บาลีวันละคำ

มายาคติ (บาลีวันละคำ 2,120)

มายาคติ

คืออะไร?

อ่านว่า มา-ยา-คะ-ติ

แยกศัพท์เป็น มายา + คติ

(๑) “มายา

ในภาษาบาลีรากศัพท์มาจาก –

(1) มย (อสูร) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง อะ ที่ -(ย) เป็น อา (มย > มาย) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: มย + = มยณ > มย > มาย + อา = มายา แปลตามศัพท์ว่า “กลลวงของอสูร (ที่ใช้เพื่อลวงเทวดา)

ความหมายนี้สืบเนื่องมาจากตำนาน “เทวาสุรสงคราม” (การรบระหว่างเทวดากับอสูร) ซึ่งพวกอสูรใช้เล่ห์กลต่างๆ เพื่อจะเอาชนะเทวดา

เผ่าพวกอสูร มีคำเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “มย” (มะ-ยะ) กลลวงของอสูรจึงมีชื่อเรียกว่า “มายา

(2) มา (ธาตุ = กะ, ประมาณ) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: มา + = มาย + อา = มายา แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เทียบความดีของตนกับความดีเยี่ยมอื่น” หมายความว่า เอาความดีของตนซึ่งมีเล็กน้อยหรือไม่มีเลยไปแสดงอาการให้เข้าใจว่ามีความดีมาก = ลวงเขาให้เข้าใจผิด

มายา” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ :

(1) รูปลวง, การล่อลวง, การหลอกลวง, การโกง, การหน้าไหว้หลังหลอก (deceptive appearance, fraud, deceit, hypocrisy)

(2) สูตรลึกลับ, กลวิเศษ, มายา, เล่ห์กระเท่ห์ (mystic formula, magic, trick)

(3) การตบตา, การเล่นกล (jugglery, conjuring)

โปรดสังเกตคำแปลเป็นอังกฤษคำหนึ่ง คือ magic

นักภาษาบอกว่า magic กับ มายา เป็นคำเดียวกัน (ภาษาบาลีกับภาษาอังกฤษอยู่ในตระกูลเดียวกัน)

ถ้าถอดรูปคำ ก็จะเห็นได้ชัดขึ้น :

ma = มา

gic = ยิก

magic = มายิก

: มายา + อิก = มายิก = ผู้มีมายา

(๒) “คติ

บาลีอ่านว่า คะ-ติ รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ติ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ

: คมฺ + ติ = คมติ > คติ แปลตามศัพท์ว่า “การไป”  “ภูมิอันเหล่าสัตว์ต้องไป ด้วยการเข้าถึงตามกรรมดีกรรมชั่ว” “ที่เป็นที่ไป” หมายถึง ที่ไป, ที่อยู่, ที่เกิดใหม่, ภพภูมิที่จะต้องไปเกิด

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “คติ” ว่า

(1) going, going away (การไป, การจากไป)

(2) direction, course, career (ทิศทาง, แนว, ทางไป, วิถีชีวิต)

(3) passing on (การผ่านไป)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “คติ” ไว้ดังนี้ –

(1) การไป, ทางไป, ความเป็นไป, ทางดำเนิน, วิธี, แนวทาง, แบบอย่าง

(2) ที่ไปเกิดของสัตว์, ภพที่สัตว์ไปเกิด, แบบการดำเนินชีวิต มี 5 คือ :

๑. นิรยะ = นรก

๒. ติรัจฉานโยนิ = กำเนิดดิรัจฉาน

๓. เปตติวิสัย = แดนเปรต

๔. มนุษย์ = สัตว์มีใจสูงรู้คิดเหตุผล

๕. เทพ = ชาวสวรรค์ ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึง อกนิษฐพรหม

………

คติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “คติ” คงตัวตามบาลีก็มี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) คติ ๑ : (คำนาม) การไป; ความเป็นไป. (ป.).

(2) คติ ๒ : (คำนาม) แบบอย่าง, วิธี, แนวทาง. (ป.).

คติ” แปลงรูปเป็น “คดี” (คะ-ดี) ก็มี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

(1) เรื่อง, มักใช้ประกอบคําศัพท์ เช่น โบราณคดี คดีโลก คดีธรรม วรรณคดี สารคดี.

(2) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) เรื่องหรือความที่ฟ้องร้องหรือกล่าวหากันในทางกฎหมาย ซึ่งต้องดำเนินการตามกระบวนวิธีพิจารณาความตามที่กฎหมายกำหนด เช่น คดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง.

มายา + คติ = มายาคติ แปลตามศัพท์ว่า “การดำเนินไปแห่งมายา” หมายความตามนัยที่ประสงค์ว่า เรื่องราวหรือความเชื่อถือที่สืบกันมาหรือที่ถูกสร้างขึ้น แต่ไม่อาจพิสูจน์หรือยืนยันได้ว่าเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง

คำว่า “มายาคติ” มีการอ้างอิงว่าบัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า myth และ mythology

ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถานบอกไว้ว่า –

(1) myth บัญญัติคำไทยว่า ความเชื่อปรัมปรา, เรื่องปรัมปรา

(2) mythology บัญญัติคำไทยว่า ประมวลเรื่องปรัมปรา, ปรัมปราวิทยา, ปุราณวิทยา

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล myth ว่า –

(1) เรื่องนิทานเกี่ยวกับอภินิหารของผู้วิเศษ เช่น รามเกียรติ์

(2) เรื่องโกหก

และแปล mythology ว่า เทพนิยาย, เรื่องนิทานนิยายของชนชาติใดชาติหนึ่ง เช่น Greek mythology นิยายของกรีก ว่าด้วยเทพเจ้าต่างๆ

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล myth เป็นบาลีดังนี้ –

(1) purāvuttakathā ปุราวุตฺตกถา (ปุ-รา-วุด-ตะ-กะ-ถา) = เรื่องราวที่กล่าวกันมาแต่ปางก่อน

(2) itihītiha อิติหีติห (อิ-ติ-หี-ติ-หะ) = “เล่ากันมาว่าดังนี้” > เรื่องเล่าแต่เก่าก่อน

(3) micchāpabandha มิจฺฉาปพนฺธ (มิด-ฉา-ปะ-พัน-ทะ) = เรื่องแต่งที่ผิดเพี้ยนจากความจริง

และแปล mythology เป็นบาลีว่า –

ākhyāna อาขฺยาน (อา-เขียะ-อา-นะ) = ตำนาน, เรื่องเล่าขาน

……………

ขยายความ :

ความหมายนัยหนึ่งของคำว่า “มายาคติ” ตามที่มีผู้อธิบายไว้ คือ มายาคติเป็นสัญลักษณ์ที่คนในสังคมสร้างขึ้น แฝงอยู่กับความคิด ความเชื่อ ของคนในสังคมนั้นๆ แต่จะเป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่จริงอย่างไร ไม่มีการพิสูจน์ให้เห็นได้ชัดเจน เช่นคนโบราณบอกว่า –

ห้ามหญิงสาวร้องเพลงในครัว มิเช่นนั้นจะได้ผัวแก่ (ความจริงอาจเป็นเพราะเกรงว่าน้ำลายจะกระเด็นลงไปในอาหาร)

ผู้หญิงท้องห้ามนอนขวางประตู จะทำให้คลอดยาก (ความจริงอาจเป็นเพราะเกรงจะเกิดอุบัติเหตุ)

ห้ามเด็กขี่สุนัข เดี๋ยวฟ้าจะผ่า (ความจริงอาจเป็นเพราะเกรงว่าสุนัขจะกัดเด็ก)

…………..

ดูก่อนภราดา!

คนเขลา : พยายามเปลี่ยนความจริงให้ตรงกับความเห็น

คนฉลาด : พยายามเปลี่ยนความเห็นให้ตรงกับความจริง

#บาลีวันละคำ (2,120)

2-4-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *