มโหทรเทวี (บาลีวันละคำ 2,111)
มโหทรเทวี
“มโหทร-” ท ทหาร – ถูก
“มโหธร-” ธ ธง – ผิด
อ่านว่า มะ-โห-ทอน-เท-วี
ประกอบด้วยคำว่า มโหทร + เทวี
(๑) “มโหทร”
ภาษาไทยอ่านว่า มะ-โห-ทอน บาลีอ่านว่า มะ-โห-ทะ-ระ คำเดิมมาจาก มหา + อุทร
(ก) “มหา” (มะ-หา)
รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย
: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)
“มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”
ในที่นี้ “มหนฺต” เข้าสมาสกับ “อุทร” เปลี่ยนรูปเป็น “มหา” แล้วรัสสะ อา เป็น อะ (มหนฺต > มหา > มห +)
(ข) “อุทร” บาลีอ่านว่า อุ-ทะ-ระ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, บน, นอก) + ทรฺ (ธาตุ = ไป) + อ ปัจจัย
: อุ + ทรฺ = อุทรฺ + อ = อุทรฺ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นที่เดินขึ้นข้างบนแห่งลม”
“อุทร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ท้อง, กระเพาะอาหาร (the belly, stomach)
(2) ช่อง, ภายใน, ข้างใน (cavity, interior, inside)
“อุทร” ในภาษาไทยอ่านว่า อุ-ทอน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“อุทร : (คำนาม) ท้อง. (ป., ส.).”
มหนฺต > มหา > มห + อุทร แผลง อุ ที่ อุ-(ทร) เป็น โอ (อุทร > โอทร)
: มหนฺต > มหา > มห + อุทร = มหุทร > มโหทร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีท้องใหญ่”
(๒) “เทวี”
รากศัพท์มาจาก เทว + อี ปัจจัย
(ก) “เทว” (เท-วะ) รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + อ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)
: ทิวฺ + อ = ทิว > เทว แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ”
ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา
แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังหมายถึงอีกหลายอย่าง คือ พระยม, ความตาย, สมมติเทพ, พระราชา, ท้องฟ้า, ฝน, เมฆฝน, วรุณเทพ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –
(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)
(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)
(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน)
ในภาษาบาลีนิยมใช้คำว่า “เทว” เป็นคำอาลปนะ (addressing = คำทัก, คำร้องเรียก) เมื่อพูดกับพระราชา ในภาษาไทยนักเรียนบาลีมักแปลกันว่า “ข้าแต่สมมุติเทพ”
(ข) เทว + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: เทว + อี = เทวี
“เทวี” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เทพธิดา (goddess)
(2) พระราชินี (queen)
“เทวี” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เทวี : (คำนาม) เทวดาผู้หญิง, นางพญา, นางกษัตริย์. (ป.).”
มโหทร + เทวี = มโหทรเทวี แปลตามศัพท์ว่า “เทพธิดาผู้มีท้องใหญ่”
ในที่นี้ “มโหทรเทวี” เป็นวิสามานยนาม (proper name) คือเป็นชื่อของนางสงกรานต์
ขยายความ :
นางสงกรานต์มี 7 นางตามวันทั้ง 7 (อาทิตย์ จันทร์ …)
วันมหาสงกรานต์ปีไหนตรงกับวันอะไร นางนั้นก็เป็น “นางสงกรานต์” สำหรับปีนั้น
(๑) วันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์
นางสงกรานต์ชื่อ “ทุงษะ” หรือ “ทุงสะ” = ทุงษเทวี
(๒) วันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์
นางสงกรานต์ชื่อ “โคราค” = โคราคเทวี
(๓) วันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์
นางสงกรานต์ชื่อ “รากษส” = รากษสเทวี
(๔) วันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์
นางสงกรานต์ชื่อ “มัณฑา” = มัณฑาเทวี
(๕) วันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์
นางสงกรานต์ชื่อ “กิริณี” = กิริณีเทวี
(๖) วันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์
นางสงกรานต์ชื่อ “กิมิทา” = กิมิทาเทวี
(๗) วันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์
นางสงกรานต์ชื่อ “มโหทร” = มโหทรเทวี
ปี 2561 นี้ วันมหาสงกรานต์คือวันที่ 14 เมษายน เป็นวันเสาร์ ดังนั้น นางสงกรานต์ปีนี้จึงชื่อ “มโหทรเทวี”
อภิปราย :
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้อ่านประกาศสงกรานต์ทางสื่อต่างๆ พบว่าแทบทั้งหมดสะกดชื่อนางสงกรานต์ปีนี้เป็น “มโหธรเทวี” (-ธร ธ ธง) ซึ่งเป็นการสะกดผิด
“มโหทร” (-ทร ท ทหาร) เป็นคำบาลี เป็นคำเก่า ในคัมภีร์พบคำนี้มีใช้อยู่ทั่วไป (ดูภาพประกอบ)
คำว่า “มโหธร” (-ธร ธ ธง) ถ้ามีใช้ก็จะต้องเป็นคำเก่าเช่นเดียวกัน แต่ไม่พบคำที่สะกดเช่นนี้ในคัมภีร์
จึงยืนยันได้ว่า
“มโหทรเทวี” –ทร- ท ทหาร – ถูก
“มโหธรเทวี” –ธร- ธ ธง – ผิด
ถ้าไม่ทักท้วงกันไว้ แต่ปล่อยให้เขียนกันอย่างนี้แบบเลยตามเลย เชื่อว่าจะต้องมีผู้ออกมาอธิบายว่า “มโหธร” (-ธร ธ ธง) ก็แปลได้ความว่า “ผู้ทรงไว้ซึ่งความยิ่งใหญ่” ไม่เห็นจะผิดตรงไหน มีความหมายดีกว่า “มโหทร” (-ทร ท ทหาร) ที่แปลว่า“ผู้มีท้องใหญ่” ซึ่งไม่ใช่ลักษณะที่สวยงาม และไม่น่าจะเป็นชื่อของเทพธิดาที่เป็นนางสงกรานต์แต่ประการใด
ฟังเผินๆ จะเห็นว่าน่าเชื่ออยู่ไม่น้อย
แต่ชื่อเฉพาะเช่นนี้จะมองเพียงแค่ความหมายที่คิดเอาเองหาได้ไม่ ต้องดูลึกลงไปถึงรากศัพท์ด้วย
“มโหธร” (-ธร ธ ธง) ที่อ้างว่าแปลได้ความว่า “ผู้ทรงไว้ซึ่งความยิ่งใหญ่” นั้นเป็นการแปลแบบลากเข้าความ ตามศัพท์แท้ๆ “มหนฺต > มหา > มห +” แปลว่า “ใหญ่” เฉยๆ ไม่มีคำแสดงว่าอะไรใหญ่
ที่แปลว่า “ความยิ่งใหญ่” หรือ “คุณอันยิ่งใหญ่” นั้นเป็นการแปลแบบที่นักเรียนบาลีเรียกกันว่า “แปลคุด” คือเสริมความเข้ามาเพื่อให้ตรงกับความประสงค์เท่านั้น
แม้จะลากต่อไปว่า มีคำว่า “คุณ” อยู่ด้วย แต่ลบออกตามกฎของคำสมาสหรือตัทธิต ซึ่งสามารถทำได้ แต่องค์ประกอบอื่นๆ ก็ไม่มีน้ำหนักมากพอ
เช่น ลองแยกศัพท์ดู “มโหธร” (-ธร ธ ธง) คำเดิม “มห” (มาจาก “มหา” และ “มหา” มาจาก “มหนฺต”) ในที่นี้เปลี่ยนรูปเป็น “มโห-” แสดงว่าคำที่มาต่อท้ายจะต้องขึ้นต้นด้วย “อุ-” แล้วแผลง “อุ” เป็น “โอ” หรือไม่ก็ต้องขึ้นต้นด้วย “โอ-” ตรงๆ “มห” จึงกลายรูปเป็น “มโห-” ได้
ตามหลักนี้คำหลังก็ต้องเป็น “อุธร” หรือ “โอธร” (-ธร ธ ธง)
ในภาษาบาลีหรือสันสกฤต ไม่ปรากฏว่ามีศัพท์ว่า “อุธร” หรือ “โอธร”
มห + อุธร = มโหธร จึงขาดน้ำหนักที่ควรเชื่อถือ
แต่ที่สำคัญก็คือ ถ้า “มโหธร” (-ธร ธ ธง) ก็ถูกเหมือนกัน-เช่นอ้างว่า แปลง ท– ท หาร เป็น ธ– ธ ธง-แล้วไซร้ ก็ควรจะพบคำที่สะกดเช่นนี้ในคัมภีร์เท่าๆ กับที่พบ “มโหทร” (-ทร ท ทหาร) หรือควรจะพบบ้าง แต่นี่กลับไม่พบเลย
สรุปว่า “มโหธรเทวี” (-ธร ธ ธง) เป็นคำที่เขียนผิดเพราะความเข้าใจผิด
และการสะกดเช่นนี้ไม่ว่าจะออกมาจากเอกสารจากแหล่งไหน ก็ต้องนับว่าผิดทั้งนั้น
การแก้ไขให้ถูกต้องเป็นสิ่งที่ควรทำ
การอธิบายผิดให้เป็นถูกเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สังคมวิปริต
: เพราะช่วยกันทำให้ผิดกลายเป็นถูก
#บาลีวันละคำ (2,111)
24-3-61