บาลีวันละคำ

ศรีสัตนาคนหุต (บาลีวันละคำ 2,112)

ศรีสัตนาคนหุต

แปลว่าอะไร

อ่านว่า สี-สัด-ตะ-นา-คะ-นะ-หุด

ประกอบด้วยคำว่า ศรี + สัต + นาค + นหุต

(๑) “ศรี

บาลีเป็น “สิริ” อ่านว่า สิ-ริ (บาลีมี “สิรี” อีกรูปหนึ่ง) รากศัพท์มากจาก สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา, อาศัย) + ปัจจัย + อิ (หรือ อี) ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สิ + = สิร + อิ (อี) = สิริ (สิรี) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันผู้ทำความดีไว้ได้สัมผัส” (2) “สิ่งที่อาศัยอยู่ในบุคคลผู้ทำความดีไว้

พจนานุกรมบาลี-อังฤษ แยกความหมายของ “สิริ” ไว้ดังนี้ –

(1) ความโอ่อ่าอลังการ, ความสวยงาม (splendour, beauty)

(2) โชค, ความรุ่งโรจน์, ความมีเดช, ความรุ่งเรือง (luck, glory, majesty, prosperity)

(3) เทพธิดาแห่งโชคลาภ (the goddess of luck)

(4) (เมื่อ + คพฺภ = สิริคพฺภ) ห้องบรรทม (the royal bed-chamber)

สิริ” สันสกฤตเป็น “ศฺรี” เขียนตามสันสกฤตเป็น “ศรี” อ่านว่า สี

คำว่า “ศฺรี” ในสันสกฤตมีความหมายอย่างไรบ้าง สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศฺรี : (คำนาม) ‘ศรี,’ ภาคย์, สัมฤทธิหรือบุณโยทัย; ธน, ทรัพย์; เสาวภาคย์, ความงาม; อาภา, อาโลก; ความรัก, หน้าที่, และทรัพย์; เครื่องแต่งตัว, เครื่องประดับ; ภาวะหรือสถิติ; ทิพยศักดิ์, อมานุษศักดิ์; มติ, พุทธิ, ความรู้, ความเข้าใจ; ผล; เกียรติ; พระลักษมี, ผู้ชายาของพระวิษณุ, และเปน ‘ภควดีศรี’ หรือเจ้าทรัพย์และความเจริญ; นามของสรัสวดี; กานพลู; อุปสรรคหรือบทน่านามเทวดา (ย่อมใช้ซ้ำ), ดุจคำว่า ศรีศรีทุรคา; บทน่าบอกความเคารพต่อวิสามานยนามของบุรุษ, ดุจคำว่า ศรีชัยเทพ; บทน่าครันถ์, ดุจคำว่า ศรีภาควัต; ต้นศรัลหรือต้นสน; fortune, prosperity; wealth, riches; beauty, splendor; light; love, duty, and wealth; dress, decoration; state; superhuman power; intellect, understanding; consequence; fame or glory; the goddess Lakshmi, the wife of Vishṇu, and deity of plenty and prosperity; a name of Sarasvati; cloves; a prefix to the name of deities (often used repeatedly), as Śri Śri Durgā; a prefix of respect to proper names of persons, as Śri Jayadeva; a prefix to works, as Śri Bhāgavat; the Śaral or pine tree.”

ศรี” ในที่นี้ทำหน้าที่เป็น “บทน่าบอกความเคารพต่อวิสามานยนามของบุรุษ” (สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน-ดูข้างต้น)

เช่น ชวาหรลาล เนห์รู (जवाहरलाल नेहरू Jawaharlal Nehru) นายกรัฐมนตรีคนแรกและรัฐบุรุษของอินเดีย ก็มีผู้เรียกด้วยความยกย่องว่า “ศรีชวาหรลาล เนห์รู”

ชื่อ “ศรีปราชญ์” กวีเอกในประวัติศาสตร์ของไทยก็น่าจะมีคติเดียวกันนี้

(๒) “สัต

บาลีเป็น “สต” (สะ-ตะ) แปลว่า “ร้อย” (จำนวน 100)

(๓) “นาค

บาลีอ่านว่า นา-คะ รากศัพท์มาจาก นค (ภูเขา) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(ค) เป็น อา (นค > นาค)

: นค + = นคณ > นค > นาค (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่มองเห็นเป็นเหมือนภูเขา” หมายถึง ช้าง

ขยายความ :

ในภาษาบาลี “นาค” ยังมีความหมายอย่างอื่นด้วย คือ –

(1) งูใหญ่มีหงอน ที่เรามักเรียกกันว่า “พญานาค” ภาษาบาลีว่า นาคราชา (นา-คะ-รา-ชา) เป็นความหมายที่เราคุ้นกันมากที่สุด

(2) “ต้นไม้ที่ไปไหนไม่ได้” = ไม้กากะทิง (ใบและผลคล้ายสารภี แต่ใบขึ้นสันมากและผลกลมกว่า เปลือกเมล็ดแข็ง ใช้ทําลูกฉลากหรือกระบวยของเล่น, สารภีทะเล หรือ กระทึง ก็เรียก)

(3) “ผู้ไม่มีผู้ที่เลิศกว่า” = ผู้เลิศ, พระอรหันต์

(4) “ผู้ไม่ทำบาปกรรม, ผู้ไม่มีบาป” = ผู้มุ่งจะบวช

การเรียกคนที่ไปอยู่วัดเตรียมตัวจะบวชหรือกําลังจะบวชว่า “นาค” มีมูลเหตุมาจากในเวลาทำพิธีบวช จะต้องระบุชื่อผู้บวชเป็นภาษาบาลี (ที่เรียกว่า “ฉายา” – ดูคำนี้) ในยุคแรกๆ มักสมมุติชื่อผู้บวชว่า “นาโค” ทุกคน (ปัจจุบันตั้งฉายาต่างกันออกไปเหมือนตั้งชื่อ)

คำว่า “นาโค = นาค” จึงเรียกกันติดปาก ใครจะบวชก็เรียกกันว่า “นาค” มาจนทุกวันนี้

(๔) “นหุต

บาลีอ่านว่า นะ-หุ-ตะ รากศัพท์มาจาก นหฺ (ธาตุ = ผูก, มัด, พัน) + ปัจจัย, ลง อุ อาคมหลังธาตุ หน้าปัจจัย (นหฺ + อุ + )

: นหฺ + อุ + = นหุต (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “จำนวนที่นับต่อกันมา” หมายถึง   หนึ่งหมื่น คือ 10,000 (จำนวนหนึ่งหมื่น)

การประสมคำ :

สัต + นาค + นหุต = สัตนาคนหุต แปลตามศัพท์ว่า “หมื่นแห่งช้างหนึ่งร้อย

ไขความ :

ในที่นี้ “สัต” = หนึ่งร้อย ขยาย “นหุต” = หนึ่งหมื่น หมายถึง หมื่นร้อยครั้ง (หรือร้อยหมื่นครั้ง) = 1,000,000 (หนึ่งล้าน) คือ “หมื่นร้อย” ไม่ใช่ “หมื่นช้าง

สัตนาคนหุต” จึงแปลว่า “ช้างหนึ่งล้าน” หรือ “ล้านช้าง

ศรี + สัตนาคนหุต = ศรีสัตนาคนหุต

ศรี” ในที่นี้ทำหน้าที่เป็นคำขยายแสดงความยกย่อง เช่นเดียวกับคำว่า “กรุงศรีอยุธยา”

ศรีสัตนาคนหุต” ถ้าจะแปลเอาความตามศัพท์ก็แปลได้ว่า “เมืองล้านช้างที่สวยงาม

ศรีสัตนาคนหุต” เป็นคำที่ผูกขึ้นใช้เรียกอาณาจักรล้านช้างซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรลาวในอดีต

ในที่นี้ บาลีวันละคำทำหน้าที่แปลคำบาลีเพื่อให้รู้ความหมาย ผู้ต้องการทราบรายละเอียดในทางประวัติศาสตร์พึงช่วยกันศึกษาค้นคว้าเพื่อบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันต่อไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ครองโลกได้ถึงล้านอาณาจักร

: ยังไม่สูงศักดิ์เท่าครองใจตัวเองได้เพียงหนึ่งเดียว

#บาลีวันละคำ (2,112)

25-3-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย