บาลีวันละคำ

วาทยกร (บาลีวันละคำ 2,128)

วาทยกร

ไม่ใช่ “วาทยากร”

อ่านว่า วา-ทะ-ยะ-กอน ก็ได้ วาด-ทะ-ยะ-กอน ก็ได้

(ตามพจนานุกรมฯ)

ประกอบด้วยคำว่า วาทย + กร

(๑) “วาทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วาทย-, วาทย์ : (คำนาม) เครื่องประโคม, เครื่องบรรเลง, เครื่องเป่า. (ส.).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “วาทย” เป็นรูปคำสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “วาทฺย, พาทฺย” บอกไว้ดังนี้ –

วาทฺย, พาทฺย : (คำนาม) เครื่องดนตรีทั่วไป; any musical instrument.”

วาทฺย” อาจอธิบายให้เป็นรูปคำบาลีก็ได้ คือบาลีเป็น “วาทฺย” (วาด-เทียะ) รากศัพท์มาจาก วทฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ), ทีฆะ อะ ที่ -(ทฺ) เป็น อาด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (วทฺ > วาทฺ)

: วทฺ + ณฺย = วทณฺย > วทฺย > วาทฺย แปลตามศัพท์ว่า “การประโคม” “อันเขาประโคม

แต่ความหมายนี้ บาลีนิยมใช้ในรูป “วาทน” (วา-ทะ-นะ) รากศัพท์มาจาก วทฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ทีฆะ อะ ที่ -(ทฺ) เป็น อา (วทฺ > วาทฺ)

: วทฺ + ยุ > อน = วทน > วาทน แปลตามศัพท์ว่า “การประโคม” “เครื่องประโคม” หมายถึง การเล่นดนตรี, ดนตรี (playing on a musical instrument, music), ดนตรีเครื่องประโคม (instrumental music)

(๒) “กร

บาลีอ่านว่า กะ-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย

: กรฺ + = กร แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “การทำ” หมายถึง ผลิต, ก่อ, ประกอบ, กระทำ (producing, causing, forming, making, doing)

(2) “ผู้ทำ” หมายถึง ผู้กระทำ (the maker)

(3)“อวัยวะเป็นเครื่องทำงาน” หมายถึง มือ (the hand)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “กร” ไว้ว่า –

(1) กร ๑ : (คำนาม) ผู้ทํา, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น กรรมกร เกษตรกร. (ป.).

(2) กร ๒ : (คำนาม) มือ (มักใช้ในบทประพันธ์); แขน เช่น เจ้างามกรอ่อนดังงวงเอราวัณ. (กลบท); (ราชา) มือ, แขน, ปลายแขน, ใช้ว่า พระกร หรือ กร. (ป., ส.).

(3) กร ๓ : (คำนาม) แสง, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น รัชนีกร นิศากร. (ป.).

ในที่นี้ “กร” มีความหมายตามข้อ (1)

วาทย + กร = วาทยกร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำการประโคม” คือ “ผู้ทำให้มีการประโคม” หรือ “ผู้ทำให้การประโคมดำเนินไป

เป็นที่เข้าใจกันว่า “วาทยกร” ภาษาอังกฤษคือ conductor

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล conductor เป็นบาลีดังนี้ –

(1) netu เนตุ (เน-ตุ) = ผู้นำ, ตัวนำ, สื่อ

(2) pāpaka ปาปก (ปา-ปะ-กะ) = “ผู้ทำให้บรรลุ” > ผู้อำนวยการ

(3) pālaka ปาลก (ปา-ละ-กะ) = ผู้กำกับดูแล

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วาทยกร : (คำนาม) ผู้กำกับและควบคุมการบรรเลงหรือการขับร้องของวงดุริยางค์ วงดนตรี วงนักร้องประสานเสียง ให้มีเอกภาพ รวมทั้งตีความบทเพลงให้สมบูรณ์ โดยปรกติใช้มือ สายตา และสีหน้าท่าทางเป็นสื่อในการให้สัญญาณ, ผู้อำนวยเพลง ก็เรียก.”

โปรดระวัง :

วาทยกร” มักมีผู้พูดและเขียนเป็น “วาทยากร

วาทยกร” ไม่ใช่ “วาทยากร

วาทยากร” ผิด

วาทยกร” ถูก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บ้านเมืองก็เหมือนวงดนตรี

: ได้ผู้นำมือดี ก็เพลิดเพลินเจริญใจ

: ได้ผู้นำอัปรีย์ ยิ่งบรรเลงก็ยิ่งบรรลัย

#บาลีวันละคำ (2,128)

10-4-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *