บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เหยื่อศรัทธา

เหยื่อศรัทธา

————-

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ผมมีความจำเป็นจะต้องซื้อของถวายพระ จึงเข้าไปที่ร้านเครื่องสังฆภัณฑ์แห่งหนึ่งแถวถนนอรุณอมรินทร์ เจ้าของร้านซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีนถามว่า จะรับอะไรดีครับ ผมบอกว่าอยากได้ของถวายพระ

เจ้าของร้านถามว่า จะรับเป็นสังฆทานหรือไทยทานดีครับ

ผมตีหน้าเซ่อเท่าที่จะเซ่อได้ (ซึ่งไม่ต้องลำบากอะไรเพราะหน้าผมปกติก็เซ่ออยู่แล้ว)

คนขายบรรยายสรุปให้ผมฟังว่า ที่จัดใส่ถังเหลือง มีพลาสติกใส่ปิดปากถัง นี่เขาเรียกสังฆทาน เวลาถวายสังฆทานต้องใช้แบบนี้ ส่วนที่เป็นห่อหุ้มกระดาษแก้วสีเหลืองผูกริบบิ้น นั่นเรียกว่าไทยทาน ถวายพระทั่วไป จะกรุณารับแบบไหนดีครับ

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อเกือบ ๓๐ ปีมาแล้ว

แสดงว่าร้านค้าทั้งหลายได้จัดแจงแยกของถวายพระเป็นสังฆทาน – ไทยทาน มานานนักหนาแล้ว

ไม่น่าเชื่อว่า เล่ห์กลทางการค้าเพียงแค่นี้ได้แผ่อิทธิพลครอบงำสังคมไทยอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ทะลวงทลายสติปัญญาที่จะรู้เข้าใจตามความเป็นจริงพินาศไม่มีชิ้นดี

เวลานี้ใครจะถวายสังฆทาน จะต้องนึกถึง “ถังสังฆทาน” หรือ “ชุดสังฆทาน” เป็นอันดับแรกก่อนสิ่งอื่นใด

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ “ถังสังฆทาน” หรือ “ชุดสังฆทาน” ครอบงำผู้คนจนโงหัวไม่ขึ้น 

ผมกล้าพูดอย่างนี้ก็เพราะพี่สะใภ้ผมเองทำบุญถวายสังฆทานอุทิศให้สามี-ก็คือพี่ชายผมนั่นแหละ-ผู้ล่วงลับไปแล้ว ให้ผมไปช่วยดำเนินรายการ 

เธอสั่งผมเป็นคำขาดว่าต้องมีถังสังฆทานครบจำนวนพระ 

ผมพยายามชี้แจงอย่างไรก็ไม่ฟังทั้งสิ้น ยืนยันเด็ดขาดว่าต้องมีถังสังฆทาน ไม่งั้นไม่เป็นสังฆทาน

ทั้งๆ ที่ “ถังสังฆทาน” หรือ “ชุดสังฆทาน” นั้นได้ถูกเปิดโปงมาเป็นระยะๆ ถึงความทุจริตหลอกลวงที่ผู้ผลิตได้กระทำขึ้น กล่าวคือทั้งปริมาณและคุณภาพของสิ่งต่างๆ ที่บรรจุไว้ในถังหรือในกล่องอยู่ในระดับเลวทรามอย่างยิ่ง 

แกะออกมาแล้ว แทบทั้งหมดใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย

แต่ผู้คนก็ยังลืมตาไม่ขึ้น

เวลานี้แม้จะมีกฎกติกาให้ระบุชนิดและปริมาณของสินค้าที่อยู่ข้างในตลอดจนวันหมดอายุไว้ด้วย 

แต่ในทางปฏิบัติจริง ก็แทบไม่มีใครสนใจ 

ทุกคนสนใจเฉพาะรูปร่างหน้าตาของถังของกล่องว่าเป็นอย่างไร ดูคราวๆ ว่ามีอะไรอยู่ข้างในบ้าง 

สนใจแค่นั้น 

ประโยชน์ใช้สอยจริงจังไม่ได้คิด 

สรุปก็คือ ยังตกอยู่ในอิทธิพลของรูปร่างหน้าตาของ “ถังสังฆทาน” หรือ “ชุดสังฆทาน” อยู่นั่นเอง 

และอาการหนักๆ ที่เคยเป็น ก็ยังคงเป็นอยู่เหมือนเดิม นั่นคือ – ต้องมี “ถังสังฆทาน” หรือ “ชุดสังฆทาน” 

ไม่มี ไม่ใช่สังฆทาน

แต่ที่กล่าวมาก็ยังไม่น่ากลัวเท่ากับการที่ “ถังสังฆทาน” หรือ “ชุดสังฆทาน” ได้ทำลายความหมายของ “สังฆทาน” ที่ถูกต้องลงไปด้วยจนหมดสิ้น 

พร้อมกับสร้างความหมายที่วิปริตบิดเบี้ยวขึ้นมาแทนที่

สังฆทาน” ในพระพุทธศาสนาหมายถึงการถวายสิ่งอันสมควรแก่สมณบริโภคให้เป็นของสงฆ์ คือถวายให้เป็นของกลาง ภิกษุสามเณรทุกรูปสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ 

ที่ว่าสังฆทานมีอานิสงส์มากก็ด้วยเหตุผลข้อนี้ คือถวายแล้วเกิดประโยชน์แก่คนส่วนมาก

คำที่คู่กับสังฆทาน แต่ตรงกันข้ามกับสังฆทาน คือ “ปาฏิบุคลิกทาน” แปลว่า “ถวายเป็นของเฉพาะบุคคล” คือให้เป็นของส่วนตัว 

ปาฏิบุคลิกทาน” มีอานิสงส์น้อย เพราะถวายแล้วเป็นประโยชน์เฉพาะคนใดคนหนึ่งคนเดียว

ถ้ายังงงอยู่ ก็ขออุปมาแบบง่ายๆ – 

สมมุติว่าในสำนักงานของผมมีคนทำงานอยู่ ๑๐ คน นั่งอยู่ในห้องใหญ่รวมกัน

วันหนึ่ง ผมออกไปกินข้าวกลางวันแล้วซื้อกล้วยแขกมาถุงหนึ่ง เอามาวางไว้ที่โต๊ะกลาง แล้วบอกดังๆ ว่า ใครจะกินกล้วยแขกบ้าง เชิญหยิบได้ตามสบายทุกคน

ทั้ง ๑๐ คนได้กินกล้วยแขกกันทุกคน

นี่คือ “สังฆทาน

แต่ถ้าผมหิ้วกล้วยแขกถุงนั้นมาแล้วยื่นให้คุณกุ้งคุณก๋อยอะไรสักคุณหนึ่ง แล้วบอกว่า เอ้า นี่ผมซื้อมาฝากคุณนะ

คุณกุ้งคุณก๋อยก็ได้กินกล้วยแขกถุงนั้นแต่เพียงคนเดียว อีก ๙ คนไม่มีสิทธิ์

นี่คือ “ปาฏิบุคลิกทาน

แต่เวลานี้คนไม่ได้เข้าใจ “สังฆทาน” แบบนี้แล้ว

ลองฟังเรื่องนี้ –

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ผมกับญาติมิตรที่รักษาอุโบสถศีลกำลังนั่งสนทนาธรรมข้างศาลาทำบุญในวันพระวันหนึ่ง ในศาลามีพระภิกษุนั่งรอเวลาฉันเพลอยู่หลายรูป

ขณะนั้นมีสุภาพสตรี ๒ คนขี่รถเครื่องเข้ามาจอด เมื่อลงจากรถก็หิ้วสิ่งที่เรียกว่า “ถังสังฆทาน” หรือ “ชุดสังฆทาน” เดินเข้ามา พลางถามขึ้นว่า หลวงพ่ออยู่หรือเปล่า

พวกเราสอบถามกัน ได้ความว่าหลวงพ่อไปกิจนิมนต์นอกวัด เข้าใจว่าตอนบ่ายคงจะกลับ ก็ตอบสุภาพสตรีทั้งสองไปตามนั้น 

ผมได้ถามต่อไปอีกว่า จะมาทำธุระอะไรหรือครับ

ได้รับคำตอบว่า อ๋อ จะมาถวายสังฆทานให้หลวงพ่อค่ะ ไม่เป็นไร เดี๋ยวตอนบ่ายค่อยมาใหม่ก็แล้วกัน 

ว่าแล้วทั้งสองก็ขึ้นรถกลับไปโดยไม่รอฟังคำอธิบายใดๆ 

เรื่องนี้บอกอะไร

ก็บอกว่า คนเดี๋ยวนี้ไม่รับรู้กันแล้วว่าสังฆทานคืออะไร พากันเข้าใจดิ่งไปทางเดียวว่า ถ้ามี “ถังสังฆทาน” หรือ “ชุดสังฆทาน” แล้วเอาไปถวายหลวงพ่อ หรือถวายพระที่รู้จักกันเป็นส่วนตัว หรือเอาไปให้ใครที่ไหนก็ได้ นั่นคือได้ “ถวายสังฆทาน” แล้ว

ความเป็น “สังฆทาน” ขึ้นอยู่กับ “ถังสังฆทาน” หรือ “ชุดสังฆทาน” เท่านั้น

สังฆทาน” ตามความหมายที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนาถูกเบียดตกถนนไปเรียบร้อยแล้ว

ผู้ผลิต “ถังสังฆทาน” หรือ “ชุดสังฆทาน” ก็มั่งคั่งขึ้น-จากศรัทธาของผู้คน

วัดต่างๆ ก็มีรายได้เพิ่มพูนขึ้น-จากศรัทธาของผู้คน

คำสอนที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนาก็วิปริตมากขึ้น-จากศรัทธาของผู้คน

…………….

ถามว่า ใครจะแก้ไขเรื่องนี้

คณะสงฆ์ยังไม่มีนโยบายที่จะแก้ไขให้ความรู้ในเรื่องนี้

วัดต่างๆ ก็ไม่มีนโยบายที่จะแก้ไขให้ความรู้ในเรื่องนี้

ตัวพระสงฆ์เองก็ไม่มีความคิดที่จะแก้ไขให้ความรู้ในเรื่องนี้

ทุกหนทุกแห่ง ทุกถิ่นทุกที่ และทุกวัด นั่งรอให้คนมาถวายสังฆทาน 

แต่ไม่มีที่ไหนพยายามให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสังฆทาน

…………….

ที่ใด มีศรัทธา แต่ไม่มีปัญญาเข้ากำกับ

ที่นั้น ผู้คนย่อมกลายเป็นเหยื่อของศรัทธาไปโดยไม่รู้ตัว

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

๑๐:๕๖

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *