บาลีวันละคำ

เซ็นชื่อ ไม่ใช่ เซ็นต์ชื่อ (บาลีวันละคำ 2,117)

เซ็นชื่อ ไม่ใช่ เซ็นต์ชื่อ

บาลีว่าอย่างไร

คำว่า “เซ็น” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เซ็น ๓ : (คำกริยา) ลงลายมือชื่อ, เซ็นชื่อ ก็ว่า, (ภาษาปาก) ซื้อโดยค้างชำระเงินและผู้ขายลงบัญชีไว้เป็นหลักฐาน เช่น เซ็นค่าก๋วยเตี๋ยวไว้ก่อน. (อ. sign).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “เซ็น” คำนี้มาจากคำอังกฤษว่า sign

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล sign เป็นบาลีดังนี้ –

ก. เป็นคำนาม :

(1) lakkhaṇa ลกฺขณ (ลัก-ขะ-นะ) = เครื่องหมาย

(2) lañchana ลญฺฉน (ลัน-ฉะ-นะ) = ตราประทับ

(3) abhiññāṇa อภิญฺญาณ (อะ-พิน-ยา-นะ) = เครื่องหมาย, ตรา

(4) iṅgita อิงฺคิต (อิง-คิ-ตะ) = เครื่องหมาย

(5) viññāpana วิญฺญาปน (วิน-ยา-ปะ-นะ) = เครื่องบอกกล่าว

(6) viññatti วิญฺญตฺติ (วิน-ยัด-ติ) = เครื่องแสดงให้รู้

(7) visesadhaja วิเสสธช (วิ-เส-สะ-ทะ-ชะ) = “ธงพิเศษ” เครื่องหมายพิเศษ

ข. เป็นคำกริยา :

(1) hatthalañchaṃ patiṭṭhāpeti หตฺถลญฺฉํ ปติฏฺฐาเปติ (หัด-ถะ-ลัน-ฉัง ปะ-ติด-ถา-เป-ติ) = ลงลายมือไว้เป็นหลักฐาน

(2) viññāpeti วิญฺญาเปติ (วิน-ยา-เป-ติ) = ประกาศให้ทราบ

(3) saññaṃ deti สญฺญํ เทติ (สัน-ยัง เท-ติ) = ให้สัญญาณ

คำที่ออกมาจาก sign อีกคำหนึ่งคือ signature

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล signature ว่า ลายมือชื่อ

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล signature เป็นบาลีว่า –

(1) hatthalañchana หตฺถลญฺฉน (หัด-ถะ-ลัน-ฉะ-นะ) = ลายมือชื่อ, ลายเซ็น

(2) hatthamuddā หตฺถมุทฺทา (หัด-ถะ-มุด-ทา) = ลายลักษณ์ที่เขียนด้วยมือ, ลายเซ็น

…………..

อภิปราย :

คำที่น่าจะตรงกับ sign มากที่สุดคือ “ลญฺฉน

คำว่า “ลญฺฉน” แปลตามศัพท์ว่า “ทำเครื่องหมาย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ลญฺฉน” ว่า stamp, mark, imprint

(ตรา, เครื่องหมาย, การประทับตรา)

หตฺถลญฺฉน” แปลตามศัพท์ว่า “ทำเครื่องหมายด้วยมือ” หมายถึง ลายมือชื่อ หรือลายเซ็นนั่นเอง

คำว่า “เซ็น” ที่หมายถึงลงชื่อนี้ เป็นที่น่าแปลกประหลาดมากที่คนส่วนมากมักจะเขียนเป็น “เซ็นต์” คือมี –ต์ ด้วย ทั้งๆ ที่คำอังกฤษ sign ก็ไม่มีตัว t อันจะเป็นข้ออ้างให้ต้องมี –ต์ ต่อท้ายแต่ประการใด

และคำว่า “เซ็นต์” ก็ไม่มีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานด้วย

ไม่ทราบว่าไปติดหูติดตาจนกระทั่งติดมือกันผิดๆ มาจากไหน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: หัวใจที่สัตย์ซื่อ

: มีค่ามากกว่าลายมือชื่อของคนโกง

#บาลีวันละคำ (2,117)

30-3-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *