บาลีวันละคำ

ไตรทศาลัย (บาลีวันละคำ 1,978)

ไตรทศาลัย

ทำไมจึงหมายถึงสวรรค์

อ่านว่า ไตฺร-ทะ-สา-ไล

แยกศัพท์เป็น ไตรทศ + อาลัย

(๑) “ไตรทศ

บาลีเป็น “ติทส” (ติ-ทะ-สะ) รากศัพท์มาจาก ติ (สาม) + ทส (ข้อกำหนด, ขอบเขต)

: ติ + ทส = ติทส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีข้อกำหนดสามประการ” หรือ “แดนที่มีข้อกำหนดสามประการ” หมายถึง เทวดา หรือสวรรค์

เทวดามีสภาวะหรือ “ข้อกำหนด” 3 ประการ คือ เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และ ดับไป เมื่อเกิดขึ้นก็เป็นรูปเทวดาทันที ในระหว่างที่ดำรงอยู่ก็ไม่แก่ ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อดับไปคือจุติก็หายไปทันที

ความหมายดังกล่าวนี้สอดคล้องกับสันสกฤต

ติทส” ในบาลี เป็น “ตฺริทศ” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ตฺริทศ : (คำนาม) ‘ตริทศ, ไตรทศ,’ เทพดา, อมร, ผู้ไม่ตาย; a god, a deity, an immortal; – (คำคุณศัพท์) เสพทศาหรือภาวะที่สาม, คือเสพนิตยเยาวนํ; ขึ้นแก่ภาวะสาม, คือสัมภวะ, ภาวะ, และมรณะ; enjoying the third condition, viz. that of perpetual youth; subject to the three conditions, viz. of birth, being, and destruetion.”

อีกนัยหนึ่ง แปล “ติทส” เป็นสังขยา (number) คือ –

ติ = สาม (3)

ทส = สิบ (10)

ติทส = จำนวนสิบ 3 ครั้ง = สามสิบ (30)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อธิบายคำว่า “ติทส” ไว้ดังนี้ –

Tidasa : (num.) thirty (cp. tiŋsa), esp. the thirty deities (pl.) or belonging to them (adj.). It is the round figure for 33, and is used as equivalent to tāvatiŋsa.

ติทส : (ปกติสังขยา) สามสิบ (เทียบ ตึส), โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทวดา 30 ตน (พหูพจน์) หรือเป็นของเทวดาเหล่านั้น (คุณศัพท์). เป็นจำนวนกลุ่มสำหรับ 33, และใช้ในฐานเท่ากับ ตาวตึส นั่นเอง

ติทส > ตฺริทศ ในภาษาไทยใช้เป็น “ตรีทศ” และ “ไตรทศ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ตรีทศ : (คำนาม) เทวดา ๓๓ องค์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์, ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทหมายถึง พระอินทร์และเทวดาผู้ใหญ่อีก ๓๒ องค์, ไตรทศ ก็เรียก. (ส. ตฺริทศ ว่า สามสิบ, ในฤคเวทหมายถึงเทวดา ๓๓ องค์).”

(2) ไตรทศ : (คำนาม) เทวดา ๓๓ องค์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์, ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทหมายถึง พระอินทร์และเทวดาผู้ใหญ่อีก ๓๒ องค์, ตรีทศ ก็ว่า.”

สรุปว่า ติทส > ตรีทศ > ไตรทศ หมายถึง เทวดา

(๒) “อาลัย

บาลีเป็น “อาลย” (อา-ละ-ยะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, มาก, ยิ่ง) + ลิ (ธาตุ = ติดใจ, ติดแน่น) + ปัจจัย, ลบ , แปลง อิ ที่ ลิ เป็น (ลิ > ลย)

: อา + ลิ = อาลิ + = อาลิณ > อาลิ > อาลย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ติดใจยินดีแห่งผู้คน” “สิ่งที่ใจไปติดแน่นอยู่

นักภาษาอธิบาย “อาลย” เป็นรูปธรรมว่า เหมือน “คอน” ที่นกเกาะนอน เท้านกจะต้องยึดแน่นอยู่กับคอนนั้น มิเช่นนั้นก็ตก อาการที่จับติดแน่นไม่ยอมปล่อยนั่นเองคือ “อาลัย

ตามรากศัพท์เช่นนี้ “อาลัย” ในทางรูปธรรมจึงหมายถึงสถานที่พักอาศัย, ที่อยู่, แหล่งรวมของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น –

ชลาลัย = แหล่งรวมแห่งน้ำ คือแม่น้ำ หรือทะเล

เทวาลัย = ที่อยู่ของเทพยดา

หิมาลัย = แหล่งรวมแห่งหิมะ คือภูเขาที่มีหิมะปกคลุมตลอดปี

อาลย” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) คอนสำหรับนกหรือไก่เกาะหรือนอน (ความหมายเดิม), สถานที่พักอาศัย, บ้านเรือน (roosting place, perch, abode settling place, house)

(2) เกาะเกี่ยวอยู่, ความรักใคร่, ความต้องการ, ตัณหา, ราคะ (hanging on, attachment, desire, clinging, lust)

(3) การแสร้งทำ, มารยา, ข้อแก้ตัว (pretence, pretext, feint)

ติทส + อาลย = ติทสาลย > ไตรทศาลัย แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่อยู่ของพวกเทวดา

สถานที่อยู่ของพวกเทวดา” ก็คือสวรรค์ “ไตรทศาลัย” จึงแปลว่า สวรรค์ โดยเฉพาะหมายถึง สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่เชื่อว่าสวรรค์มี แต่ทำความดีทุกวัน

: ดีกว่าเชื่อว่ามีสวรรค์ แต่ไม่ขยันทำความดี

————-

(ตอบคำถามค้างปีของ ทรงวุฒิ ช่างเจรจา)

ภาพประกอบ: จาก google

#บาลีวันละคำ (1,978)

11-11-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย