บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ช่วยกันตรวจปรู๊ฟให้กันและกัน

ช่วยกันตรวจปรู๊ฟให้กันและกัน

———————–

ผมกำลังตรวจ “บาลีวันละคำ” ที่เขียนมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ เวลานี้เขียนมาได้กว่า ๓,๕๐๐ คำแล้ว ที่ต้องตรวจก็เพราะจะเอาไปแปรรูปจากไฟล์ให้เป็นแผ่นกระดาษเพื่อการบางอย่าง

ระหว่างที่ตรวจนี่เองก็ได้พบคำผิดตรงนั้นตรงนี้ระทางมาเรื่อยๆ เจอคำผิดตรงไหนผมก็ตามไปแก้ที่ต้นฉบับและที่โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กทุกแห่งไป 

แล้วก็นึกถึงคำว่า “ผิด” กับคำว่า “พลาด” 

ข้อความที่เราเขียนให้คนอื่นอ่านต้องระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาด ซึ่งผมแยกความหมายเอาเองดังจะอธิบายด้วยตัวอย่างต่อไปนี้

“ผิด” เช่น คำที่หมายถึงอาหารที่จะเอาไปกินระหว่างเดินทางไกล หรืออาหารที่เก็บไว้สำหรับบริโภค ผมสะกดคำนี้ว่า “สะเบียง” 

“สะเบียง” – นี่คือคำผิด แต่ผมสะกดอย่างนี้เพราะเข้าใจว่าถูก คนส่วนมากที่มาอ่านและไม่พิถีพิถันเรื่องภาษาก็จะเข้าใจว่าสะกดอย่างนี้ถูกแล้ว แต่ที่จริงนี่คือ “ผิด”

“พลาด” เช่น ผมเขียนว่า “โรงรียน” 

ใครมาอ่านเข้าก็รู้ทันทีว่าคำนี้คือ “โรงเรียน” แต่ตกสระ เอ ผมผู้เขียนก็ตั้งใจเขียน “โรงเรียน” นั่นแหละ แต่พลั้งเผลอตกสระ เอ ไป 

อย่างนี้ควรเรียกว่า “พลาด” ไม่ใช่ “ผิด” 

“ผิด” เช่น “สะเบียง” – มีโทษมาก เพราะตัวผู้เขียนเองก็เข้าใจผิดคิดว่าสะกดอย่างนี้ถูก คนที่มาอ่านก็พลอยเข้าใจผิดคิดว่าถูกไปด้วย เวลาเขียนคำนี้เองก็จะสะกดตามนี้เพราะเชื่อว่าถูก เท่ากับช่วยกันเผยแพร่คำผิดให้กระจายออกไปอีก นี่คือมีโทษมาก

“พลาด” เช่น “โรงรียน” – มีโทษน้อย เพราะทั้งผู้เขียนทั้งผู้อ่านไม่มีใครเข้าใจผิดไปว่า “โรงรียน” สะกดอย่างนี้ถูก ทุกคนต่างก็รู้เข้าใจว่าคำที่ถูกต้องคือ “โรงเรียน” เวลาจะเขียนคำนี้เองทุกคนก็จะสะกดเป็น “โรงเรียน” ไม่มีใครเข้าใจไปว่าต้องสะกดเป็น “โรงรียน” ตามที่เห็น 

แบบนี้ โทษก็มีแค่เป็นความบกพร่องของคนเขียนคนเดียว คนอ่านคนอื่นไม่ได้พลอยเอาไปทำตามให้เกิดความบกพร่องอะไรด้วย นี่คือมีโทษน้อย

แต่ทั้ง “ผิด” ทั้ง “พลาด” ไม่ควรจะให้มีเกิดขึ้น

ถ้ามีเกิดขึ้น ก็ต้องแก้ไข 

และผมเห็นว่า เราควรทำสิ่งที่ผมตั้งเป็นชื่อโพสต์นี้ว่า-ช่วยกันตรวจปรู๊ฟให้กันและกัน

เวลานี้ผมอ่านโพสต์ของญาติมิตรและของคนทั่วไปที่โพสต์เป็นสาธารณะ พบเห็นคำที่ “ผิด” และ “พลาด” อยู่บ่อยๆ ถึงบ่อยมาก

ขอเรียนให้ทราบความในใจว่า-เห็นแล้วไม่สบายใจ

ที่ “พลาด” นั้น เข้าใจได้ ทุกคนพลาดกันได้ ผมเองก็พลาดออกบ่อยไป

แต่ที่ “ผิด” นั้น เข้าใจได้ยากอย่างยิ่งว่า คนเขียนเป็นอะไรไป

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอันเป็นมาตรฐานการสะกดคำในภาษาไทยก็มี และทุกวันนี้สามารถเข้าถึงได้แสนง่าย ทำไมจึงไม่หมั่นเปิดตรวจสอบ

ส่วนมากยึดความเข้าใจส่วนตัวว่า คำนี้สะกดอย่างนี้ถูก สะกดอย่างนี้ใช้ได้ แล้วก็ “จิ้ม” ลงไปตามสะดวกมือสะดวกใจ ไม่รับรู้ว่าถูกผิดเป็นอย่างไร 

การสะกดได้ตามใจชอบนี้ เวลานี้มีคนออกมารับรองแล้วว่า-ทำไปเลย ไม่ต้องกลัว ภาษาเป็นสิ่งสมมุติ เขียนอย่างไรก็ได้ สะกดอย่างไรก็ได้ คนอ่านเข้าใจตรงกับที่เราต้องการสื่อ-เท่านี้พอ 

ไม่ต้องมาจู้จี้จุกจิก —

………………………………..

ใช้ ศ ศาลาไม่ได้ ต้องใช้ ส เสือ 

มีสระ อะ กลางคำไม่ได้ ผิด 

ฯลฯ 

สุคติ สุขคติ สุขะติ สุคะติ ใช้ได้ทุกคำ 

คนอ่านเข้าใจว่าเราหมายถึงอะไร เท่านี้พอแล้ว 

ฯลฯ

เอาเวลาไปพิถีพิถันเรื่องอื่นมีประโยชน์กว่า

………………………………..

ถ้าถือตามนี้ พจนานุกรมฉบับไหนๆ ก็ไม่ต้องมี โละทิ้งลงถังขยะได้เลย

ภาษาไทยของเราก็จะถอยหลังไป ๕๐๐ ปี คือไปอยู่ในสมัยที่คนไทยเขียนว่า ขออะไพ ขออไพ ขออะพัย ขออาภัย ขออาไพ ขออำภัย ฯลฯ

และทุกคนเข้าใจตรงกันว่า คำนั้นคือคำที่เราเขียนกันในวันนี้ว่า “ขออภัย”

ถ้าเป็นอย่างนี้ ภาษาไทยก็จะเป็นอย่างที่เราพูดกันสนุกๆ ว่า “ดูไม่จืด”

………………….

ภัยคุกคามอีกอย่างหนึ่งของภาษาไทยก็คือ ค่านิยมทับศัพท์คำอังกฤษ

เวลานี้คำอังกฤษคำไหนโผล่เข้ามา เรานิยมพูดทับศัพท์ทันที แทบไม่มีการแปลเป็นไทย

แนวคิด “ทับศัพท์ไม่ต้องบัญญัติศัพท์” นี้ มีผู้เสนอมานานแล้ว – ทับศัพท์ไปเลย จะต้องบัญญัติศัพท์ให้ยุ่งยากทำไม

แปลว่า ใช้คำฝรั่งไปเลย จะต้องแปลเป็นไทยให้ยุ่งยากทำไม 

แนวคิดนี้ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตามทีเถิด แต่ทุกวันนี้เราทำกันทั่วไปหมดแล้ว

ดูอาการแล้ว ผมขอทำนายว่า อีก ๓๐๐ ปี ประเทศไทยจะประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาของทางราชการ หมายความว่า บรรดาข้อความ เรื่องราวใดๆ ที่สื่อสารกันในราชการไทยจะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด

ถึงเวลานั้น ภาษาไทยจะมีฐานะเป็นเพียง “ภาษาของคนพื้นเมือง” เท่านั้น

อย่าพูดนะครับว่า ถึงตอนนั้นฉันก็ไม่อยู่แล้ว เพราะถ้ายังมีกิเลสก็ยังต้องเกิดอีก และถ้าเกิดในแผ่นดินไทยก็ต้องเจอแน่ๆ

………………….

แต่ในระหว่างที่เรายังมีภาษาไทยเป็นสมบัติวัฒนธรรมของชาติ ขอให้เราช่วยกันทำภาษาไทยของเราให้งอกงาม ด้วยการ “ใช้คำให้ถูกเรื่อง สะกดคำให้ถูกหลัก” โดยทั่วกันนะครับ 

และวิธีหนึ่งที่ช่วยกันได้ก็คือ ช่วยกันตรวจปรู๊ฟให้กันและกัน

เริ่มด้วยเปิดโอกาสให้ทุกคนตักเตือนกันและกัน-ที่ภาษาพระท่านเรียกว่า “ปวารณา” 

………………………………..

ผมขอปวารณาต่อท่านทั้งปวงบรรดาที่จะได้อ่านเรื่องที่ผมโพสต์ ไม่ว่าจะเป็นบาลีวันละคำที่โพสต์ทุกวัน หรือบทความที่โพสต์ตามโอกาส ถ้าท่านได้เห็น “คำผิด” ก็ตาม “คำพลาด” ก็ตาม ในข้อเขียนของผม ขอได้โปรดอาศัยความเมตตากรุณาทักท้วงเตือนติงได้อย่างเต็มที่ เมื่อผมเห็นข้อบกพร่องนั้นๆ แล้วจะได้แก้ไขให้ถูกต้องต่อไป

………………………………..

ภาษาไทยที่เราใช้สื่อสาร อุปมาเหมือนผลิตภัณฑ์ที่เสนอให้สังคมรับไปอุปโภคบริโภค

การช่วยกันตรวจปรู๊ฟให้กันและกัน อุปมาเหมือนช่วยกันทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นมีคุณภาพที่สมบูรณ์ 

สังคมจะได้ใช้สอยผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสมบูรณ์เต็มตามมาตรฐาน

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ มกราคม ๒๕๖๕

๑๘:๓๕

……………………………………………

ช่วยกันตรวจปรู๊ฟให้กันและกัน

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *