มหานิกาย (บาลีวันละคำ 1,300)
มหานิกาย
อ่านว่า มะ-หา-นิ-กาย
ประกอบด้วย มหา + นิกาย
(๑) “มหา” (มะ-หา)
รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) เมื่อนำไปใช้นำหน้าคำอื่นเปลี่ยนรูปเป็น “มหา” แปลว่า มาก, ใหญ่, ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต, สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; important, venerable)
(๒) “นิกาย”
บาลีอ่านว่า นิ-กา-ยะ รากศัพท์มาจาก นิ (ไม่มี, ออก) + จิ (ธาตุ = สะสม) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ จิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อาย (จิ > เจ > จาย), แปลง จ เป็น ก
: นิ + จิ + ณ = นิจิณ > นิจิ > นิเจ > นิจาย > นิกาย แปลตามศัพท์ว่า “หมู่ที่สะสมส่วนย่อยทั้งหลายไว้โดยไม่ต่างกัน” ( = พวกที่ไม่ต่างกันมารวมอยู่ด้วยกัน) หมายถึง การรวบรวม, การประชุม, ชั้น, กลุ่ม, พวก, หมู่ (collection, assemblage, class, group)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “นิกาย” ไว้ว่า –
(1) หมู่, พวก, หมวด, ใช้เกี่ยวกับศาสนา ในกรณีเช่นคณะนักบวชในศาสนาเดียวกัน ที่แยกออกไปเป็นพวก ๆ เช่น มหานิกาย ธรรมยุติกนิกาย นิกายโรมันคาทอลิก นิกายโปรเตสแตนต์.
(2) เรียกคัมภีร์พระสุตตันตปิฎกที่แยกออกเป็น ๕ หมวดใหญ่ คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย อังคุตรนิกาย ขุทกนิกาย.
มหา + นิกาย = มหานิกาย แปลตามศัพท์ว่า “กลุ่มที่มีจำนวนมาก”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) มหานิกาย : ชื่อคณะสงฆ์นิกายหนึ่ง, คู่กับ ธรรมยุติกนิกาย.”
(2) ธรรมยุติกนิกาย : ชื่อคณะสงฆ์นิกายหนึ่ง, คู่กับมหานิกาย, เรียกสั้นๆ ว่า ธรรมยุต.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ :
(1) มหานิกาย : ดู คณะมหานิกาย
(2) คณะมหานิกาย : คณะสงฆ์ไทยเดิมที่สืบมาแต่สมัยสุโขทัย, เป็นชื่อที่ใช้เรียกในเมื่อได้เกิดมีคณะธรรมยุตขึ้นแล้ว; สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงให้ความหมายว่า “พระสงฆ์อันมีเป็นพื้นเมือง [ของประเทศไทย – ผู้เขียน] ก่อนเกิดธรรมยุติกนิกาย” (การคณะสงฆ์, น. 90)
ควรเข้าใจ:
๑ “มหานิกาย” กับ “ธรรมยุติกนิกาย” เป็นการแบ่งนิกายในคณะสงฆ์ไทยเท่านั้น ส่วนการแบ่งนิกายของพระพุทธศาสนาในปัจจุบันที่ยอมรับกัน แบ่งเป็น “นิกายเถรวาท” และ “นิกายอาจารยวาท” หรือที่มักเรียกรู้กันว่า “นิกายหีนยาน” กับ “นิกายมหายาน”
๒ พระ “มหานิกาย” หรือ “ธรรมยุติกนิกาย” ในประเทศไทย สังเกตเบื้องต้นที่การครองจีวร เวลาออกงานอยู่ในวัดพระมหานิกายห่มรัดอก พระธรรมยุตห่มพาดสังฆาฏิไม่รัดอก เมื่อออกนอกวัดเช่นเวลาไปบิณฑบาต พระมหานิกายห่มแบบมังกรพันแขน พระธรรมยุตห่มแหวก
หมายเหตุ: พระมหานิกายบางวัดห่มจีวรแบบพระธรรมยุตก็มี เช่นวัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ เป็นต้น แต่ถ้าห่มแบบมังกรพันแขนเป็นพระมหานิกายแน่นอน เช่นวัดสระเกศ วัดพระเชตุพนฯ เป็นต้น
: ไม่เอาพวกมาก ไม่เอาพวกน้อย
: เอาพวกที่อยู่ในร่องรอยของพระธรรมวินัย
———
ภาพจาก Google
20-12-58