บาลีวันละคำ

โกษาธิบดี (บาลีวันละคำ 2,110)

โกษาธิบดี

อ่านว่า โก-สา-ทิ-บอ-ดี หรือ โก-สา-ทิบ-บอ-ดี ก็ได้

ประกอบด้วยคำว่า โกษ + อธิบดี

(๑) “โกษ

บาลีเป็น “โกส” (โก-สะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) กุ (ศัสตราวุธ) + สิ (ธาตุ = อยู่, ผูก, มัด) + ปัจจัย, แผลง อุ ที่ กุ เป็น โอ (กุ > โก), ลบ อิ ที่ สิ (สิ > )

: กุ + สิ = กุสิ + = กุสิ > โกสิ > โกส แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่อยู่แห่งศัสตรา” (2) “ที่เป็นที่ผูกศัสตราไว้

(2) กุสฺ (ธาตุ = ตัด) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ กุ-(สฺ) เป็น โอ (กุสฺ >โกส)

: กุสฺ + = กุสณ > กุส > โกส แปลตามศัพท์ว่า (1) “ส่วนที่พึงขลิบออก” (2) “ส่วนที่ควรตัด” (คือควรแบ่งกัน)

ความหมายเดิมของ “โกส” คือ โพรง, ช่องหรือกล่อง, ที่ล้อมซึ่งมีอะไรก็ตามอยู่ภายใน (any cavity or enclosure containing anything)

ความหมายที่คลี่คลายมาจนลงตัวแล้ว คือ :

(1) ห้องเก็บของหรือคลังพัสดุ, คลังหรือฉาง (a store-room or storehouse, treasury or granary)

(2) ฝักมีด (a sheath)

(3) ภาชนะหรือชามข้าว (a vessel or bowl for food)

(4) รังไหมรอบตัวดักแด้ (a cocoon)

(5) หนังหุ้มอวัยวะสืบพันธุ์ชาย (หนังหุ้มปลาย) (the membranous cover of the male sexual organ, the praeputium)

บาลี “โกส” สันสกฤตเป็น “โกษ” และ “โกศ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน แสดงความหมายของ “โกศ” ไว้หลากหลาย ขอยกมาเสนอเป็นเครื่องประดับความรู้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

โกษ, โกศ : (คำนาม) กลิกา, ดอกตูม; ฝัก; เปลือก, หนัง, หรือสิ่งห่อหุ้มทั่วไป; การไต่สวนด้วยคำสาบาน, ด้วยไฟ, น้ำ, ยาพิษ, ตราชู, ก้อนเหล็กแดง, น้ำมันเดือด, ฯลฯ; การอ้างเทพดาเปนพยานหรือทิพยสากษิน และแตะต้องหรือกินน้ำสรงประติมาสามครั้ง หรือสามอึก; ทองหรือเงิน (อันเปนรูปพรรณหรือมิใช่รูปพรรณ เช่น จาน; เครื่องเพชรพลอยทั่วไป, ฯลฯ); ทรัพย์, ทรัพย์อันสั่งสมไว้, ธนทรัพย์; คลังทรัพย์, คลังเงิน; องค์ที่ลับของสตรี; องค์ที่ลับของบุรุษ; อัณฑะหรืออัณฑโกษ; ไข่; กลุ่ม, ก้อน, หรือรูปทรงกลม; ลูกจันทน์; อภิธานหรือพจนานุกรม; รองเท้า, เกือก; หมอยข้าวโภชน์; a bud; an unblown flower; a sheath, a scabbard; a coat, a cover or any investing sheath; judicial trial by oath, by fire, water, poison, the balance, heated balls of iron, boiling oil, &c.; attesting a deity, and touching or drinking water three time in which some idol has been washed; gold or silver (wrought or unwrought, as jewelry, &c.); wealth, accumulated wealth, treasure; a treasury, the apartment where money is kept; the vulva; the penis; a testicle or the scrotum; an egg; a ball or globe; a nutmeg; a dictionary or vocabulary; a shoe, a sandal; the beard of corn.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) โกศ ๑ : (คำนาม) สิ่งที่ทำขึ้นสำหรับประกอบนอกพระลองหรือลองที่ใส่พระบรมศพ พระศพ หรือศพ รูปทรงกระบอก ก้นสอบ ปากผาย มีฐาน และมีฝาครอบเป็นเครื่องยอด มีลักษณะแตกต่างกันไปตามอิสริยยศ, ที่ใส่พระบรมอัฐิ พระอัฐิ หรืออัฐิ มีขนาดต่างๆ ฝาครอบมียอด, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระโกศ; คลัง. (ส.).

(2) โกศ ๒ : (คำนาม) ฝัก, กระพุ้ง; ดอกไม้ตูม เช่น ชมช่อไม้เหมือนแก้ม โกศเกลา (ทวาทศมาส).

จะเห็นได้ว่า ในภาษาไทย ความหมายที่เด่นของ “โกศ” คือ ที่ใส่อัฐิ

ถ้าจะหมายถึง “คลัง” มักสมาสกับคำอื่น และใช้เป็น “โกษ” เช่น “โกษาธิบดี” = ขุนคลัง

(๒) “อธิบดี

บาลีเป็น “อธิปติ” (อะ-ทิ-ปะ-ติ) ประกอบด้วย อธิ + ปติ

(1) “อธิ” (อะ-ทิ) เป็นคำอุปสรรค (คำที่ใช้ประกอบข้างหน้าคำนามหรือกริยาให้มีความหมายยักเยื้องออกไป) นักเรียนบาลีแปลกันว่า ยิ่ง, ใหญ่, ทับ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายไว้ว่า –

1) บอกทิศทาง, จุดหมาย = จนถึง, เหนือ, ไปยัง, บน (up to, over, toward, to, on)

2) บอกสถานที่ = บนยอด, ข้างบน, เหนือ, บน (on top of, above, over)

(2) “ปติ” (ปะ-ติ) รากศัพท์มาจาก –

(ก) ปา (ธาตุ = รักษา, ดูแล) + ติ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา เป็น อะ (ปา > )

: ปา + ติ = ปาติ > ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักษา

(ข) ปตฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อิ ปัจจัย

: ปตฺ + อิ = ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปข้างหน้า

ปติ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) พ่อบ้าน, นาย, เจ้าของ, ผู้นำ (lord, master, owner, leader)

(2) สามี (husband)

อธิ + ปติ = อธิปติ แปลตามศัพท์ว่า “เจ้านายผู้เป็นใหญ่

อีกนัยหนึ่ง “อธิปติ” รากศัพท์มาจาก อธิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) + ปา (ธาตุ = รักษา, ปกครอง) + ติ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา เป็น อะ (ปา > )

: อธิ + ปา = อธิปา + ติ = อธิปาติ > อธิปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ปกครองใหญ่

อธิปติ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผู้ปกครอง, เจ้าใหญ่ (ruler, master)

(2) ครอบครอง, ปกครอง, มีอำนาจเหนือ; อยู่ใต้อำนาจ หรือปกครองโดย- (ruling over, governing, predominant; ruled or governed by)

อธิปติ” ในภาษาไทยใช้เป็น “อธิบดี” อ่านว่า อะ-ทิ-บอ-ดี ก็ได้ อะ-ทิบ-บอ-ดี ก็ได้ (ต่างกันที่ –ทิ– กับ –ทิบ-)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อธิบดี : (คำนาม) ผู้เป็นใหญ่, ผู้ปกครอง, หัวหน้า, เช่น อธิบดีสงฆ์ อธิบดีผู้พิพากษา; ตําแหน่งหัวหน้ากรมในราชการ. (คำวิเศษณ์) มีความเจริญสวัสดิมงคล ทางโหราศาสตร์นิยมให้ประกอบการมงคลต่าง ๆ ในวัน ยาม ฤกษ์ ราศี และดิถีที่เป็นอธิบดี ทั้งนี้ตลอดปีนั้น ๆ, ตรงข้ามกับโลกาวินาศ. (ป., ส. อธิปติ).”

โกส + อธิปติ = โกสาธิปติ > โกษาธิบดี แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่แห่งการคลัง” หรือ “ขุนคลัง

โกษาธิบดี” เป็นนามบรรดาศักดิ์ในสมัยอยุธยา พิจารณาจากชื่อเห็นได้ชัดว่ามีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการคลัง

ผู้ดำรงตำแหน่งในนามบรรดาศักดิ์ “โกษาธิบดี” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในประวัติศาสตร์ของไทย คือ “เจ้าพระยาโกษาธิบดี” (ปาน) มักเรียกรู้กันในนาม “โกษาปาน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่เต็มคลัง

: ไม่ใช่หน่วยเฝ้าระวังไม่ให้เจ้าของตกนรก

—————

ภาพประกอบ: จาก google

#บาลีวันละคำ (2,110)

23-3-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย