติ เป็นต้น ต่อนั้นจึงทำวิธีเปลี่ยนแปลงเป็นลำดับไป

ที่มา: อธิบายบาลีไวยากรณ์ อาขยาต ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย หน้า 62-63

…………..

โปรดสังเกตว่า คำอธิบายที่ยกมานี้เขียนคำว่า “เทฺวภาวะ” แบบกึ่งบาลีกึ่งไทย คือมีจุดใต้ ทฺ แบบบาลี แต่ -ภาวะ มีสระ อะ แบบคำไทย เขียนแบบนี้ทำให้อ่านคำว่า “เทฺว-” ได้ถูกต้อง คือไม่อ่านว่า เท-วะ- เพราะมีจุดอยู่ใต้ ทฺ เป็นการบังคับอยู่ในตัว

แต่เมื่อใช้ในภาษาไทยเป็น “เทวภาวะ” ตามพจนานุกรมฯ (ไม่มีจุดใต้ ท) ก็เกิดปัญหา เพราะคนส่วนมากเห็นรูปคำว่า “เทว-” ก็จะอ่านว่า เท-วะ- เพราะคุ้นกับ เทว- ที่หมายถึงเทวดาหรือเทพ น้อยคนที่จะรู้ว่าคำนี้มาจากคำบาลีว่า เทฺว

“เทฺว” กับ “เทว” ถ้าเขียนเป็นอักษรโรมัน จะแตกต่างกันชัดเจน คือ

“เทฺว” > dve = สอง

“เทว” > deva = เทวดา

แต่เมื่อใช้ในภาษาไทย “เทฺว” กับ “เทว” เขียนเหมือนกัน คือสะกดเป็น “เทว” ทั้งคู่ จึงทำให้เกิดปัญหาอ่านผิด

ถ้าไม่มีใครสนใจ ต่อไปคำว่า “เทวภาวะ” อ่านว่า เท-วะ-พา-วะ คงเป็นคำอ่านที่ถูกต้อง ถึงตอนนั้นคงมีคนแต่งคำอธิบายให้ผิดกลายเป็นถูกไปอีกคำหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สังคมวิปริต

: ถ้ายอมให้ผิดกลายเป็นถูก

#บาลีวันละคำ (3,795)

02-11-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *