สมุหพระกลาโหม (บาลีวันละคำ 2,109)
สมุหพระกลาโหม
อ่านว่า สะ-หฺมุ-หะ-พฺระ-กะ-ลา-โหม
ประกอบด้วยคำว่า สมุห + พระกลาโหม
(๑) “สมุห”
บาลีเป็น “สมูห” (สะ-มู-หะ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค ในที่นี้ใช้ในความหมายว่า “สมฺมา” = ถูกต้อง, “วิเสส” = พิเศษ, “สม” = เสมอกัน, พร้อมกัน) + อูหฺ (ธาตุ = นับ; ตั้งอยู่; รู้) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ม (สํ > สม)
: สํ > สม + อูหฺ = สมูหฺ + ณ = สมูหณ > สมูห แปลตามศัพท์ว่า (1) “หมู่ที่นับกันโดยชอบและโดยพิเศษ” (2) “หมู่ที่ดำรงอยู่กับส่วนย่อย” (3) “หมู่อันเขารู้กันดีว่าเป็นส่วนเดียวกัน”
“สมูห” (ปุงลิงค์) หมายถึง กอง กลุ่ม, การรวมกัน (multitude, mass, aggregation)
บาลี “สมูห” ในภาษาไทยใช้เป็น “สมุห-” (อ่านว่า สะ-หฺมุ-หะ- เมื่อมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “สมุห์” (อ่านว่า สะ-หฺมุ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมุห-, สมุห์ : (คำนาม) หมู่, กอง, พวก. (ป.; ส. สมูห); หัวหน้าในตําแหน่งหน้าที่ เช่น สมุหพระราชพิธี สมุหราชองครักษ์ สมุห์บัญชี; ตําแหน่งพระฐานานุกรมเหนือใบฎีกา เช่น พระสมุห์ พระครูสมุห์.”
ข้อสังเกต :
ความหมายว่า หมู่, กอง, พวก เป็นความหมายเดิมตามภาษาบาลี
ความหมายว่า หัวหน้าในตําแหน่งหน้าที่ และตําแหน่งพระฐานานุกรม เป็นความหมายที่กลายมาในภาษาไทย
(๒) “พระกลาโหม”
ประกอบด้วยคำว่า พระ + กลาโหม
(ก) “พระ” เป็นคำที่ใช้ประกอบหน้าคําอื่นแสดงความยกย่อง ในที่นี้มีความหมายเป็นดังอิสริยยศหรือบรรดาศักดิ์ข้าราชการ
(ข) “กลาโหม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กลาโหม : (คำนาม) ชื่อกรมฝ่ายทหารในสมัยโบราณ คือ กรมพระกลาโหม, ชื่อมหาเสนาบดีฝ่ายทหารในสมัยโบราณ ดำรงฐานะเป็นสมุหพระกลาโหม; ชื่อกระทรวงที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในประเทศ; การชุมนุมพลรบ.”
มีผู้แสดงที่มาของคำว่า “กลาโหม” ไว้หลายทาง เท่าที่ผู้เขียนบาลีวันละคำประมวลได้มีดังนี้ –
1 บางท่านว่า กลา + โหม “กลา” แปลว่า ส่วน, เสี้ยวที่สิบหกของพระจันทร์ “โหม” คำไทย แปลว่า ทำให้แรงขึ้น (พระวรเวทย์พิสิฐ รวบรวม)
2 บางท่านว่า “กลาโหม” เป็นพิธีของพราหมณ์ แปลว่า “กองไฟ” เวลาจะไปทัพต้องทำพิธีนี้ จึงเอามาใช้เป็นคำเกี่ยวกับทหาร (พระวรเวทย์พิสิฐ รวบรวม)
3 บางท่านว่า “กลา” เป็นคำสันสกฤต “โหม” คำไทย แปลว่า รบ “กลาโหม” คือกองรบ (พระวรเวทย์พิสิฐ รวบรวม)
4 บางท่านว่า มาจากบาลีว่า“กลห” (กะ-ละ-หะ) แปลว่า วิวาท, ทะเลาะกัน, วุ่นวาย, รบประจัญบาน (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
5 บางท่านว่า มาจากคำเขมรว่า กฺรฬาโหม “กฺรฬา” แปลว่า สังเวียน, ลาน, บริเวณ, ปริมณฑล, กระทงจีวร (ผ้าท่อนหนึ่งๆ ของจีวร มีลักษณะเหมือนกระทงนา ซึ่งมีรูปสี่เหลี่ยม) “โหม” แปลว่า การบูชาไฟ “กฺรฬาโหม” แปลว่า “สังเวียนแห่งการบูชาไฟ” เขมรโบราณเวลาจะไปทัพ พวกพราหมณ์จะต้องทำพิธีนี้ ไทยรับธรรมเนียมนี้มาจากเขมร (จิตร ภูมิศักดิ์)
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอคำบางคำในภาษาบาลีเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ดังนี้ –
(1) “กลา” (กะ-ลา) บาลีมีความหมาย 2 อย่างคือ (1) เสี้ยวเล็กๆ ของส่วนที่เต็ม (นัยเดียวกับที่ว่า “กฺรฬา” แปลว่า “กระทงจีวร” คือผ้าชิ้นเล็กๆ ที่ประกอบกันเป็นจีวรเต็มผืน) (2) อุบาย (an art), การหลอกลวง (a trick)
(2) “กล” (กะ-ละ ไทยอ่านว่า กน กร่อนมาจาก “กลา”) พจน.42 บอกความหมายไว้ดังนี้
– การลวงหรือล่อลวงให้หลงหรือให้เข้าใจผิดเพื่อให้ฉงนหรือเสียเปรียบ เช่น เล่ห์กล
– เล่ห์เหลี่ยม เช่น กลโกง
– เรียกการเล่นที่ลวงตาให้เห็นเป็นจริงว่า เล่นกล
– เครื่องกลไก, เครื่องจักร, เครื่องยนต์ เช่น ช่างกล
– เช่น, อย่าง, เหมือน เช่น เหตุผลกลใด
– เคลือบแฝง เช่น ถ้าจําเลยให้การเป็นกลความ
จะเห็นได้ว่า เป็นความหมายของ “กลา” ที่ว่า “การหลอกลวง” นั่นเอง
ส่วนที่หมายถึงเครื่องจักรเครื่องยนต์ ก็สามารถ “ลากเข้าความ” ได้ว่า ชิ้นส่วนเล็กๆ ประกอบกันเข้านั่นเองจึงเป็นเครื่องจักรเครื่องยนต์ อันเป็นความหมายของ “กลา” ที่ว่า “เสี้ยวเล็กๆ ของส่วนที่เต็ม”
(3) คำที่ออกมาจาก “กล” คำหนึ่งที่ชัดเจนมาก คือ “กลยุทธ์” (กน-ละ-ยุด) หมายถึงการรบที่มีเล่ห์เหลี่ยม, วิธีการที่ต้องใช้กลอุบายต่าง ๆ, เล่ห์เหลี่ยมในการต่อสู้ “กล” ในคำนี้มีที่มาจากภารกิจของทหารโดยตรง
จะเห็นได้ว่า “กล-กลา” มีความหมายเกี่ยวกับกองทัพกองทหารได้ด้วย
(4) “โหม” บาลีอ่านว่า โห-มะ แปลว่า เครื่องเซ่น, เครื่องบวงสรวง, การบูชา, การสังเวย, บูชายัญ, บูชาไฟ
ถ้า “กลาโหม” จะมาจากคำบาลี ก็แปลได้ว่า “พิธีเซ่นสรวงสังเวยในเวลาออกรบ” แล้วคลี่คลายกลายมาเป็นชื่อเรียกหน่วยงานของทหารดังที่ใช้ในปัจจุบัน
การประสมคำ :
– พระ + กลาโหม = พระกลาโหม เป็นชื่อหน่วยงานฝ่ายทหารในสมัยโบราณ
– สมุห + พระกลาโหม = สมุหพระกลาโหม แปลความตามประสงค์ในภาษาไทยว่า “ผู้เป็นหัวหน้าแห่งข้าราชการฝ่ายทหาร”
อภิปราย :
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายของ “กลาโหม” ไว้ประการหนึ่งว่า –
“ชื่อกรมที่ปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ในสมัยโบราณ มีสมุหพระกลาโหมเป็นประธาน”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามส่วนนี้เป็น –
“ชื่อกรมฝ่ายทหารในสมัยโบราณ คือ กรมพระกลาโหม, ชื่อมหาเสนาบดีฝ่ายทหารในสมัยโบราณ ดำรงฐานะเป็นสมุหพระกลาโหม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 มีคำว่า “สมุหกลาโหม” และ “สมุหพระกลาโหม” บอกไว้ว่า –
“สมุหกลาโหม, สมุหพระกลาโหม : (คำนาม) ตําแหน่งข้าราชการชั้นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหารครั้งโบราณ.”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ตัดคำว่า “สมุหกลาโหม” ออกไป คงเก็บไว้แต่ “สมุหพระกลาโหม” และปรับปรุงคำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –
“สมุหพระกลาโหม : (คำโบราณ) (คำนาม) ตำแหน่งข้าราชการชั้นอัครมหาสนาบดีฝ่ายทหาร ดูแลรับผิดชอบและเป็นประธานที่ประชุมเสนาบดีของฝ่ายทหาร รวมทั้งการปกครองและการยุติธรรมในหัวเมืองปักษ์ใต้.”
“สมุหพระกลาโหม” เป็นตำแหน่งที่คู่กับ “สมุหนายก”
อนึ่ง เป็นที่เข้าใจกันว่า –
“สมุหนายก” ทำหน้าที่กำกับดูแลการปกครองและการยุติธรรมในหัวเมืองฝ่ายเหนือ
“สมุหพระกลาโหม” ทำหน้าที่กำกับดูแลการปกครองและการยุติธรรมในหัวเมืองปักษ์ใต้
ดูเพิ่มเติม:
“สมุหนายก” บาลีวันละคำ (2,104) 18-3-61
“กลาโหม” บาลีวันละคำ (427) 16-7-56
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ยอดขุนพลที่แท้
: ต้องไม่แพ้ใจตัวเอง
————-
(ตามคำขอของ Jo Ender)
#บาลีวันละคำ (2,109)
22-3-61
สมุหพระกลาโหม
อ่านว่า สะ-หฺมุ-หะ-พฺระ-กะ-ลา-โหม
ประกอบด้วยคำว่า สมุห + พระกลาโหม
(๑) “สมุห”
บาลีเป็น “สมูห” (สะ-มู-หะ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค ในที่นี้ใช้ในความหมายว่า “สมฺมา” = ถูกต้อง, “วิเสส” = พิเศษ, “สม” = เสมอกัน, พร้อมกัน) + อูหฺ (ธาตุ = นับ; ตั้งอยู่; รู้) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ม (สํ > สม)
: สํ > สม + อูหฺ = สมูหฺ + ณ = สมูหณ > สมูห แปลตามศัพท์ว่า (1) “หมู่ที่นับกันโดยชอบและโดยพิเศษ” (2) “หมู่ที่ดำรงอยู่กับส่วนย่อย” (3) “หมู่อันเขารู้กันดีว่าเป็นส่วนเดียวกัน”
“สมูห” (ปุงลิงค์) หมายถึง กอง กลุ่ม, การรวมกัน (multitude, mass, aggregation)
บาลี “สมูห” ในภาษาไทยใช้เป็น “สมุห-” (อ่านว่า สะ-หฺมุ-หะ- เมื่อมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “สมุห์” (อ่านว่า สะ-หฺมุ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมุห-, สมุห์ : (คำนาม) หมู่, กอง, พวก. (ป.; ส. สมูห); หัวหน้าในตําแหน่งหน้าที่ เช่น สมุหพระราชพิธี สมุหราชองครักษ์ สมุห์บัญชี; ตําแหน่งพระฐานานุกรมเหนือใบฎีกา เช่น พระสมุห์ พระครูสมุห์.”
ข้อสังเกต :
ความหมายว่า หมู่, กอง, พวก เป็นความหมายเดิมตามภาษาบาลี
ความหมายว่า หัวหน้าในตําแหน่งหน้าที่ และตําแหน่งพระฐานานุกรม เป็นความหมายที่กลายมาในภาษาไทย
(๒) “พระกลาโหม”
ประกอบด้วยคำว่า พระ + กลาโหม
(ก) “พระ” เป็นคำที่ใช้ประกอบหน้าคําอื่นแสดงความยกย่อง ในที่นี้มีความหมายเป็นดังอิสริยยศหรือบรรดาศักดิ์ข้าราชการ
(ข) “กลาโหม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กลาโหม : (คำนาม) ชื่อกรมฝ่ายทหารในสมัยโบราณ คือ กรมพระกลาโหม, ชื่อมหาเสนาบดีฝ่ายทหารในสมัยโบราณ ดำรงฐานะเป็นสมุหพระกลาโหม; ชื่อกระทรวงที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในประเทศ; การชุมนุมพลรบ.”
มีผู้แสดงที่มาของคำว่า “กลาโหม” ไว้หลายทาง เท่าที่ผู้เขียนบาลีวันละคำประมวลได้มีดังนี้ –
1 บางท่านว่า กลา + โหม “กลา” แปลว่า ส่วน, เสี้ยวที่สิบหกของพระจันทร์ “โหม” คำไทย แปลว่า ทำให้แรงขึ้น (พระวรเวทย์พิสิฐ รวบรวม)
2 บางท่านว่า “กลาโหม” เป็นพิธีของพราหมณ์ แปลว่า “กองไฟ” เวลาจะไปทัพต้องทำพิธีนี้ จึงเอามาใช้เป็นคำเกี่ยวกับทหาร (พระวรเวทย์พิสิฐ รวบรวม)
3 บางท่านว่า “กลา” เป็นคำสันสกฤต “โหม” คำไทย แปลว่า รบ “กลาโหม” คือกองรบ (พระวรเวทย์พิสิฐ รวบรวม)
4 บางท่านว่า มาจากบาลีว่า“กลห” (กะ-ละ-หะ) แปลว่า วิวาท, ทะเลาะกัน, วุ่นวาย, รบประจัญบาน (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
5 บางท่านว่า มาจากคำเขมรว่า กฺรฬาโหม “กฺรฬา” แปลว่า สังเวียน, ลาน, บริเวณ, ปริมณฑล, กระทงจีวร (ผ้าท่อนหนึ่งๆ ของจีวร มีลักษณะเหมือนกระทงนา ซึ่งมีรูปสี่เหลี่ยม) “โหม” แปลว่า การบูชาไฟ “กฺรฬาโหม” แปลว่า “สังเวียนแห่งการบูชาไฟ” เขมรโบราณเวลาจะไปทัพ พวกพราหมณ์จะต้องทำพิธีนี้ ไทยรับธรรมเนียมนี้มาจากเขมร (จิตร ภูมิศักดิ์)
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอคำบางคำในภาษาบาลีเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ดังนี้ –
(1) “กลา” (กะ-ลา) บาลีมีความหมาย 2 อย่างคือ (1) เสี้ยวเล็กๆ ของส่วนที่เต็ม (นัยเดียวกับที่ว่า “กฺรฬา” แปลว่า “กระทงจีวร” คือผ้าชิ้นเล็กๆ ที่ประกอบกันเป็นจีวรเต็มผืน) (2) อุบาย (an art), การหลอกลวง (a trick)
(2) “กล” (กะ-ละ ไทยอ่านว่า กน กร่อนมาจาก “กลา”) พจน.42 บอกความหมายไว้ดังนี้
– การลวงหรือล่อลวงให้หลงหรือให้เข้าใจผิดเพื่อให้ฉงนหรือเสียเปรียบ เช่น เล่ห์กล
– เล่ห์เหลี่ยม เช่น กลโกง
– เรียกการเล่นที่ลวงตาให้เห็นเป็นจริงว่า เล่นกล
– เครื่องกลไก, เครื่องจักร, เครื่องยนต์ เช่น ช่างกล
– เช่น, อย่าง, เหมือน เช่น เหตุผลกลใด
– เคลือบแฝง เช่น ถ้าจําเลยให้การเป็นกลความ
จะเห็นได้ว่า เป็นความหมายของ “กลา” ที่ว่า “การหลอกลวง” นั่นเอง
ส่วนที่หมายถึงเครื่องจักรเครื่องยนต์ ก็สามารถ “ลากเข้าความ” ได้ว่า ชิ้นส่วนเล็กๆ ประกอบกันเข้านั่นเองจึงเป็นเครื่องจักรเครื่องยนต์ อันเป็นความหมายของ “กลา” ที่ว่า “เสี้ยวเล็กๆ ของส่วนที่เต็ม”
(3) คำที่ออกมาจาก “กล” คำหนึ่งที่ชัดเจนมาก คือ “กลยุทธ์” (กน-ละ-ยุด) หมายถึงการรบที่มีเล่ห์เหลี่ยม, วิธีการที่ต้องใช้กลอุบายต่าง ๆ, เล่ห์เหลี่ยมในการต่อสู้ “กล” ในคำนี้มีที่มาจากภารกิจของทหารโดยตรง
จะเห็นได้ว่า “กล-กลา” มีความหมายเกี่ยวกับกองทัพกองทหารได้ด้วย
(4) “โหม” บาลีอ่านว่า โห-มะ แปลว่า เครื่องเซ่น, เครื่องบวงสรวง, การบูชา, การสังเวย, บูชายัญ, บูชาไฟ
ถ้า “กลาโหม” จะมาจากคำบาลี ก็แปลได้ว่า “พิธีเซ่นสรวงสังเวยในเวลาออกรบ” แล้วคลี่คลายกลายมาเป็นชื่อเรียกหน่วยงานของทหารดังที่ใช้ในปัจจุบัน
การประสมคำ :
– พระ + กลาโหม = พระกลาโหม เป็นชื่อหน่วยงานฝ่ายทหารในสมัยโบราณ
– สมุห + พระกลาโหม = สมุหพระกลาโหม แปลความตามประสงค์ในภาษาไทยว่า “ผู้เป็นหัวหน้าแห่งข้าราชการฝ่ายทหาร”
อภิปราย :
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายของ “กลาโหม” ไว้ประการหนึ่งว่า –
“ชื่อกรมที่ปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ในสมัยโบราณ มีสมุหพระกลาโหมเป็นประธาน”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามส่วนนี้เป็น –
“ชื่อกรมฝ่ายทหารในสมัยโบราณ คือ กรมพระกลาโหม, ชื่อมหาเสนาบดีฝ่ายทหารในสมัยโบราณ ดำรงฐานะเป็นสมุหพระกลาโหม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 มีคำว่า “สมุหกลาโหม” และ “สมุหพระกลาโหม” บอกไว้ว่า –
“สมุหกลาโหม, สมุหพระกลาโหม : (คำนาม) ตําแหน่งข้าราชการชั้นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหารครั้งโบราณ.”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ตัดคำว่า “สมุหกลาโหม” ออกไป คงเก็บไว้แต่ “สมุหพระกลาโหม” และปรับปรุงคำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –
“สมุหพระกลาโหม : (คำโบราณ) (คำนาม) ตำแหน่งข้าราชการชั้นอัครมหาสนาบดีฝ่ายทหาร ดูแลรับผิดชอบและเป็นประธานที่ประชุมเสนาบดีของฝ่ายทหาร รวมทั้งการปกครองและการยุติธรรมในหัวเมืองปักษ์ใต้.”
“สมุหพระกลาโหม” เป็นตำแหน่งที่คู่กับ “สมุหนายก”
อนึ่ง เป็นที่เข้าใจกันว่า –
“สมุหนายก” ทำหน้าที่กำกับดูแลการปกครองและการยุติธรรมในหัวเมืองฝ่ายเหนือ
“สมุหพระกลาโหม” ทำหน้าที่กำกับดูแลการปกครองและการยุติธรรมในหัวเมืองปักษ์ใต้
ดูเพิ่มเติม:
“สมุหนายก” บาลีวันละคำ (2,104) 18-3-61
“กลาโหม” บาลีวันละคำ (427) 16-7-56
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ยอดขุนพลที่แท้
: ต้องไม่แพ้ใจตัวเอง
————-
(ตามคำขอของ Jo Ender)
#บาลีวันละคำ (2,109)
22-3-61