บาลีวันละคำ

อาขยาน (บาลีวันละคำ 2,121)

อาขยาน

ยังจำได้ไหม

อ่านว่า อา-ขะ-หฺยาน ก็ได้ อา-ขะ-ยาน ก็ได้

(ตามพจนานุกรมฯ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาขยาน : (คำนาม) บทท่องจํา; การเล่า, การบอก; การสวด; เรื่อง, นิทาน. (ส.; ป. อกฺขาน).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “อาขยาน” เป็นรูปคำสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อาขฺยาน : (คำนาม) เรื่อง, นิยาย; คำกล่าว; a tale, a legend; a saying.”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “อาขยาน” รูปคำบาลีเป็น “อกฺขาน

อกฺขาน” (อัก-ขา-นะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง, กลับความ) + ขา (ธาตุ = กล่าว, บอกเล่า) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), รัสสะ อา อุปสรรคเป็น อะ (อา > ), ซ้อน กฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อา > + กฺ + ขา)

: อา > + กฺ + ขา = อกฺขา + ยุ > อน = อกฺขาน แปลตามศัพท์ว่า “การบอกเล่าอย่างยิ่ง” “การบอกเล่าทั่วไป

อกฺขาน” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การเล่านิทาน, การเล่าชาดก, การบรรยายเรื่องราว, การเล่าปากเปล่า (telling stories, recitation)

(2) นิทาน, ตำนาน (tale, legend)

(3) การเทศน์, การสั่งสอน (preaching, teaching)

ความจริง “อาขยาน” คำนี้สามารถเป็นรูปคำบาลีได้ด้วย กล่าวคือรากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง, กลับความ) + ขฺยา (ธาตุ = กล่าว, บอกเล่า) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: อา + ขฺยา = อาขฺยา + ยุ > อน = อาขฺยาน แปลเหมือน “อกฺขาน” ทุกประการ

คำที่ออกมาจากรากเดียวกันที่นักเรียนบาลีทุกคนจะต้องรู้จัก คือคำว่า “อาขยาต” ต่างกันเพียง “อาขฺยาน” ลง ยุ ปัจจัย (แปลง ยุ เป็น อน) เป็นคำนาม ส่วน “อาขยาต” ลง ปัจจัย เป็นคำกริยาในบาลี (แต่ในภาษาไทย พจนานุกรมฯ บอกว่าเป็นคำนาม)

โปรดสังเกต :

อาขยาน” เขียนแบบบาลีเป็น “อาขฺยาน” (มีจุดใต้ ขฺ) ออกเสียงแบบบาลีว่า อา-เขียะ-อา-นะ (-เขียะ กับ อา– อ่านรวบ)

อาขยาต” เขียนแบบบาลีเป็น “อาขฺยาต” (มีจุดใต้ ขฺ) ออกเสียงแบบบาลีว่า อา-เขียะ-อา-ตะ (-เขียะ กับ อา– อ่านรวบ)

อาขยาต” ภาษาไทยอ่านว่า อา-ขะ-หฺยาด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาขยาต : (คำวิเศษณ์) กล่าวแล้ว. (คำนาม) ชื่อคำกริยาประเภทหนึ่งในไวยากรณ์บาลีและสันสกฤต ประกอบด้วย ธาตุ วิภัตติ กาล บท พจน์ บุรุษ วาจก ปัจจัย เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกเนื้อความให้ชัดเจน เช่น กโรติ = ย่อมกระทำ ประกอบด้วย กรฺธาตุ ติวิภัตติ ปัจจุบันกาล ปรัสสบท เอกพจน์ ปฐมบุรุษ กัตตุวาจก โอปัจจัย. (ป., ส.).”

อภิปราย :

ความหมายที่รู้กันดีของ “อาขยาน” ในภาษาไทยก็คือ บทท่องจํา เรียกกันว่า “บทอาขยาน

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้รับการศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลในสมัยที่นักเรียนต้องท่องบทขยานทุกวันในชั่วโมงสุดท้ายก่อนเลิกเรียน

น่าประหลาดที่แม้เวลาจะล่วงเลยมาถึง 60 ปี ก็ยังจำบทขยานต่างๆ ได้ทั้งๆ ที่ตลอดเวลาเหล่านั้นก็ไม่ได้ทบทวนเพื่อไม่ให้ลืมแต่ประการใดเลย

การให้นักเรียนท่องบทอาขยานเป็นตัวอย่างสำคัญที่นักการศึกษาสมัยใหม่ยกขึ้นตำหนิติเตียนวิธีศึกษาแบบเก่า คำตำหนิที่นิยมยกไปอ้างกันมากก็คือ “เป็นการให้นักเรียนท่องจำเหมือนนกแก้วนกขุนทอง”

นักการศึกษาสมัยใหม่อ้างว่า การศึกษาที่ถูกต้องต้องสอนให้นักเรียนเข้าใจและรู้จักคิดได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่สอนให้จำหรือให้ท่องจำ

ผู้เขียนบาลีวันละคำมีความเห็นว่า ในการศึกษาเล่าเรียนอะไรก็ตาม นักเรียนต้องจำสิ่งที่ตนเรียนได้ จะไม่จำอะไรเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ นี่คือ “กฎ”

แต่ทำอย่างไรจึงจะจำได้ จะใช้วิธีการ เทคนิค หรือศิลปะอย่างไร จึงจะช่วยให้จำได้ นี่คือ “กรอบ” ที่อาจพลิกแพลงหรือเปลี่ยนแปลงได้ คนเก่าใช้วิธีท่องจำ ถ้าคนใหม่มีวิธีที่ฉลาดกว่า ช่วยให้จำได้ดีกว่า ก็สามารถปรับแก้ ที่เรียกกันว่า “คิดนอกกรอบ” ได้

การที่จะจำได้ ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีท่องเสมอไป นี่คือ “คิดนอกกรอบ”

การศึกษาเล่าเรียน ไม่จำเป็นต้องจำอะไร นี่คือ “คิดนอกกฎ”

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบ เด็กรุ่นใหม่แทบจะไม่รู้จักท่องอาขยานกันแล้ว

และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในหมู่เด็กรุ่นใหม่ ฉันทะอุตสาหะที่จะจดจำอะไรไว้ในสมอง-เหมือนคนรุ่นก่อน-ก็ลดน้อยลงไปทุกที

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อนาคตของคนที่รังเกียจการท่องจำหนังสือ

: สักวันหนึ่งก็คงจะลืมชื่อของตัวเอง

#บาลีวันละคำ (2,121)

3-4-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *