บาลีวันละคำ

กบิลพรหม (บาลีวันละคำ 2,129)

กบิลพรหม

อ่านว่า กะ-บิน-ละ-พรม

ประกอบด้วยคำว่า กบิล + พรหม

(๑) “กบิล

บาลีเป็น “กปิล” อ่านว่า กะ-ปิ-ละ รากศัพท์มาจาก กพฺ (ธาตุ = สี, ผิวพรรณ) + อิล ปัจจัย, แปลง พฺ ที่ (ก)-พฺ เป็น (กพฺ > กป)

: กพฺ + อิล = กพิล > กปิล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีสีคือถึงความเป็นสีเช่นสีเขียว

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กปิล” ว่า brown, tawny, reddish, of hair & beard (มีสีน้ำตาล, มีสีน้ำตาลปนเหลือง, มีสีแดงเรื่อ, พูดถึงผมและหนวด)

ถ้า “กปิล” เป็นชื่อพรหม ก็คงจะมีความหมายว่า พรหมองค์นี้มีผิวกายหรือผมสีน้ำตาลหรือน้ำตาลปนเหลือง-อะไรสักอย่างหนึ่ง

(๒) “พรหม

บาลีเป็น “พฺรหฺม” (มีจุดใต้ พฺ และ หฺ) รากศัพท์มาจาก พฺรหฺ (ธาตุ = เจริญ, ประเสริฐ) + ปัจจัย

: พฺรหฺ + = พฺรหฺม แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เจริญด้วยคุณ

คำว่า “พฺรหฺม” ออกเสียงอย่างไร ?

ลองออกเสียงว่า พะ-ระ-หะ-มะ ช้าๆ แล้วค่อยๆ เร่งให้เร็วขึ้น จะได้เสียงที่ถูกต้องของคำว่า “พฺรหฺม” ในบาลี

แต่โดยทั่วไป นักเรียนบาลีในเมืองไทยออกเสียงว่า พรม-มะ หรือ พรำ-มะ

คำว่า “พฺรหฺม” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ความดีประเสริฐสุด (the supreme good)

(2) คัมภีร์พระเวท, สูตรลึกลับ, คาถา, คำสวดมนต์ (Vedic text, mystic formula, prayer)

(3) เทพผู้ยิ่งใหญ่ในศาสนาพราหมณ์ ถือกันว่าเป็นผู้สร้างจักรวาล (the god Brahmā chief of the gods, often represented as the creator of the Universe)

(4) เทวดาพวกหนึ่งที่อยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นสูงที่เรียกว่า พรหมโลก (a brahma god, a happy & blameless celestial being, an inhabitant of the higher heavens [brahma-loka])

(5) สิ่งศักดิ์สิทธิ์, คนศักดิ์สิทธิ์ (holy, pious, a holy person)

ในแง่ตัวบุคคล คำว่า “พรหม” หมายถึง –

(1) เทพสูงสุดหรือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์

(2) เทพในพรหมโลก เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม มี 2 พวกคือ รูปพรหม มี 16 ชั้น อรูปพรหม มี 4 ชั้น

(3) ผู้ประเสริฐด้วยคุณธรรม 4 ประการ คือ เมตตา (ปรารถนาให้อยู่เป็นปกติสุข) กรุณา (ตั้งใจช่วยเพื่อให้พ้นจากปัญหา) มุทิตา (ยินดีด้วยเมื่อมีสุขสมหวัง) อุเบกขา (วางอารมณ์เป็นกลางเมื่อได้ทำหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนแล้ว)

กปิล + พฺรหฺม = กปิลพฺรหฺม > กบิลพรหม แปลว่า “พรหมชื่อกปิละ” คือพรหมองค์หนึ่ง ชื่อกบิล

สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑ อธิบายเรื่อง “ท้าวกบิลพรหม” ไว้ดังนี้ –

…………..

กบิลพรหมท้าว : เขียนเป็นกระบิลพรหมก็มี เป็นชื่อพรหมองค์หนึ่งซึ่งมาถามปัญหา ๓ ข้อแก่ธรรมบาลกุมาร ถ้าตอบไม่ได้ ท้าวกบิลพรหมจะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ถ้าตอบได้ท้าวกบิลพรหมจะตัดศีรษะตนเองเป็นเครื่องบูชา ธรรมบาลกุมารตอบได้ ท้าวกบิลพรหมจึงตัดศีรษะตนเอง แต่ศีรษะท้าวกบิลพรหมนั้น ถ้าจะตั้งไว้บนแผ่นดินก็เป็นไฟไหม้ทั่วโลกธาตุ ถ้าจะทิ้งขึ้นบนอากาศฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง เหตุนี้นางสงกรานต์ทั้ง ๗ ซึ่งเป็นธิดา จึงเอาพานมารับเศียรของท้าวกบิลพรหม ไปประดิษฐานไว้ในมณฑป ณ ถ้ำคันธธุลีเขาไกรลาส เมื่อถึงวันสงกรานต์ ธิดามหาพรหมที่เป็นเวนเชิญเศียรท้าวกบิลพรหม จะนำเศียรนี้ออกจากถ้ำแห่พร้อมด้วยเทวดานางฟ้าแสนโกฏิ ประทักษิณเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วก็กลับเทวโลก (ดูเรื่องในประชุมจารึกวัดพระเชตุพน เล่ม ๑ พระราชนิพนธ์พระราชพิธี ๑๒ เดือน และเรื่องสงกรานต์ของเสฐียรโกเศศ). ส.ก.

…………..

หมายเหตุ: อักษรย่อ “ส.ก.” ข้างท้ายหมายถึง “เสฐียรโกเศศ” เป็นนามปากกาของพระยาอนุมานราชธน

ดูเพิ่มเติม: “ชื่อนางสงกรานต์” บาลีวันละคำ (1,060) 13-4-58

…………..

ขยายความ :

“ปัญหา ๓ ข้อ” ที่ท้าวกบิลพรหมถาม และธรรมบาลกุมารตอบได้ มีดังนี้ –

ข้อที่ 1 เวลาเช้าราศีคือสิริมงคลในตัวมนุษย์สถิตอยู่ที่ไหน

ตอบว่า สถิตอยู่ที่หน้า มนุษย์จึงต้องล้างหน้าเมื่อตื่นนอน

ข้อที่ 2 เวลาเที่ยงราศีสถิตอยู่ที่ไหน

ตอบว่า สถิตอยู่ที่อก มนุษย์จึงต้องเอาน้ำลูบอก

ข้อที่ 3 เวลาค่ำราศีสถิตอยู่ที่ไหน

ตอบว่า สถิตอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงต้องล้างเท้าก่อนจะเข้านอน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทุกเวลาที่ทำความดี คือราศีของชีวิต

: ทุกเวลาที่ทำความผิด คือยาพิษของชีวี

————-

(ตามคำขอของพระคุณท่าน Nattawut Sriboonpeng)

#บาลีวันละคำ (2,129)

11-4-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *