บาลีวันละคำ

ธำรงวินัย (บาลีวันละคำ 1,994)

ธำรงวินัย

แล้ววินัยธำรงอะไร

อ่านว่า ทำ-รง-วิ-ไน

ประกอบด้วยคำว่า ธำรง + วินัย

(๑) “ธำรง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธำรง” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –

ธำรง : (คำกริยา) ทรงไว้, ชูไว้.”

พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “ธำรง” เป็นภาษาอะไรหรือมาจากคำอะไร

ผู้เขียนบาลีวันละคำสันนิษฐานในใจว่า “ธำรง” น่าจะแผลงมาจาก “ทรง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายบางส่วนของ “ทรง” (อ่านว่า ซง) ไว้ดังนี้ –

ทรง : (คำนาม) รูปร่าง เช่น ทรงกระบอก ทรงปั้นหยา ทรงกระสอบ ทรงกระทาย (ลักษณะชามหรือถ้วยมีรูปคล้ายกระทาย), แบบ เช่น ทรงผม. (คำกริยา) ตั้งอยู่ได้ เช่น ทรงตัว; จํา เช่น ทรงพระไตรปิฎก; รองรับ เช่น ธรรมย่อมทรงผู้ประพฤติธรรมไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว; มี เช่น ทรงคุณวุฒิ; คงอยู่ เช่น ไข้ยังทรงอยู่ นํ้าทรง; ในราชาศัพท์มีความหมายว่า ขี่ หรือ ถือ เป็นต้น ตามเนื้อความของคําที่ตามหลัง เช่น ทรงม้า ว่า ขี่ม้า ทรงช้าง ว่า ขี่ช้าง ทรงศร ว่า ถือศร ทรงศีล ว่า รับศีล ทรงธรรม ว่า ฟังเทศน์ ทรงบาตร ว่า ตักบาตร ทรงราชย์ ว่า ครองราชสมบัติ; ……”

จะเห็นได้ว่า “ทรง” กับ “ธำรง” มีความหมายไปในทางเดียวกัน

อักขรวิธีของคนโบราณไม่ลงรอยเป็นแบบเดียวกันเหมือนการสะกดคำในพจนานุกรมในปัจจุบัน เช่นคำว่า “ขออภัย” คนโบราณอาจเขียนเป็น ขออะไพ ขออาภัย ฃออำภัย ผู้อ่านจะต้องเข้าใจเอาเองว่าผู้เขียนมีเจตนาจะหมายถึงคำอะไร ในเอกสารเก่าคือสมุดข่อย ใบลาน จะพบการสะกดคำแปลกๆ เช่นนี้เสมอ

ดังนั้น “ทรง” จึงอาจเขียนเป็น “ธรง” ก็ได้

เมื่อสันนิษฐานดังนี้ จึงลองเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็พบว่า พจนานุกรมฯ มีคำว่า “ธรง” จริงๆ (บอกคำอ่านว่า ทฺรง คือไม่อ่านว่า ซง เหมือน “ทรง”) และบอกไว้ดังนี้ –

ธรง : (คำโบราณ; คำที่เลิกใช้แล้ว) (คำกริยา) ทรง. (สามดวง).”

คำว่า “สามดวง” ในวงเล็บ หมายถึงคำว่า “ธรง” ตามความหมายนี้มีใช้ในหนังสือกฎหมายตราสามดวง

แม้พจนานุกรมฯ จะไม่ได้บอกว่า “ธำรง” แผลงมาจาก “ธรง” หรือ “ธรง” แผลงไปเป็น “ธำรง” แต่ก็ลงความเห็นได้ว่า “ธำรง” แผลงมาจาก “ธรง” แน่นอน และคำว่า “ธรง” นี้โบราณอาจจะอ่านว่า ทะ-รง ก็เป็นได้ จึงแผลงสระ อะ ที่พยางค์หน้าเป็น “อำ” ได้

ตัวอย่างคำเทียบ เช่น –

กระจาย > กำจาย

ชนะ > ชำนะ

อมฤต > อำมฤต

ดังนั้น : ธรง > ธำรง

เป็นอันสืบสาวได้ความว่า –

ธรง” กับ “ทรง” เป็นคำเดียวกัน

ทรง” โบราณเขียนเป็น “ธรง

และ “ธรง” นั่นเองแผลงเป็น “ธำรง

(๒) “วินัย

บาลีเป็น “วินย” (วิ-นะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก วิ ( = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นี (ธาตุ = นำไป) + ปัจจัย แผลง อี (ที่ นี) เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย

: วิ + นี = วินี > (อี เป็น เอ =) วิเน > (เอ เป็น อย =) วินย + = วินย แปลตามศัพท์ว่า “อุบายเป็นเครื่องนำไป” หรือ “การนำไปอย่างวิเศษ” ความหมายที่เข้าใจกันคือ กฎ, ระเบียบแบบแผน, ข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติ

วินย” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง คือ :

(1) การขับออก, การเลิก, การทำลาย, การกำจัดออก (driving out, abolishing, destruction, removal)

(2) กฎ, วิธีพูดหรือตัดสิน, ความหมาย, วาทวิทยา (วิชาการใช้ถ้อยคำ) (rule, way of saying or judging, sense, terminology)

(3) วินัย, จรรยา, ศีลธรรม, ความประพฤติที่ดี (norm of conduct, ethics, morality, good behavior)

(4) ประมวลจรรรยา, วินัยสงฆ์, กฎ, จรรยาบรรณหรือพระวินัย (code of ethics, monastic discipline, rule, rules of morality or of canon law)

วินย” ภาษาไทยใช้ว่า “วินัย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วินย-, วินัย : (คำนาม) ระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติ, เช่น วินัยทหาร ทหารต้องยึดมั่นในวินัย; สิกขาบทของพระสงฆ์. (ป., ส.).”

ธำรง + วินัย = ธำรงวินัย

ธำรงวินัย” เป็นคำที่มีผู้ใช้พูดกันในเมื่อต้องการจะบอกว่า ในองค์กรของทหาร “วินัย” สำคัญที่สุด วินัยเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ให้คงอยู่ และในการรักษาวินัยนั้น หากจะต้องสูญเสียสิ่งใดๆ ไป-แม้กระทั่งชีวิต-แต่เพื่อให้วินัยดำรงอยู่อย่างศักดิ์สิทธิ์ ก็ต้องยอมเสีย

มีเกร็ดประวัติศาสตร์เล่าว่า คราวหนึ่ง โกษาปานทูตปากเอกสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้รับพระบรมราชโองการให้เป็นแม่ทัพยกไปปราบศึก บรรดาทหารต่างไม่เชื่อฝีมือในตัวแม่ทัพ เนื่องจากโกษาปานเป็นขุนนางฝ่ายพลเรือน ไม่เคยเป็นทหารออกรบ

เมื่อถึงตำบลที่ต้องตั้งค่าย โกษาปานก็สั่งให้ทหารตัดไม้ไผ่มาปักเป็นเสาค่าย แต่ให้ปักเอาปลายลงดิน

ทหารคนหนึ่งนึกดูถูกแม่ทัพเพราะไม่มีตำราที่ไหนให้ปักเสาค่ายเช่นนั้น เห็นว่าแม่ทัพสั่งโดยไม่มีความรู้ในกระบวนตั้งค่าย จึงเอาปักเอาโคนไม้ไผ่ลงดิน

เมื่อตั้งค่ายแล้ว โกษาปานก็ตรวจค่าย เห็นเสาค่ายตอนหนึ่งปักเอาโคนไม้ไผ่ลงดิน จึงเรียกตัวทหารที่รับผิดชอบตอนนั้นมาสอบสวน ทหารคนนั้นก็ให้การว่า ตนเห็นว่าปักเสาค่ายเอาปลายลงดินนั้นผิดวิธีตั้งค่ายจึงได้ปักเอาโคนลงดิน

โกษาปานบอกว่า ปักเสาค่ายเอาปลายลงดินนั้นผิดวิธีตั้งค่ายก็พอรู้อยู่ แต่การที่เจ้าปักเอาโคนลงดินนั้นเป็นการขัดคำสั่ง ผิดวินัยทัพ ว่าแล้วก็สั่งให้ประหารชีวิตทหารคนนั้น

ตั้งแต่วันนั้น ทหารในกองทัพก็เกรงกลัวโกษาปานอยู่ทั่วกัน

การใช้วินัยจึงต้องมีวิธีการที่ดี และมีเป้าหมายที่ดีที่ถูกต้องด้วย ซึ่งทั้งหมดนั้นท่านเรียกว่า “วินัยที่ศึกษาดีแล้ว

…………..

วินโย จ สุสิกฺขิโต

เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ดูก่อนภราดา!

: วินัยที่ศึกษาดี จึงจะเป็นมงคล

: วินัยที่พิการพิกล ย่อมเป็นกาลกิณี

#บาลีวันละคำ (1,994)

27-11-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย