บาลีวันละคำ

ปัจจัย (บาลีวันละคำ 959)

ปัจจัย

อ่านว่า ปัด-ไจ

บาลีเป็น “ปจฺจย” อ่านว่า ปัด-จะ-ยะ

ปจฺจย” รากศัพท์มาจาก ปฏิ หรือ ปติ (เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง ปฏิ เป็น ปจฺจ หรืออีกนัยหนึ่ง แปลง อิ ที่ ปติ เป็น , แปลง ตย (คือ ปตย) เป็น ปจฺจ, แปลง อิ ธาตุเป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย

: ปฏิ > ปจฺจ (ปติ > ปตย > ปจฺจ) + อิ > เอ > อย : ปจฺจ + อย + = ปจฺจย

พิสูจน์การกลายรูปและเสียง :

ลองออกเสียง ปะ-ติ-อะ-ยะ (ปฏิ + อิ) ทีละพยางค์ช้าๆ แล้วเพิ่มความเร็วขึ้นทีละน้อยจนเร็วที่สุด ปะ-ติ-อะ-ยะ จะกลายเสียงเป็น ปัด-จะ-ยะ ได้ การกลายรูปจึงมาจากธรรมชาติของการกลายเสียงนั่นเอง

ปจฺจย” แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นแดนอาศัยเป็นไปแห่งผล” “เหตุเป็นเครื่องเป็นไปแห่งผล” มีความหมายว่า –

(1) อาศัย, หันไปพึ่ง, รากฐาน, เหตุ, สาเหตุ (resting on, falling back on, foundation, cause, motive)

(2) สิ่งสนับสนุน, ของที่จำเป็น, ปัจจัย, วิถีทาง, เครื่องค้ำจุน (support, requisite, means, stay)

(3) เหตุผล, วิธี, เงื่อนไข (reason, ground, condition)

(4) เหตุผลสำหรับ, ความเชื่อ, ความมั่นใจ, ความเชื่อมั่น, การเชื่อถือหรืออาศัย (ground for, belief, confidence, trust, reliance)

ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปคือ ปัจจัย, เหตุ, สาเหตุ, ที่พึ่ง, ความช่วยเหลือ ฯลฯ

ปจฺจย” ภาษาไทยใช้ว่า “ปัจจัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

(1) เหตุอันเป็นทางให้เกิดผล, หนทาง, เช่น การศึกษาเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ความสามารถ, องค์ประกอบ, ส่วนประกอบ, เช่น ปัจจัยในการผลิต, คํา “ปัจจัย” กับ คํา “เหตุ” มักใช้แทนกันได้.

(2) เครื่องอาศัยยังชีพ, เครื่องอาศัยเลี้ยงชีวิตของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา ๔ อย่าง คือ จีวร (ผ้านุ่งห่ม) บิณฑบาต (อาหาร) เสนาสนะ (ที่อยู่) คิลานเภสัช (ยา) รวมเรียกว่า จตุปัจจัย คือ ปัจจัย ๔, โดยปริยายหมายถึงเงินตราก็ได้ (มักใช้แก่ภิกษุสามเณร).

(3) (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) ส่วนเติมท้ายธาตุหรือศัพท์เพื่อแสดงความหมายเป็นต้น. (ป.).

เคยเห็นหรือไม่ –

เศรษฐี : รวยปัจจัย แต่ไปนรก

ยาจก : จนปัจจัย แต่ไปสวรรค์

: รวยหรือจนจึงไม่ใช่เหตุผลสำคัญ

#บาลีวันละคำ (959)

2-1-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *