สักขีพยาน (บาลีวันละคำ 2402)
สักขีพยาน
สักขี แปลว่า พยาน
อ่านว่า สัก-ขี-พะ-ยาน
ประกอบด้วยคำว่า สักขี + พยาน
(๑) “สักขี”
บาลีเป็น “สกฺขิ” (เป็น “สกฺขี” ก็มี) อ่านว่า สัก-ขิ รากศัพท์มาจาก ส + อกฺขิ
(ก) “ส” (สะ) ในคำนี้อาจมีที่มาได้ 3 ทาง คือ –
(1) ตัดมาจากคำว่า “สก” (สะ-กะ) แปลว่า ของตน, ของตัวเอง (own)
(2) ตัดมาจากคำว่า “สห” (สะ-หะ) เป็นคำบุรพบทและอุปสรรค แปลว่า พร้อม, กับ, พร้อมด้วย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สห” ว่า conjunction with, together, accompanied by (ต่อเนื่อง, ด้วยกัน, ติดตามด้วย)
(3) ตัดมาจากคำว่า “สํ” (สัง) คำอุปสรรค นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลอุปสรรคตัวนี้ว่า “สํ = พร้อม, กับ, ดี”
“สํ” มีความหมายว่า พร้อมกับ, พร้อมด้วย (together) และ พร้อมกัน, ด้วยกัน (conjunction & completeness)
(ข) “อกฺขิ” (อัก-ขิ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อสฺ (ธาตุ = แผ่ไป) + ขิ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่ (อ)-สฺ เป็น กฺ (อสฺ > อกฺ)
: อสฺ + ขิ = อสฺขิ > อกฺขิ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่แผ่ไปคือเป็นเหมือนเอิบอาบไปในอารมณ์ทั้งหลาย”
(2) อกฺข (ธาตุ = เห็น) + อิ ปัจจัย
: อกฺข + อิ = อกฺขิ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องเห็น”
“อกฺขิ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง นัยน์ตา (the eye)
ส + อกฺขิ = สกฺขิ (+ อี ปัจจัย = สกฺขี) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้มีตาเป็นของตัวเอง” (2) “ผู้เห็นด้วยตาของตัวเอง” (3) “ผู้เห็นพร้อมกับเหตุที่เกิดขึ้น” (มีเหตุเกิดขึ้น และเห็นเหตุที่กำลังเกิดขึ้นนั้น)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำนี้ในความตอนหนึ่งว่า with his own eyes, as an eyewitness (ด้วยตาของเขาเอง, เป็นสักขีพยาน)
“สกฺขิ (สกฺขี)” จึงหมายถึง พยาน (an eyewitness)
บาลี “สกฺขิ (สกฺขี)” ภาษาไทยใช้เป็น “สักขี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สักขี ๑ : (คำนาม) พยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตาตนเอง, มักใช้เข้าคู่กับคํา พยาน เป็น สักขีพยาน. (ป.; ส. สากฺษี).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “สักขี” สันสกฤตเป็น “สากฺษี”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สากฺษินฺ” (คำเดียวกับ “สากฺษี”) บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สากฺษินฺ : (คำนาม) การเห็น; การรู้เห็นเปนพยาน; พยานรู้เห็น, ‘ประจักษพยาน’ ก็ใช้ตามมติไท; หลักถาน, คำพยาน; พยาน; seeing, witnessing; attesting; an eye-witness; testimony, evidence; witness.”
(๒) “พยาน”
เป็นคำไทย (อย่างน้อยพจนานุกรมฯ ก็ไม่ได้บอกไว้ว่า คำที่เขียนว่า “พยาน” มาจากภาษาอะไร)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พยาน : (คำนาม) หลักฐานเครื่องพิสูจน์ข้อเท็จจริง, ผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงที่ใช้เป็นหลักฐานเครื่องพิสูจน์ได้. (อ. witness).”
คำว่า “พยาน” พจนานุกรมฯ วงเล็บคำอังกฤษไว้ว่า witness
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล witness เป็นบาลีว่า –
(1) sakkhika สกฺขิก (สัก-ขิ-กะ) = ผู้เห็นด้วยตาตัวเอง
(2) sakkhī สกฺขี (สัก-ขี) = ผู้เห็นด้วยตาตัวเอง
(3) apadisa อปทิส (อะ-ปะ-ทิ-สะ) = การอ้างอิง, หลักฐาน, พยาน
จะเห็นได้ว่า “สักขี” ก็คือ พยาน และ “พยาน” ก็คือ สักขี
สักขี + พยาน = สักขีพยาน จึงเป็นคำซ้ำความ เช่นเดียวกับคำว่า ถนนหนทางมารควิถี เสื่อสาดอาสนะ เป็นต้น ซึ่งจะพบเห็นได้ทั่วไปในภาษาไทย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สักขีพยาน : (คำนาม) พยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตาตนเอง.”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เห็นกับตา ก็ยังเป็นเพียงความน่าจะเป็น
: เพราะสิ่งที่ตาเห็นอาจไม่ได้เป็นอย่างที่ใจคิด
#บาลีวันละคำ (2,402)
9-1-62