บาลีวันละคำ

จินตนาการ (บาลีวันละคำ 1,177)

จินตนาการ

อ่านว่า จิน-ตะ-นา-กาน

ประกอบด้วย จินตน + อาการ

(๑) “จินตน

บาลีเป็น “จินฺตน” (จิน-ตะ-นะ) รากศัพท์มาจาก จินฺต (ธาตุ = คิด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: จินฺต + ยุ > อน = จินฺตน แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาตที่คิด” หมายถึง การคิด, ความคิด (the act of thinking, thought)

(๒) “อาการ

บาลีอ่านว่า อา-กา-ระ รากศัพท์มาจาก อา (ทั่วไป) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (กร > การ)

: อา + กรฺ = อากร + = อากร > อาการ แปลตามศัพท์ว่า “การทำทั่วไป

อาการ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ :

(1) ภาวะ, สภาพ (state, condition)

(2) คุณสมบัติ, คุณภาพ, ลักษณะประจำตัว (property, quality, attribute)

(3) ลักษณะ, รูปร่างหน้าตา, รูป (sign, appearance, form)

(4) วิธี, รูปลักษณะ, อาการ (way, mode, manner)

(5) เหตุผล, หลักฐาน, เรื่องราว (reason, ground, account)

ในภาษาไทย พจน.54 บอกความหมายของ “อาการ” ไว้ว่า –

(1) ความเป็นอยู่, ความเป็นไป, สภาพ, เช่น อาการไข้.

(2) กิริยาท่าทาง เช่น อาการพิรุธ.

(3) ลักษณะเดียวกัน เช่น โดยอาการนั้น.

(4) ส่วนของร่างกายซึ่งนิยมว่ามี ๓๒ อย่าง เรียกว่า อาการ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น.

จินฺตน + อาการ = จินฺตนาการ แปลตามศัพท์ว่า “อาการคือการคิด

คำว่า “จินตนาการ” เข้าใจกันว่าตรงกับคำอังกฤษว่า imagination

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล imagination เป็นบาลีว่า –

(1) saṅkappa สงฺกปฺป (สัง-กับ-ปะ) = ความคิด, ความจำนง, ความประสงค์, ความดำริ (thought, intention, purpose, plan)

(2) maññanā มญฺญนา (มัน-ยะ-นา) = สิ่งลวง, มายา, จินตนาการ (illusion, imagination)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จินตนาการ : (คำนาม) การสร้างภาพขึ้นในจิตใจ. (ป. จินฺตน + อาการ).”

…………

ไร้จินตนาการ :

หนุ่ม : ติ่มจ๋า

สาว : ขา

หนุ่ม : อยากจะบอกให้ติ๋มรู้ว่าผมรักติ๋มสุดหัวใจ

สาว : ขอบคุณค่ะ

ล้ำจินตนาการ :

หนุ่ม : ติ่มจ๋า

สาว : ขา

หนุ่ม : อยากจะบอกให้ติ๋มรู้ว่า ติ๋มคือดอกไม้ที่บานอยู่ในหัวใจผม

สาว : !!!!!!

: จินตนาการที่ไร้สัจจะ คือขยะทางความคิด

19-8-58

ต้นฉบับ