บาลีวันละคำ

สามัคคีเภท (บาลีวันละคำ 2,133)

สามัคคีเภท

ยังไม่มีในพจนานุกรม

แต่มีในหมู่ประชาชน

อ่านว่า สา-มัก-คี-เพด

ประกอบด้วยคำว่า สามัคคี + เภท

(๑) “สามัคคี

บาลีเป็น “สามคฺคี” (สา-มัก-คี) รากศัพท์มาจาก –

(1) สม + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + อี ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (คมฺ > ), ซ้อน คฺ, ทีฆะต้นศัพท์ คือ อะ ที่ -(ม) เป็น อา (สม > สาม)

คำว่า “สม” (สะ-มะ) ในบาลีเป็นคุณศัพท์ (ถ้าเป็นนาม เป็นปุงลิงค์) ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เรียบ, ได้ระดับ (even, level)

(2) เหมือนกัน, เสมอกัน, อย่างเดียวกัน (like, equal, the same)

(3) เที่ยงธรรม, ซื่อตรง, มีจิตไม่วอกแวก, ยุติธรรม (impartial, upright, of even mind, just)

: สม + คฺ + คมฺ = สมคฺคมฺ > สมคฺค + อี = สมคฺคี > สามคฺคี แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นผู้ดำเนินไปเพื่อความยุติธรรม

(2) สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + อคฺค (ยอด, ศูนย์รวม, เป้าหมายสูงสุด) + อี ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น (สํ > สม), ทีฆะ อะ ที่ -(ม) เป็น อา (สม > สาม)

: สํ > สม + อคฺค = สมคฺค + อี = สมคฺคี > สามคฺคี แปลตามศัพท์ว่า “มีเป้าหมายสูงสุดร่วมกัน

สามคฺคี” (อิตถีลิงค์) หมายถึง ความสามัคคี, ความพร้อมเพรียง (completeness, a quorum); การประชุม, การสมาคมกัน (meeting, communion); ความพร้อมกันเป็นเอกฉันท์, ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (unanimity, concord)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สามัคคี : (คำนาม) ความพร้อมเพรียงกัน, ความปรองดองกัน. (คำวิเศษณ์) ที่พร้อมเพรียงกันทำ, ที่ร่วมมือร่วมใจกันทำ, เช่น กฐินสามัคคี ผ้าป่าสามัคคี. (ป.; ส. สามคฺรี).”

(๒) “เภท

บาลีอ่านว่า เพ-ทะ รากศัพท์มาจาก ภิทฺ (ธาตุ = แตก, ทำลาย) + ปัจจัย, แปลง อิ ที่ ภิ-(ทฺ) เป็น เอ (ภิ > เภ)

: ภิทฺ + = ภิท > เภท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การแตก” “การทำให้แตก

เภท” ใช้ในความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) การทำให้แตก, การพราก, การแยกออก, ความไม่สามัคคี, ความแตกร้าว (breaking, rending, breach, disunion, dissension)

(2) ประเภท, ชนิด (sort, kind), (คำคุณศัพท์) ประกอบด้วย, เหมือน (consisting of, like)

ในที่นี้ “เภท” มีความหมายตามข้อ (1)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เภท : (คำนาม) การแบ่ง, การแตกแยก, การทำลาย, มักใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส, เช่น สามัคคีเภท สังฆเภท; ส่วน, ภาค; ความแตกต่าง, ความแปลก; ชนิด, อย่าง. (คำกริยา) แตก, หัก, ทําลาย, พัง. (ป., ส.).”

สามัคคี + เภท = สามัคคีเภท แปลว่า “การแตกแห่งสามัคคี” คือการแตกสามัคคี, การทำให้แตกสามัคคี, การบ่อนทำลายความสามัคคี

คำว่า “สามัคคีเภท” เขียนตามรูปคำบาลีเป็น “สามคฺคิเภท” (สา-มัก-คิ-เพ-ทะ) ยังไม่พบรูปศัพท์เช่นนี้ในคัมภีร์ แต่มีศัพท์ที่เกิดจากการสร้างคำแบบเดียวกัน คือ สงฺฆ + เภท = สงฺฆเภท (สัง-คะ-เพ-ทะ) แปลว่า “การทำลายสงฆ์” ภาษาไทยใช้เป็น “สังฆเภท” (สัง-คะ-เพด) หมายถึง การที่ภิกษุทําให้สงฆ์แตกหมู่แตกคณะออกไป (disunion in the Sangha)

ในภาษาไทย คำว่า “สามัคคีเภท” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แต่ในบทนิยามคำว่า “เภท” พจนานุกรมฯ ได้ยกคำว่า “สามัคคีเภท” เป็นตัวอย่างไว้ (ดูข้างต้น)

อย่างไรก็ตาม คำว่า “สามัคคีเภท” ก็ต้องถือว่าเป็นคำที่รู้จักกันดีในหมู่คนไทย ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากกวีนิพนธ์เรื่อง “สามัคคีเภท คำฉันท์” ของ นายชิต บุรทัต ก็เป็นได้

…………..

ดูก่อนภราดา!

พึงจำไว้เถิดว่า อันว่าประเทศชาติบ้านเมืองนั้น :

: เมื่อสามัคคีมี ก็วิไลสันติรส

: เมื่อสามัคคีหมด ก็วินาศสันตะโร

#บาลีวันละคำ (2,133)

15-4-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *