ยถาให้ผี – สัพพีให้คน (บาลีวันละคำ 1,992)
ยถาให้ผี – สัพพีให้คน
ไม่ใช่แค่คำคล้องจอง
(๑) “ยถา”
อ่านว่า ยะ-ถา เป็นคำจำพวกนิบาต (particle) แปลว่า ฉันใด, เหมือน, ตาม
หลักการใช้ ยถา :
– ถ้าใช้โดดๆ จะต้องมีข้อความที่มีคำว่า “เอวํ” หรือ “ตถา” มาคู่กัน เหมือนภาษาไทยว่า “ฉันใด” ต้องมี “ฉันนั้น” มารับ
– ถ้าสมาสกับคำอื่น นิยมแปลว่า “ตาม-” เช่น “ยถากรรม” : ยถา + กมฺม = ยถากมฺม > ยถากมฺมํ > ยถากรรม แปลว่า “ตามกรรม”
“ยถา” ในที่นี้เป็นคำขึ้นต้นบทอนุโมทนา คำเต็มๆ ของบท “ยถา” มีดังนี้ –
ยถา วาริวหา ปูรา
ปริปูเรนฺติ สาครํ
เอวเมว อิโต ทินฺนํ
เปตานํ อุปกปฺปติ. (มีต่อไปอีก)
แปลว่า
ห้วงน้ำที่เต็ม
ย่อมยังสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ ฉันใด
บุญที่ท่านอุทิศให้แล้วแต่โลกนี้
ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้วได้ ฉันนั้น
โปรดสังเกตว่า ในข้อความนี้ มี “เอวํ” (คือ “เอวเมว” : เอวํ + เอว = เอวเมว) มารับ “ยถา”
(๒) “สพฺพี”
อ่านว่า สับ-พี ตัดมาจากคำว่า “สพฺพีติโย” ซึ่งประกอบด้วยคำว่า สพฺพ + อิติโย
(ก) “สพฺพ” (สับ-พะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สรฺ (ธาตุ = เป็นไป) + ว ปัจจัย, แปลง ว เป็น พ, แปลง รฺ ที่ สรฺ เป็น พฺ (สรฺ > สพฺ)
: สรฺ + ว = สรฺว > สรฺพ > สพฺพ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไป”
(2) สพฺพฺ (ธาตุ = เป็นไป) + อ ปัจจัย
: สพฺพฺ + อ = สพฺพ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไป”
“สพฺพ” หมายถึง ทั้งหมด, ทั้งปวง, ทั้งสิ้น, ทุกอย่าง (whole, entire; all, every)
(ข) “อิติโย” (อี-ติ-โย) รูปคำเดิมคือ “อีติ” (อี-ติ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง กลับความ ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ” จาก “ไป” กลายเป็น “มา”) + อิ (ธาตุ = ไป) + ติ ปัจจัย, “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง” คือลบ อา และทีฆะ อิ เป็น อี
: อา + อิ = อาอิ + ติ = อาอิติ = อิติ > อีติ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มาเพื่อความฉิบหาย” หมายถึง ความชั่วร้าย, ความหายนะ, เสนียด, จัญไร, ความทุกข์ยาก (ill, calamity, plague, distress)
สพฺพ + อีติ = สพฺพีติ แปลว่า “ความจัญไรทั้งปวง”
“สพฺพีติ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “สพฺพีติโย” (สับ-พี-ติ-โย)
เมื่อจบบท “ยถา” พระรูปที่ 2 จะรับว่า “สพฺพี …” แล้วพระสงฆ์ทั้งหมดจะสวดพร้อมกันต่อไป
คำเต็มๆ ของบท “สพฺพี” มีดังนี้ –
สพฺพีติโย วิวชฺชนฺตุ
สพฺพโรโค วินสฺสตุ
มา เต ภวตฺวนฺตราโย
สุขี ทีฆายุโก ภว. (มีต่อไปอีก)
แปลว่า
ความจัญไรทั้งปวงจงบำราศไป
โรคทั้งปวงของท่านจงหาย
อันตรายอย่ามีแก่ท่าน
ท่านจงเป็นผู้มีความสุข มีอายุยืน …
…………..
อภิปราย :
ตามความหมายในบท “ยถา” จะเห็นได้ว่าเป็นการกล่าวถึงการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จึงมีคำกล่าวว่า “ยถาให้ผี”
ผู้ที่อุทิศส่วนบุญ ถ้ามีการกรวดน้ำ ก็ต้องเริ่มกรวดคือรินน้ำออกจากเต้ากรวดน้ำตั้งแต่พระเริ่มว่าบท “ยถา”
ตามความหมายในบท “สพฺพี” จะเห็นได้ว่าเป็นการอำนวยพรให้แก่เจ้าภาพและผู้ที่มาร่วมในพิธี จึงมีคำกล่าวว่า “สัพพีให้คน”
เพราะฉะนั้น จึงต้องกรวดน้ำให้เสร็จเมื่อพระว่าบท “ยถา” จบ นั่นคือเมื่อพระขึ้นบท “สพฺพี” ก็วางเต้ากรวดน้ำและประนมมือรับพร ถ้า “สพฺพี” แล้วยังกรวดน้ำเรื่อยไป ก็เท่ากับพระอำนวยพรแล้ว แต่ยังไม่รับนั่นเอง
เวลาฟังพระสงฆ์อนุโมทนา ยถา–สัพพี ควรรู้ความหมายและรู้วิธีปฏิบัติในการกรวดน้ำ-รับพร แล้วตั้งจิตเจตนาให้ถูกต้องและปฏิบัติให้ถูกวิธี ดังนี้ ก็จะได้ชื่อว่าฉลาดในการทำบุญ คือได้ทั้งบุญคือความดี และได้ทั้งกุศลคือความฉลาด ซึ่งย่อมจะดีกว่าทำไป-หรือทำตามๆ กันไป-โดยไม่รู้ความหมาย
…………..
คำถาม-คำท้วง :
มีพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า –
ทหราปิ จ เย วุฑฺฒา
เย พาลา เย จ ปณฺฑิตา
อฑฺฒา เจว ทฬิทฺทา จ
สพฺเพ มจฺจุปรายนา.
ทั้งหนุ่มทั้งแก่
ทั้งโง่ทั้งฉลาด
ทั้งรวยทั้งจน
ทุกคนล้วนต้องตาย
…..
ในเมื่อโง่ก็ตาย ฉลาดก็ตายเช่นนี้
เราจะต้องฉลาดไปทำไมกัน?
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนโง่ ตายหลายชาติ
: คนฉลาด มีโอกาสไม่ต้องตาย
#บาลีวันละคำ (1,992)
25-11-60