บาลีวันละคำ

สาธุนรธรรม (บาลีวันละคำ 1,969)

สาธุนรธรรม

รูปสวย เสียงเพราะ ความหมายดี

อ่านว่า สา-ทุ-นอ-ระ-ทำ

ประกอบด้วย สาธุ + นร + ธรรม

(๑) “สาธุ

รากศัพท์มาจาก สาธฺ (ธาตุ = สำเร็จ) + อุ ปัจจัย

สาธฺ + อุ = สาธุ แปลตามศัพท์ว่า “ยังประโยชน์ให้สำเร็จ” มีความหมายว่า “ดีแล้ว” “ถูกต้องแล้ว” “ใช่แล้ว” “เห็นชอบด้วย

๑ ความหมายของ “สาธุ” ในภาษาไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “สาธุ” ไว้ว่า –

(1) (คำวิเศษณ์) ดีแล้ว, ชอบแล้ว, (เป็นคําที่พระสงฆ์เปล่งวาจาเพื่อยืนยันหรือรับรองพิธีทางศาสนาที่กระทําไป).

(2) (ภาษาปาก) (คำกริยา) เปล่งวาจาแสดงความเห็นว่าชอบแล้วหรืออนุโมทนาด้วย, มักใช้เข้าคู่กับคำ โมทนา เป็น โมทนาสาธุ

(3) ไหว้ (เป็นคําบอกให้เด็กแสดงความเคารพตามธรรมเนียม กร่อนเสียง เป็น ธุ ก็มี).

๒ ฝรั่งว่าอย่างไร

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สาธุ” ในความหมายต่างๆ ดังนี้ –

(1) good, virtuous, pious (ดี, มีคุณธรรม, มีศรัทธาแก่กล้า)

(2) good, profitable, proficient, meritorious (ดี, งาม, คล่อง, มีกำไร, เป็นกุศล)

(3) well, thoroughly (อย่างดี, โดยทั่วถึง)

(4) come on, welcome, please (โปรดมาซี, ขอต้อนรับ, ยินดีต้อนรับ : ใช้ในฐานะเป็นคำขอร้องเชิญชวน)

(5) alright, yes (ดีแล้ว ตกลง : ใช้ในฐานะเป็นคำยอมรับและอนุมัติในการตอบคำถาม หรือกรณีอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน)

ในที่นี้ “สาธุ” ใช้ในความหมายตามข้อ (1) และ (2)

(๒) “นร

บาลีอ่านว่า นะ-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) นี (ธาตุ = นำไป) + อร ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือลบ อี ที่ นี (นี > )

: นี > + อร = นร แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้นำไป” (2) “ผู้นำไปสู่ความเป็นใหญ่

(2) นรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป; นำไป) + ปัจจัย

: นรฺ + = นร แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ดำเนินไปสู่ภพน้อยภพใหญ่” (2) “ผู้อันกรรมของตนนำไป” (3) “ผู้ถูกนำไปตามกรรมของตน

นร” (ปุงลิงค์) ความหมายที่เข้าใจกันคือ “คน” (man) (ปกติไม่จำกัดว่าหญิงหรือชาย)

(๓) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายตามข้อ (3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา และข้อ (6) กฎ, กฎเกณฑ์

การประกอบศัพท์ :

1) สาธุ + นร = สาธุนร (สา-ทุ-นะ-ระ) แปลว่า “คนดี

2) สาธุนร + ธมฺม = สาธุนรธมฺม > สาธุนรธรรม แปลว่า “ธรรมของคนดี

สาธุนรธรรมธรรมของคนดี” คืออะไร?

…………..

ขยายความ :

นางวิมาลามเหสีพญาวรุณนาคราชปรารถนาเนื้อหัวใจวิธุรบัณฑิตปุโรหิตเอกของพระเจ้าธนัญชัยแห่งกรุงอินทปัตถ์ นางอิรันทตีราชธิดาอาสาไปแสวงหาผู้สามารถพาวิธุรบัณฑิตมาถวายโดยยอมยกตัวเองเป็นรางวัล ปุณกยักษ์รับอาสาไปเล่นสกาท้าพนัน พระเจ้าธนัญชัยแพ้จำยอมยกวิธุรบัณฑิตให้ปุณกยักษ์พาไปเมืองบาดาล

ระหว่างทาง วิธุรบัณฑิตแสดงธรรมให้ปุณกยักษ์ฟังหลายข้อจนปุณกยักษ์เลื่อมใสยอมปล่อยตัววิธุรบัณฑิตให้เป็นอิสระ

หนึ่งในข้อธรรมที่วิธุรบัณฑิตแสดงคือ “สาธุนรธรรม” มีความว่าดังนี้ –

ยาตานุยายี  จ  ภวาหิ  มาณว

อลฺลญฺจ  ปาณึ  ปริวชฺชยสฺสุ

มา  จสฺสุ  มิตฺเตสุ  กทาจิ  ทุพฺภี

มา  จ  วสํ  อสตีนํ  นิคจฺเฉ.

แปลโดยประสงค์ –

ดูก่อนมาณพ

ใครมีมิตรจิต จงมีมิตรใจตอบ หนึ่ง

ใครทำคุณ จงอย่าลืมคุณ อย่าแม้แต่คิดร้าย หนึ่ง

อย่าประทุษร้ายมิตรไม่ว่าในกาลไหนๆ หนึ่ง

อย่าตกอยู่ในอำนาจของสตรีผู้เป็นอสตรีคือมีใจทราม หนึ่ง

ทั้ง 4 ประการนี้เรียกว่า “สาธุนรธรรม” หลักความประพฤติของคนดี

ที่มา: วิธุรชาดก มหานิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 28 ข้อ 994

…………..

ดูก่อนภราดา!

หากปรารถนาจะเป็นคนดี ….

: อย่าลืมคุณคน

: อย่าจนน้ำจิต

: อย่าทรยศต่อมิตร

: อย่าหลงฤทธิ์หญิงเลว

————–

ภาพประกอบ: จาก google

#บาลีวันละคำ (1,969)

30-10-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย