บาลีวันละคำ

โหราธิบดี (บาลีวันละคำ 2,119)

โหราธิบดี

อ่านว่า โห-รา-ทิ-บอ-ดี หรือ โห-รา-ทิบ-บอ-ดี ก็ได้

ประกอบด้วยคำว่า โหร + อธิบดี

(๑) “โหร

บาลีเป็น “โหรา” (โห-รา) รากศัพท์มาจาก หุร (โลกหน้า, อนาคต) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ หุ-(ร) เป็น โอ (หุร > โหร) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: หุร + = หุรณ > หุร > โหร + อา = โหรา แปลตามศัพท์ว่า “วิชาที่ว่าด้วยเหตุในอนาคตและเหตุในอดีต” หมายถึง วิชาทำนาย, การทำนาย

โหรา” เป็นทั้งรูปบาลีและสันสกฤต เขียนด้วยอักษรโรมันเป็น hora

นักภาษาสันนิษฐานว่า hora รากศัพท์เดียวกับ hour = ชั่วโมง

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ที่คำว่า “โหรา” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

โหรา : (คำนาม) อุทัยแห่งราศี; ชั่วโมง; ลักษณะหรือเครื่องหมาย; เรขาหรือเลขา; ศาสตร์อันว่าด้วยนักษัตรวิทยา หรือไทวัชญวิทยา; the rising of a sign of the zodiac; an hour; a mark; a line; a science; an astrology.”

ในภาษาไทย คำว่า “โหรา” มักใช้เป็น “โหร” (โหน) และหมายถึงตัวบุคคล

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โหร : (คำนาม) ผู้พยากรณ์โดยอาศัยการโคจรของดวงดาวเป็นหลัก; ผู้ให้ฤกษ์และพยากรณ์โชคชะตาราศี. (ส., ป. โหรา).”

(๒) “อธิบดี

บาลีเป็น “อธิปติ” (อะ-ทิ-ปะ-ติ) ประกอบด้วย อธิ + ปติ

(1) “อธิ” (อะ-ทิ) เป็นคำอุปสรรค (คำที่ใช้ประกอบข้างหน้าคำนามหรือกริยาให้มีความหมายยักเยื้องออกไป) นักเรียนบาลีแปลกันว่า ยิ่ง, ใหญ่, ทับ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายไว้ว่า –

1) บอกทิศทาง, จุดหมาย = จนถึง, เหนือ, ไปยัง, บน (up to, over, toward, to, on)

2) บอกสถานที่ = บนยอด, ข้างบน, เหนือ, บน (on top of, above, over)

(2) “ปติ” (ปะ-ติ) รากศัพท์มาจาก –

(ก) ปา (ธาตุ = รักษา, ดูแล) + ติ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา เป็น อะ (ปา > )

: ปา + ติ = ปาติ > ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักษา

(ข) ปตฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อิ ปัจจัย

: ปตฺ + อิ = ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปข้างหน้า

ปติ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) พ่อบ้าน, นาย, เจ้าของ, ผู้นำ (lord, master, owner, leader)

(2) สามี (husband)

อธิ + ปติ = อธิปติ แปลตามศัพท์ว่า “เจ้านายผู้เป็นใหญ่

อีกนัยหนึ่ง “อธิปติ” รากศัพท์มาจาก อธิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) + ปา (ธาตุ = รักษา, ปกครอง) + ติ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา เป็น อะ (ปา > )

: อธิ + ปา = อธิปา + ติ = อธิปาติ > อธิปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ปกครองใหญ่

อธิปติ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผู้ปกครอง, เจ้าใหญ่ (ruler, master)

(2) ครอบครอง, ปกครอง, มีอำนาจเหนือ; อยู่ใต้อำนาจ หรือปกครองโดย- (ruling over, governing, predominant; ruled or governed by)

อธิปติ” ในภาษาไทยใช้เป็น “อธิบดี” อ่านว่า อะ-ทิ-บอ-ดี ก็ได้ อะ-ทิบ-บอ-ดี ก็ได้ (ต่างกันที่ –ทิ– กับ –ทิบ-)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อธิบดี : (คำนาม) ผู้เป็นใหญ่, ผู้ปกครอง, หัวหน้า, เช่น อธิบดีสงฆ์ อธิบดีผู้พิพากษา; ตําแหน่งหัวหน้ากรมในราชการ. (คำวิเศษณ์) มีความเจริญสวัสดิมงคล ทางโหราศาสตร์นิยมให้ประกอบการมงคลต่าง ๆ ในวัน ยาม ฤกษ์ ราศี และดิถีที่เป็นอธิบดี ทั้งนี้ตลอดปีนั้น ๆ, ตรงข้ามกับโลกาวินาศ. (ป., ส. อธิปติ).”

ประสมคำแบบบาลี :

โหรา + อธิปติ = โหราธิปติ แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่ในวิชาทำนาย

ประสมคำแบบไทย :

โหร + อธิบดี = โหราธิบดี แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่ในหมู่โหร

โหราธิบดี” เป็นนามบรรดาศักดิ์ เรียกนามตามตำแหน่งว่า “พระโหราธิบดี

คำว่า “โหราธิบดี” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “พระโหราธิบดี” (อ่านเมื่อ 1 เมษายน 2561 เวลา 21:00) บอกไว้ดังนี้ –

…………..

พระโหราธิบดี เป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งในแวดวงวรรณกรรมในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ทั้งนี้ “พระโหราธิบดี” มิใช่ชื่อบุคคล แต่เป็นตำแหน่งและบรรดาศักดิ์ พระโหราธิบดี เป็นตำแหน่งอธิบดีแห่งโหร หรือโหรหลวงประจำราชสำนัก อีกทั้งยังเป็นผู้ควบคุมหรือเป็นหัวหน้าการประกอบพิธีการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์อีกด้วย ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่เป็นผู้รู้หนังสือรวมถึงรอบรู้สรรพวิทยาต่าง ๆ

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า พระโหราธิบดีท่านนี้เป็นชาวเมืองพิจิตร นับถือกันว่าทำนายแม่นยำ เคยทายจำนวนหนูที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองครอบไว้อย่างถูกต้อง และเคยทายว่าไฟจะไหม้ในพระราชวังในสามวัน สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเชื่อจึงเสด็จไปอยู่นอกวัง และปรากฏเป็นจริงดังทำนาย เกิดฟ้าผ่าต้องหลังคาพระมหาปราสาททำให้ไฟไหม้ลามไปเป็นอันมากจริงๆ

พระโหราธิบดีเป็นที่รู้จักกันในฐานะเป็นผู้ประพันธ์ “จินดามณี” ในปี พ.ศ.2215 ซึ่งเป็นหนังสือแบบเรียนเล่มแรกของไทย

พระโหราธิบดีเป็นบิดาของศรีปราชญ์ กวีเอกคนสำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สันนิษฐานว่าพระโหราธิบดีคงถึงแก่อนิจกรรมตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2223

…………..

ดูเพิ่มเติม: “จินดามณี” บาลีวันละคำ (1,241) 22-10-58

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แม้จะทำนายได้แม่นจนถึงบอกวันตายได้

: แต่ก็ไม่สามารถพ้นจากความตายไปได้

เหตุดังนั้น –

: การรู้วันตายจึงไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์

: รู้ว่าควรทำอะไรก่อนตาย แล้วทำได้สำเร็จ-นั่นสิน่าอัศจรรย์

#บาลีวันละคำ (2,119)

1-4-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *