บงกช (บาลีวันละคำ 2403)
บงกช
เกิดในเปือกตม
ไม่ใช่ “–เปลือกตม”
“บงกช” อ่านว่า บง-กด บาลีเป็น “ปงฺกช” (ปัง-กะ-ชะ) รากศัพท์มาจาก ปงฺก + ช
(๑) “ปงฺก” อ่านว่า ปัง-กะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ปจฺ (ธาตุ = แผ่ไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลงนิคหิตที่ต้นธาตุแล้วแปลงนิคหิตเป็น งฺ แปลง จฺ เป็น ก (ปจฺ > ปํจฺ > ปงฺจ > ปงฺก)
: ปจฺ + ณ = ปจฺณ > ปจ > ปํจ > ปงฺจ > ปงฺก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่แผ่ออกไป”
(2) กมฺปฺ (ธาตุ = ไหว, กระเพื่อม) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง กมฺป เป็น ปํ แล้วแปลงนิคหิตเป็น งฺ (กมฺป > ปํ > ปงฺ) + ก สกรรถ (กะ-สะ-กัด)
: กมฺปฺ + ณ = กมฺปณ > กมฺป > ปํ > ปงฺ + ก = ปงฺก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่กระเพื่อม”
“ปงฺก” (ปุงลิงค์) หมายถึง โคลน, ตม, ปลัก; สิ่งสกปรก, ความไม่บริสุทธิ์ (mud, mire; defilement, impurity)
บาลี “ปงฺก” สันสกฤตก็เป็น “ปงฺก”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“ปงฺก : (คำนาม) ‘ปังก์, บังก์, บงก์,’ โคลน, ตม, เลน, ดิน; บาป, อกุศล; mud, mire, clay; sin.”
“ปงฺก” ในภาษาไทยใช้เป็น “บงก” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บงก-, บงก์ (คำแบบ = คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำนาม) เปือกตม, โคลน, โดยมากใช้ประกอบหน้าคําอื่น เช่น บงกช ว่า ของที่เกิดในเปือกตม คือ บัว. (ป., ส. ปงฺก).”
(๒) “ปงฺกช” (ปัง-กะ-ชะ) คือ ปงฺก + ช รากศัพท์มาจาก ปงฺก + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ น ที่สุดธาตุและ กฺวิ
: ปงฺก + ชนฺ = ปงฺกชนฺ + กฺวิ = ปงฺกชนกฺวิ > ปงฺกชน > ปงฺกช แปลตามศัพท์ว่า “พืชที่เกิดในตม” หมายถึง บัว, ดอกบัว (a lotus)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ปงฺกช” บอกไว้ดังนี้ –
“ปงฺกช : (คำนาม) ‘บงกช,’ บัว; a lotus; – (คำวิเศษณ์) อันเกิดจากตมหรือเลน; mud-born, produced from mud or mire.”
“ปงฺกช” ภาษาไทยใช้ว่า “บงกช” (บง-กด) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บงกช : (คำนาม) บัว. (ป., ส. ปงฺกช).”
ข้อสังเกต :
๑ เมื่อพูดถึงคำว่า “ตม” มักจะมีผู้พูดและเขียนว่า “เปลือกตม” โปรดทราบว่าคำนี้สะกดเป็น “เปือกตม”
เปือก– ไม่ใช่ เปลือก–
๒ คำว่า “-ชา” หรือ “-ช” ที่ปรากฏท้ายคำในชื่อคนไทยตามสมัยนิยม และบอกกันว่าแปลว่า “เกิด” นั้น คนสวนมากคงไม่ทราบว่ามีรากศัพท์มาอย่างไร แต่เห็นว่าไพเราะดี ก็เอามาตั้งเป็นส่วนประกอบในชื่อ คราวนี้ก็ได้รู้แล้วว่า “-ชา” หรือ “-ช” รากศัพท์มาจาก ชนฺ ธาตุ (ชะ-นะ- ทาด) สำนวนนักเรียนบาลีแปลว่า “เป็นไปในอรรถว่า เกิด”
๓ “บงกช” รูปและเสียงไพเราะ ความหมายในห้วงนึกของคนทั้งหลายก็ดี คือหมายถึงดอกบัว แต่ใครจะนึกบ้างว่า คำที่ไพเราะในความเข้าใจของเรานี้แปลตามศัพท์ว่า “พืชที่เกิดในตม” คือพืชที่เกิดจากสิ่งสกปรก
หลักธรรมในพระพุทธศาสนาอ้างอิงถึงดอกบัว สอนว่า ดอกบัวแม้จะเกิดในที่สกปรก แต่ก็มีกลิ่นหอม ไม่พลอยแปดเปื้อนไปกับสิ่งสกปรกนั้นด้วย ชาติกำเนิดจึงไม่ใช่ตัวชี้วัดถึงความดีความเลวของคน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ชาติกำเนิดช่วยได้แค่เปิดโอกาส
: แต่โง่หรือฉลาด ตัวใครตัวมัน
#บาลีวันละคำ (2,403)
10-1-62