วสันตวิษุวัต (บาลีวันละคำ 2,108)
วสันตวิษุวัต
อ่านว่า วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด
ประกอบด้วยคำว่า วสันต + วิษุวัต
(๑) “วสันต”
บาลีเป็น “วสนฺต” (วะ-สัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = ยินดี, พอใจ) + อนฺต ปัจจัย
: วสฺ + อนฺต = วสนฺต (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ฤดูอันผู้คนยินดี” (2) “ฤดูเป็นที่ยินดีแห่งผู้มีความรักเพราะมีดอกไม้บาน” (3) “ฤดูเป็นที่พอใจแห่งผู้เล่นกีฬา” หมายถึง ฤดูใบไม้ผลิ, ฤดูฝน (spring)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วสันต-, วสันต์ : (คำนาม) ฤดูใบไม้ผลิ ในคำว่า ฤดูวสันต์. (ป., ส.).”
(๒) “วิษุวัต”
เป็นคำสันสกฤต ในสันสกฤตสะกดเป็น “วิษุวตฺ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำที่เกี่ยวข้องดังนี้ –
(1) วิษุ : (คำกริยาวิเศษณ์) เท่าๆ กัน; equally.
(2) วิษุป, วิษุปท : (คำนาม) ‘วิษุบท,’ วิษุวัต (อันมีคืนและวันเท่าๆ กัน); the equinox.
(3) วิษุว : (คำนาม) วิษุวัต; the equinox.
(4) วิษุวตฺ : (คำนาม) ‘วิษุวัต,’ วิษุบท (อันมีคืนและวันเท่าๆ กัน); the equinox.
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิษุวัต : (คำที่ใช้ในดาราศาสตร์) (คำนาม) จุดราตรีเสมอภาค คือ จุดที่เมื่อดวงอาทิตย์โคจรไปถึง โลกจะมีกลางวันกับกลางคืนเท่ากัน มี ๒ จุด คือ วสันตวิษุวัต และ ศารทวิษุวัต. (ส. ว่า มีในกึ่งกลาง; อ. equinox).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “วิษุวัต” ตรงกับคำอังกฤษว่า equinox
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล equinox เป็นบาลีว่า –
samarattindivakāla สมรตฺตินฺทิวกาล (สะ-มะ-รัด-ติน-ทิ-วะ-กา-ละ) แปลว่า “เวลาที่กลางคืนและกลางวันเท่ากัน”
จะเห็นว่า คำว่า “สมรตฺตินฺทิวกาล” เป็นคำแปลในเชิงอธิบายความหมายของคำว่า equinox นั่นเอง ไม่ใช่เป็นการตั้งศัพท์ขึ้นใหม่ คือไม่อาจกล่าวได้ว่า สันสกฤตว่า “วิษุวัต” ตรงกับบาลีว่า “สมรตฺตินฺทิวกาล” แต่กล่าวได้ว่า “สมรตฺตินฺทิวกาล” เป็นคำอธิบายความหมายของคำว่า “วิษุวัต”
วสันต + วิษุวัต = วสันตวิษุวัต แปลว่า “วิษุวัตในฤดูวสันต์” หมายถึง วันที่โลกมีกลางวันกับกลางคืนเท่ากันในฤดูใบไม้ผลิ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วสันตวิษุวัต : (คำที่ใช้ในดาราศาสตร์) (คำนาม) จุดราตรีเสมอภาค ที่เมื่อดวงอาทิตย์โคจรไปถึงในราววันที่ ๒๑ มีนาคม, คู่กับ ศารทวิษุวัต. (อ. vernal equinox).”
ที่คำว่า “ศารทวิษุวัต” (สา-ระ-ทะ-วิ-สุ-วัด) พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –
“ศารทวิษุวัต : (คำที่ใช้ในดาราศาสตร์) (คำนาม) จุดราตรีเสมอภาคที่เมื่อดวงอาทิตย์โคจรไปถึงในราววันที่ ๒๔ กันยายน (autumnal equinox), คู่กับ วสันตวิษุวัต.”
สรุปว่า ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “วิษุวัต” คือโลกมีกลางวันกับกลางคืนเท่ากันมี 2 ครั้ง คือ :
– ในราววันที่ 21 มีนาคม ครั้งหนึ่ง เรียกว่า “วสันตวิษุวัต” (vernal equinox) หรือจุดราตรีเสมอภาคในฤดูใบไม้ผลิ
– ในราววันที่ 24 กันยายนอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า “ศารทวิษุวัต” (autumnal equinox) หรือจุดราตรีเสมอภาคในฤดูใบไม้ร่วง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนรวยกับคนจนทำผิดกฎหมาย
อาจติดคุกสุขสบายไม่เท่ากัน
: แต่คนรวยกับคนจนทำชั่วทำสกปรก
ตกนรกเสมอกัน
—————
(ตามคำถามของ ดอกเหมย เดียวดาย)
#บาลีวันละคำ (2,108)
21-3-61