ถูปารหบุคคล (บาลีวันละคำ 1,968)
ถูปารหบุคคล
อ่านว่า ถู-ปา-ระ-หะ-บุก-คน
แยกศัพท์เป็น ถูป + อรห + บุคคล
(๑) “ถูป”
บาลีอ่านว่า ถู-ปะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ถุ (ธาตุ = สรรเสริญ, ชมเชย) + ป ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ ถุ เป็น อู (ถุ > ถู)
: ถุ + ป = ถุป > ถูป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนสรรเสริญบูชา”
(2) ถูปฺ (ธาตุ = ก่อ, สะสม) + อ ปัจจัย
: ถูปฺ + อ = ถูป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ก่อตัวขึ้น”
“ถูป” (ปุงลิงค์) หมายถึง สถูปหรือสตูป, เจดีย์, เนิน, โคก, กองหินที่ระลึก, ฮวงซุ้ย; โดม (a stupa or tope, a bell-shaped pile of earth, a mound, tumulus, cairn; dome)
บาลี “ถูป” สันสกฤตเป็น “สฺตูป”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(1) สฺตูป, สฺถูป : (ธาตุ) รวบรวม, พูนหรือกองขึ้นไว้; to collect, to heap.
(2) สฺตูป : (คำนาม) นิกร, กองดิน ฯลฯ.; a heap , a pile of earth, &c.
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สถูป : (คำนาม) สิ่งก่อสร้างที่มีรูปโอคว่ำซึ่งก่อไว้สำหรับบรรจุของควรบูชามีกระดูกของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เป็นต้น, บางทีใช้เข้าคู่กับคำ เจดีย์ เป็น สถูปเจดีย์ เช่น เดินเวียนเทียนรอบพระสถูปเจดีย์. (คำแบบ) สดูป, สตูป. (ป. ถูป; ส. สฺตูป).”
ในภาษาไทย คำนี้เราคุ้นกับรูปคำ “สถูป” มากกว่ารูปอื่น
(๒) “อรห”
บาลีอ่านว่า อะ-ระ-หะ รากศัพท์มาจาก อรหฺ (ธาตุ = สมควร, บูชา) + อ ปัจจัย
: อรหฺ + อ = อรห แปลตามศัพท์ว่า (1) “อันสมควร” (2) “อันเขาบูชา”
“อรห” (คุณศัพท์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) คู่ควรหรือสมควร, เหมาะสม, สมควรได้รับ, มีค่า (worthy of, deserving, entitled to, worth)
(2) เหมาะหรือควร, พอดิบพอดี, เหมาะสม (fit for, apt for, suitable)
(๓) “บุคคล”
บาลีเป็น “ปุคฺคล” (ปุก-คะ-ละ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ปุ (นรก) + คลฺ (ธาตุ = เคลื่อน) + อ ปัจจัย, ซ้อน คฺ
: ปุ + คฺ + คลฺ = ปุคฺคลฺ + อ = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เคลื่อนไปสู่นรก”
(2) ปูติ (ของบูดเน่า) + คลฺ (ธาตุ = กิน) + อ ปัจจัย, รัสสะ อู ที่ ปู-(ติ) เป็น อุ แล้วลบ ติ (ปูติ > ปุติ > ปุ), ซ้อน คฺ
: ปูติ > ปุติ > ปุ + คฺ + คลฺ = ปุคฺคลฺ + อ = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินอาหารคือของบูดเน่า”
(3) ปุคฺค (อาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็ม) + ลา (ธาตุ = กิน) + อ ปัจจัย, ลบ อา ที่ ลา (ลา > ล)
: ปุคฺค + ลา = ปุคฺคลา > ปุคฺคล + อ = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินอาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็มเป็นไป” (คือต้องกินจึงจะมีชีวิตอยู่ได้)
(4) ปูร (เต็ม) + คล (เคลื่อน), รัสสะ อู ที่ ปู-(ร) เป็น อุ แล้วลบ ร (ปูร > ปุร > ปุ), ซ้อน คฺ ระหว่าง ปูร + คล
: ปูร > ปุร > ปุ + คฺ + คล = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำหมู่สัตว์โลกให้เต็มและเคลื่อนไปสู่ธรรมดาคือจุติและอุบัติ” (คือเกิดมาทำให้โลกเต็มแล้วก็ตาย)
“ปุคฺคล” ในบาลีหมายถึง –
(1) ปัจเจกชน, บุคคล, คน (an individual, person, man)
(2) สัตว์, สัตว์โลก (being, creature)
“ปุคฺคล” ใช้ในภาษาไทยว่า “บุคคล” (อ่านว่า บุก-คน, ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า บุก-คะ-ละ-, บุก-คน-ละ-)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“บุคคล, บุคคล– : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) คนซึ่งสามารถมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า บุคคลธรรมดา; กลุ่มบุคคลหรือองค์กรซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดา และให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า นิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเหลือเพียง –
“บุคคล, บุคคล– : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”
การประสมคำ :
(1) ถูป + อรห = ถูปารห แปลว่า “ผู้ควรแก่สถูป” คือผู้มีคุณความดีสมควรที่จะสร้างสถูปเจดีย์ไว้ให้คนกราบไหว้บูชา
(2) ถูปารห + ปุคฺคล = ถูปารหปุคฺคล > ถูปารหบุคคล
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ถูปารหบุคคล : (คำนาม) บุคคลที่ควรนํากระดูกบรรจุสถูปไว้บูชา ได้แก่พระพุทธเจ้าเป็นต้น. (ป.).”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [142] ขยายความ “ถูปารหบุคคล” ไว้ดังนี้ –
ถูปารหบุคคล 4 : (บุคคลผู้ควรแก่สถูป, ผู้มีคุณความดีพิเศษควรสร้างสถูปไว้เคารพบูชา — Thūpāraha-puggala: persons worthy of a stupa or monument)
1. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้า — Buddha: the Buddha; Fully Enlightened One)
2. พระปัจเจกพุทธเจ้า (Paccekabuddha : Individually Enlightened One; private Buddha)
3. พระตถาคตสาวก (สาวกของพระพุทธเจ้า ปกติหมายเอาพระอรหันต์ — Tathāgatasāvaka: a disciple of the Buddha; an Arahant)
4. พระเจ้าจักรพรรดิ (จอมราชผู้ทรงธรรม, พระเจ้าธรรมิกราช — Cakkavatti: a righteous universal monarch; great righteous king or ruler)
…………..
ดูก่อนภราดา!
บัดนี้ งานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ก็สัมฤทธิ์บริบูรณ์ทุกประการแล้ว
ขอเชิญชวนท่านผู้มีฤทธิ์มีอำนาจในบ้านเมือง …
: สร้างสถูปจริงถวายให้ทั่วไทย
: เพื่อพิสูจน์ว่าสถูปในหัวใจมีอยู่จริง
#บาลีวันละคำ (1,968)
29-10-60